++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัดโสธร : หนึ่งในบรรดาวัดรวยที่ก่อปัญหา

โดย สามารถ มังสัง 9 พฤศจิกายน 2552 14:40 น.
“ดูก่อนกิมพิละ! เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในกันและกัน นี้แล! เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว” นี่คือพุทธพจน์ที่ได้ตรัสแก่พระกิมพิละ ผู้ซึ่งได้ทูลถามพระองค์ว่า อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นานหลังจากที่พระองค์ปรินิพพาน แล้ว

โดยนัยแห่งคำสอนข้อนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงฝากศาสนาของพระองค์ไว้กับพุทธบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ให้เป็นผู้สืบทอดศาสนาด้วยการยึดมั่นในพระธรรมวินัย เคารพในพระรัตนตรัย ใฝ่ศึกษา และเคารพยำเกรงในกันและกัน

วันนี้ และเวลานี้กาลเวลาได้ล่วงไป 2,552 ปี นับจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ปรากฏว่าพระพุทธศาสนาได้ผ่านอุปสรรคนานัปการ และอยู่มาได้ก็ด้วยพุทธบริษัทสี่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เป็นส่วนใหญ่

แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ไม่ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย และไม่ยำเกรงแก่กัน จะเห็นได้จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อใดเกิดปัญหาเช่นนี้ การทำสังคายนาคำสอนก็เกิดขึ้น โดยที่ฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายสงฆ์ร่วมกันจึงทำให้พระพุทธศาสนายืนยงมาได้จนถึง ทุกวันนี้

แต่ถึงกระนั้น พุทธศาสนาก็เสื่อมโทรมลงในประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด อันได้แก่ อินเดีย และเนปาลจนแทบพูดได้ว่าทุกวันนี้พุทธศาสนาในประเทศที่ว่านี้เหลือเพียงแผ่น ดินอันเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดศาสนาเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติตามคำสอนเหลืออยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโดยรวม

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง และสามารถทำให้พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์มั่นคงอยู่ได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้านำเอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะส่วนของพระวินัยที่ภิกษุสงฆ์พึงถือปฏิบัติมาศึกษา และเปรียบเทียบกับการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เป็นอยู่ในประเทศไทยใน ปัจจุบันก็รู้สึกน่าเป็นห่วง เพราะมีพระภิกษุสามเณรอยู่ไม่น้อยที่ปฏิบัติย่อหย่อน และแทบจะพูดได้ว่ามีศีลด่างพร้อยเพิ่มขึ้นทุกวัน จะเห็นได้จากการที่ภิกษุสามเณรไปเที่ยวเดินในสถานที่อโคจรหาซื้อสินค้าที่ ไม่ควรแก่สมณรูป ทั้งยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะแก่เพศและภาวะของนักบวชด้วย

การเดินขบวนเรียกร้องมิให้มีการเบิกจ่ายเงิน และมิให้มีการแต่งตั้งพระนอกวัดมาเป็นเจ้าอาวาสของพระภิกษุสามเณรแห่งวัด โสธรวรารามวรวิหาร ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จัดได้ว่าอยู่ในข่ายของความไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณรูป เพราะมีพฤติกรรมเฉกเช่นคฤหัสถ์ที่เดินขบวนเรียกร้องทางการเมือง

จริงอยู่ ในแง่ของเนื้อหาที่ทำการเรียกร้องก็พอมีสาระที่จะพูดได้ว่า สมควรแก่การนำมาเสนอต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งในส่วนของการให้งดเบิกจ่ายเงินบริจาคในขณะที่เจ้าอาวาสยังไม่ได้รับการ แต่งตั้ง แต่รูปแบบของการเรียกร้องควรจะทำเป็นหนังสือลงนามโดยกรรมการวัดไปถึงธนาคาร ที่รับฝากเงินวัดอยู่

ส่วนการเรียกร้องมิให้ตั้งใครต่อใครมาเป็นเจ้าอาวาสนั้น ถ้าจะทำให้สมเหตุสมผลและควรแก่พฤติกรรมที่ผู้ดำรงเพศสมณะ ก็ควรที่จะทำเป็นหนังสือไปยังมหาเถรสมาคมโดยตรง และสำเนาให้เจ้าคณะจังหวัดทราบจะเหมาะกว่าที่ไปร้องเรียนนายกฯ ซึ่งเป็นฝ่ายบ้านเมือง มิได้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปกครองสงฆ์โดยตรง จะเกี่ยวข้องก็เพียงเอื้ออำนวยให้ฝ่ายสงฆ์ทำงานได้สะดวกเท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การออกเดินขบวนเรียกร้องของพระและเณรแห่งวัดโสธรฯ ที่ผ่านมาจึงควรได้รับการพิจารณาจากมหาเถรสมาคมว่าถูกต้อง และเหมาะสมหรือไม่ ถ้าได้คำตอบว่าไม่ก็ควรที่มหาเถรสมาคมจะได้กำหนดเป็นมาตรการป้องกันมิให้ พฤติกรรมในทำนองนี้เกิดขึ้นอีก ทั้งที่วัดโสธรฯ และวัดอื่นๆ ที่เกิดเหตุขัดแย้งกันขึ้น

ทำไมวัดที่มีผลประโยชน์มักจะมีความขัดแย้งระหว่างพระในวัด หรือระหว่างพระกับกรรมการวัด และจะมีวิธีการแก้ไข ป้องกันอย่างไร?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูความเป็นมาของวัดที่มีคนเลื่อมใส ศรัทธา และมีเงินทำบุญเข้าวัดมากๆ ในแต่ละปี ก็จะพบว่าเกือบทุกวัดจะมีความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งจะจบลงและหมดไปถ้ามีการวางระบบจัดเก็บ และควบคุมให้รัดกุม รอบคอบ โปร่งใส และเปิดเผยตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีการวางมาตรการควบคุมก็จะเกิดความขัดแย้ง และหวาดระแวงในหมู่พระสงฆ์กับพระสงฆ์ หรือพระสงฆ์กับคฤหัสถ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บผลประโยชน์

วัดโสธรฯ เท่าที่ทราบเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ ก็เกิดข้อขัดแย้งในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสที่พระในวัดเองไม่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ได้นำพระจากวัดอื่นมารักษาการ และรักษาการยาวนานถึง 5 ปีเต็ม จึงทำให้เกิดข้อกังขาในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

1. วัดโสธรฯ เป็นพระอารามหลวง และมีคนนับถือศรัทธาต่อหลวงพ่อโสธรเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รายได้ทั้งจากการขายดอกไม้ ธูปเทียน รวมไปถึงวัตถุมงคล และแถมยังมีรายได้จากตู้บริจาคภายในวัด รวมกันแล้ววันหนึ่งนับแสนบาท และในวันหยุดอาจถึง 5 แสนบาท จึงถือได้ว่ามากและควรอย่างยิ่งที่จะได้จัดการในรูปของมูลนิธิวัดโสธรฯ และนำเงินที่ได้ไปดำเนินการทำนุบำรุงพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นว่า โบราณวัตถุ โบราณสถาน และให้ทุนการศึกษา เป็นต้น และแถลงผลงานให้ประชาชนทราบทุกๆ ปี แต่ไม่ทราบว่าวัดแห่งนี้ได้จัดการในทำนองนี้หรือไม่

2. ในการทำธุรกิจต่อเนื่องจากการทำบุญในลักษณะขายศรัทธา เช่น จัดละครลำแก้บน เป็นต้น ไม่ทราบว่าได้มีการประมูลกันอย่างถูกต้อง และโปร่งใสแค่ไหน

3. ในการจัดซื้อ จัดสร้าง ทำสินค้า หรือก่อสร้างอาคารภายในวัด ได้มีคณะกรรมการควบคุมอย่างรัดกุม และโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน

ถ้าวัดแห่งนี้ไม่มีการแก้ไขและป้องกันให้รัดกุม เชื่อได้ว่าจะเป็นวัดรวยที่ก่อปัญหาวัดหนึ่งที่ยากจะแก้ไขให้จบลงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น