โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ 22 พฤศจิกายน 2552 14:20 น.
แนวคิดเกี่ยวกับศูนย์บริการร่วมแบบ One Stop Service ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลานับ 30 ปีแล้ว และพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 จะเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการเปิดให้บริการของศูนย์ OSOS
ปัจจุบันมีการกล่าวกันว่ากฎระเบียบของทางราชการเป็นความชั่วช้าที่จำ เป็น กล่าวคือ หากไม่มีกฎระเบียบแล้ว สังคมจะเกิดปัญหาในรูปแบบต่างๆ แต่กฎระเบียบได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น แม้กฎระเบียบได้กำหนดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในเชิงบวก แต่ปัญหาได้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการออกกฎระเบียบมากเกินไป ทำให้การอนุญาตอนุมัติของทางราชการเป็นไปอย่างล่าช้า
หากกฎระเบียบยิ่งยุ่งยากเท่าไร นับเป็นตัวการสำคัญที่บ่มเพาะการคอร์รัปชัน โดยภาคธุรกิจยิ่งมีแนวโน้มจ้างที่ปรึกษาหรือหน้าม้าไปติดต่อหน่วยราชการมาก ขึ้นเท่านั้น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันมีกฎระเบียบจำนวนมากที่มีคุณภาพต่ำ การดำเนินการบังคับใช้เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะยิ่งส่งผลกระทบทางลบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ประชาชนภายในประเทศต้องซื้อของแพง ขณะเดียวกันกรณีเป็นกิจการผลิตเพื่อส่งออก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกลดลง
ปัจจุบันเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าประชาชนและภาคธุรกิจต้องการบริการ ที่สะดวกสบายและเบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว รวมถึงเปิดให้บริการยาวนานในแต่ละวัน เป็นต้นว่า เมื่อต้องจับจ่ายซื้อสินค้า ต้องการไปที่ศูนย์การค้าใดศูนย์การค้าหนึ่งแต่เพียงแห่งเดียว สามารถซื้อสินค้าและรับบริการต่างๆ ที่ต้องการได้ทั้งหมด ไม่ต้องขับรถตระเวนไปหลายสถานที่
จากแนวโน้มข้างต้น ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เป็นต้นว่า โรงภาพยนตร์ ธนาคาร ไปรษณีย์ ร้านอาหาร ร้านขายทอง ศูนย์ประชุม โรงแรม โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนดนตรี สวนสนุก โบว์ลิ่ง ฯลฯ ซึ่งเดิมตั้งกิจการแยกต่างหากในลักษณะ Stand Alone ก็ปรับเปลี่ยนย้ายมาตั้งกิจการในศูนย์การค้า ทำให้ศูนย์การค้ากลายเป็น One Stop Service ของภาคเอกชนอย่างไม่เป็นทางการ
หากบริษัทใดที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ ก็ต้องเตรียมใจว่าจะต้องม้วนเสื่อหรือล้มละลาย ตัวอย่างเช่น โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่จำนวนมากที่ตั้งแบบ Stand Alone ต้องม้วนเสื่อเลิกกิจการไปตามระเบียบ
สำหรับบริการของทางราชการก็เช่นกัน ภาคเอกชนต้องการบริการที่สะดวกสบายและเบ็ดเสร็จโดยติดต่อจากเพียงแห่งเดียว แต่สถานการณ์กลับตรงกันข้าม การดำเนินการแต่ละเรื่องต้องไปติดต่อกับหน่วยราชการหลายแห่ง แต่ละแห่งอยู่ห่างไกลกันมาก แต่ก็ไม่มีทางเลือกที่จะไปซื้อบริการจากผู้ให้บริการซึ่งมีประสิทธิภาพในการ ให้บริการที่สูงกว่า ดังนั้น จำเป็นต้องทนรับบริการที่มีคุณภาพต่ำกันต่อไป
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาด้านบริการของราชการนั้นมีหลายแนวทาง ตั้งแต่ปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการเพื่อให้สามารถอนุมัติ อนุญาตหรือให้บริการ สามารถดำเนินการโดยหน่วยราชการเพียงแห่งเดียว แต่การดำเนินการปรับโครงสร้างนับเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายและกฎระเบียบมากมาย ขณะเดียวกันหน่วยราชการแต่ละแห่งต่างหวงอำนาจของตนเอง
อีกแนวทางหนึ่ง คือ การปลดผู้บริหารของหน่วยราชการที่มีประสิทธิภาพต่ำให้ไปประกอบอาชีพอื่น แล้วแต่งตั้งให้บุคคลอื่นที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่ามาทำงานแทน แม้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายในภาคเอกชน แต่ก็นับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอย่างมากเช่นเดียวกันสำหรับกรณีเป็นหน่วย ราชการ
สำหรับแนวทางที่มักเลือกใช้ คือ การปรับปรุงคุณภาพในภาครัฐให้อำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งได้มีการจำแนกบริการออกเป็นหลายระดับ ดังนี้
ระดับแรก First Stop เป็นเพียงบริการให้ข้อมูลข่าวสาร ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นบริการครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จแบบ One Stop แต่อย่างใด เป็นเพียงบริการแบบ First Stop เท่านั้น กล่าวคือ ผู้รับบริการจาก First Stop ต้องไปติดต่อหน่วยราชการ ณ สถานที่อื่นในลักษณะ Second Stop ติดตามมา
ระดับที่สอง Convenience Store เปรียบเสมือนกับร้านสะดวกซื้อ สามารถเลือกรับบริการจากหน่วยราชการใดหน่วยราชการหนึ่ง หรือหลายแห่ง ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง อย่างสะดวกสบาย ได้รับอนุมัติโดยทันที แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบริการในลักษณะง่ายๆ เช่น การต่อทะเบียนรถยนต์ การจดทะเบียนบริษัท ฯลฯ โดยบริการที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน ต้องติดต่อหลายหน่วยราชการเหมือนเดิม
ระดับที่สาม ศูนย์บริการร่วม (One Stop Service Center) บางครั้งเรียกในชื่อว่า One Roof One Stop Shop กล่าวคือ ยังคงเน้นติดต่อรับบริการในลักษณะแบบเผชิญหน้ากัน (Face to Face) แต่จะอำนวยความสะดวกโดยผู้รับบริการเพียงไปติดต่อยังสถานที่เพียงแห่งเดียว เท่านั้น สามารถติดต่อกับหน่วยราชการต่างๆ ได้ทุกด้าน เนื่องจากหน่วยราชการต่างๆ ส่งบุคลากรมาประจำที่ศูนย์บริการร่วม
ระดับที่สี่ เป็นการให้บริการแบบครบวงจรผ่าน One Stop Government Portal ในระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เน้นการติดต่อรับบริการแบบเผชิญหน้า Face to Face แต่อย่างใด จึงช่วยลดปัญหาความล่าช้าและคอร์รัปชันไปได้มาก โดยหน่วยราชการต่างๆ ไม่มีสถานที่ทำงานในเชิงกายภาพตั้งอยู่รวมกันแต่อย่างใด ยังแยกการทำงานออกไปหลายแห่งเหมือนเดิม แต่ผู้รับบริการจะติดต่อผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพียงเว็บไซต์ใด เว็บไซต์หนึ่งเท่านั้น
ตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีของสิงคโปร์ เดิมผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ต้องกรอกแบบฟอร์มมากถึง 21 แบบฟอร์ม เพื่อส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ มากถึง 23 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมศุลกากรของสิงคโปร์ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) และหน่วยงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสิงคโปร์ (Infocomm Development Authority of Singapore - IDA) ได้ร่วมมือกันจัดตั้งระบบใหม่ขึ้น คือ Single Electronic Window for Integrated Workflow หรือ TradeXchange® ครอบคลุมทั้งในด้านศุลกากร หน่วยงานขนส่งทางทะเล ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และหน่วยราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังจากใช้ TradeXchange® ผู้รับบริการส่งออกนำเข้าสินค้าของสิงคโปร์ กรอกเพียงแบบฟอร์มเดียวเท่านั้น สามารถรับบริการจากหน่วยราชการได้ทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัท IBM ได้คำนวณว่าระบบ TradeXchange® ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท/ปี
แนวคิดเกี่ยวกับศูนย์บริการร่วมแบบ One Stop Service ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด โดยในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการลงทุนขึ้น โดยบีโอไอได้รับมอบอำนาจให้ออกใบอนุญาตโรงงาน รวมถึงรับบริการติดต่อกับหน่วยราชการต่างๆ เช่น สำนักงานอาหารและยา กรมป่าไม้ การขออนุญาตตั้งโรงงาน ฯลฯ โดยกำหนดเวลาให้บริการอนุมัติอนุญาตภายใน 90 วัน มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ประกอบกับหน่วยราชการต่างๆ ได้ปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น จึงได้ยกเลิกบริการของศูนย์บริการเพื่อการลงทุน
ต่อมามีการร้องเรียนอย่างมากจากนักลงทุนต่างประเทศว่าไม่สะดวกในการ ติดต่อขอวีซ่ากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและใบอนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงาน เนื่องจากอยู่ต่างสถานที่กัน มีขั้นตอน กระบวนการขออนุญาต และการอนุมัติที่ใช้เวลานาน นับเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งต่อการลงทุนและการทำงานของชาวต่างชาติใน ประเทศไทย
เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จึงก่อตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานขึ้นตามระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2540 เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2540 เป็นต้นมา โดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการจัดหางาน ได้จัดให้มีข้าราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตให้อยู่ต่อในราช อาณาจักรและการออกใบอนุญาตทำงานแก่คนต่างด้าวเข้ามาปฏิบัติงานเพื่อให้ บริการแบบเบ็ดเสร็จแบบ One Stop Services ณ สถานที่แห่งเดียวกัน โดยใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง
ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 131/2552 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ประสานการบริการนักลงทุน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรองประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นเลขานุการ เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้ง ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (One Start One Stop Investment Center – OSOS) โดยนักลงทุนสามารถติดต่อขอใช้บริการจากหน่วยราชการต่างๆ ได้ ณ จุดเดียว
การ ดำเนินการข้างต้นสามารถเดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเตรียมการเพียง 6 เดือนเศษ ก็สามารถแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการ โดยบีโอไอกำหนดจะจัดพิธีเปิดศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุนขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ณ ชั้นที่ 18 อาคารจัตุรัสจามจุรี บริเวณสี่แยกสามย่าน ทั้งนี้ นับเป็นการเพิ่มคุณภาพบริการราชการแบบเบ็ดเสร็จครั้งสำคัญของไทย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานมากกว่า 20 แห่ง จาก 10 กระทรวง ที่จะมาเปิดให้บริการ ณ จุดเดียว
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น