โดย ไสว บุญมา 19 พฤศจิกายน 2552 15:20 น.
โดย...ไสว บุญมา
หลักวิทยาศาสตร์บอกว่าการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการค้นหาสาเหตุ พุทธศาสนิกชนเข้าใจเรื่องนี้ดีเพราะอริยสัจสี่ คือ หลักวิทยาศาสตร์ที่องค์ศาสดาสอนมานมนาน แต่ตอนนี้บางทีผู้ที่พยายามแก้ปัญหาก็ดูจะลืมหลักข้อนี้ไปยังผลให้การแก้ ปัญหาไม่ค่อยได้ผล จริงอยู่เรารู้ว่าคนคือต้นตอของปัญหาเป็นส่วนใหญ่ แต่เรามักไม่ขุดให้ลึกลงไปจนถึงก้นบึ้ง
ลองคิดดูว่าถ้าโลกนี้มีคนเพียงหยิบมือเดียวและยังเที่ยวเร่ร่อนเช่น ในสมัยดึกดำบรรพ์ การแย่งชิงสิ่งต่างๆ กันรวมทั้งพื้นดินที่จะปลูกสร้างที่อยู่อาศัยก็จะไม่มี แต่ตอนนี้โลกมีคนถึง 6.4 พันล้านคนยังผลให้ในบางพื้นที่จำเป็นต้องขี่คอกันอยู่ กล่าวคือ ต้องสร้างที่อยู่อาศัยต่อกันขึ้นไปหลายสิบชั้น วิธีแย่งชิงที่อยู่กันอาจเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่หมู่คนนั้นสร้างขึ้น หรืออาจไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ก็ได้ กฎหมายและศีลธรรมจรรยาถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกทำตามกฎเกณฑ์ของหมู่ เหล่าและอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ทะเลาะกัน
ประเด็นสำคัญ คือ เราไม่ได้แย่งชิงกันแต่เพียงที่อยู่อย่างเดียว หากแย่งชิงกันเกือบทุกอย่างแม้กระทั่งคู่สืบพันธุ์ เฉกเช่นพื้นที่บนผิวโลก ทรัพยากรทุกอย่างก็มีจำกัดยังผลให้การแย่งชิงกันเพิ่มความเข้มข้นเมื่อจำนวน คนเพิ่มขึ้น ร้ายยิ่งกว่านั้น คนส่วนใหญ่มักไม่รู้จักพอ นั่นคือ เมื่อมีอย่างนี้ ก็อยากจะมีอย่างนั้นทั้งที่มันไม่มีความจำเป็นอะไร ประเทศที่ร่ำรวยแล้วก็ยังพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปเพราะประชาชน ส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ
ส่วนประเทศที่ไม่ร่ำรวยก็พยายามทำตามเขาทุกอย่างทั้งที่ในบางกรณีไม่ มีความจำเป็น เช่น คนไทยพยายามแสวงหานาฬิการาคาหลายแสนบาทมาใช้คนละหลายเรือนทั้งที่การมี นาฬิการาคาห้าพันบาทเพียงเรือนเดียวก็บอกเวลาได้ไม่ต่างกับการมีเรือนที่ ราคาห้าแสนหรือห้าล้านบาท แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแสวงหานาฬิการาคาแพงเป็นแรงเดียวกันกับการแสวงหา ของราคาสูงอื่นๆ เช่น รถยนต์และกระเป๋าถือ แรงกระตุ้นเช่นนี้มีชื่อเรียกว่าความขี้โอ่
การแย่งชิงทรัพยากรกันนำไปสู่การใช้กลวิธีต่างๆ จากสงครามระหว่างประเทศลงมาถึงการแย่งที่ตั้งของขายตามริมถนน ตอนนี้เมืองไทยมีคนกว่า 63 ล้านคนและส่วนใหญ่ตะเกียกตะกายที่จะใช้ทรัพยากรหรือบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างไม่ หยุดยั้งทั้งที่การใช้ทรัพยากรหลายอย่างจะไม่มีความจำเป็นเช่นเดียวกับ นาฬิกาที่ราคาแพงๆ การใช้ทรัพยากรเช่นนั้นนำไปสู่การแข่งขันและแย่งชิงกันอย่างเข้มข้นรวมทั้ง วิธีที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมจรรยาด้วย การทำผิดกฎหมายและศีลธรรมจรรยามักสืบทอดต่อกันมาจากปู่ย่าตาทวด เราทราบจากการวิจัยแล้วว่าถ้าพ่อแม่ติดบุหรี่ โอกาสที่ลูกจะติดบุหรี่มีอยู่สูงกว่าเด็กทั่วไปที่พ่อแม่ไม่ติดบุหรี่
การทำผิดกฎหมายและศีลธรรมจรรยาก็เช่นเดียวกัน ถ้าพ่อแม่เป็นคนฉ้อฉล โอกาสที่ลูกจะเป็นโจรมีอยู่สูงมาก เรื่องนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์จากลูกนักการเมืองที่กำลังหลบหนีคดีอาญาเพราะ สั่งฆ่าคนและฉ้อฉลเรื่องการซื้อขายที่ดินกับรัฐ ไปจนถึงลูกอดีตนายตำรวจปากตลาดที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนพวกนี้เห็นการฉ้อโกงเป็นของธรรมดาเพราะปู่ย่าตาทวดสอนพวกเขามาอย่างนั้น หรือไม่ก็ทำให้พวกเขาเห็นเป็นตัวอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงมักมีผู้พูดว่านักการเมืองบางคนโกงทั้งโคตร คงไม่ต้องเอ่ยชื่อของคนพวกนี้เพราะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเมืองไทยไม่จำกัดอยู่แค่คนที่มีความฉ้อฉลจนเป็นที่ประจักษ์เท่านั้น เพราะเหตุการณ์ในช่วงเดือนที่ผ่านมาชี้บ่งว่า ต้นตอของปัญหาลึกกว่านั้นมาก ประเด็นนี้เห็นได้จากพฤติกรรมนักการเมืองกลุ่มใหญ่ที่ละทิ้งงานยกโขยงกันไป กราบกรานนักโทษหนีคุกผู้มีพฤติกรรมทำลายชาติของตัวเองถึงในต่างแดน นั่นเป็นการชี้ให้เห็นว่าคนพวกนี้มีสันดานโกงเป็นต้นทุนอยู่แม้เราจะยังไม่ รู้ว่าพวกเขาโกงอย่างไรก็ตาม ร้ายยิ่งกว่านั้น ดังที่กล่าวถึงแล้วเมื่อคราวก่อน การสำรวจประชามติล่าสุดของสำนักเอแบคโพลล์ได้ผลว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่าการโกงเป็นของธรรมดาและกว่า 77% เห็นว่าการโกงของนักการเมืองนั้นรับได้ เมื่อคนไทยส่วนใหญ่เป็นเสียเช่นนี้ โอกาสที่จะจับคนโกงได้จึงแทบไม่มีเลย
ในขณะที่ประเทศมีคนมากขึ้นและแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้น คนส่วนหนึ่งใช้ความขยันขันแข็งในการทำมาหาเลี้ยงชีพในกรอบกฎเกณฑ์ของสังคม แต่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่พยายามทำเช่นนั้น หากหวังฝากชีวิตไว้กับโชคชะตาและการหยิบยื่นที่คนอื่นนำมาประเคนให้ คนพวกนี้มีความขี้เกียจฝังอยู่ในสันดานซึ่งนักการเมืองทรามๆ บางคนเข้าใจดี พวกเขาจึงขับเคลื่อนให้มีการใช้นโยบายประชานิยมอย่างเข้มข้น นโยบายอันเลวร้ายนี้ไม่เคยมีผลตามที่นักการเมืองต้องการในประเทศที่มี ประชาชนเกียจคร้านจำนวนน้อย แต่มักได้ผลในประเทศที่มีประชาชนเกียจคร้านในอัตราสูง เช่นในอาร์เจนตินาและอเมริกากลางลงไปถึงทางตอนใต้ ประวัติศาสตร์บ่งว่า นักการเมืองจะได้รับความนิยมเพียงชั่วคราว แต่ในระยะยาวสังคมจะล้มลุกคลุกคลาน
ในสภาพเช่นนี้ผู้ที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศจะทำอย่างไร? ผมเสนอว่าการแก้ปัญหาต้องออกมาจากพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ในกระบวนการเมือง ใหม่เป็นอันดับแรกโดยเฉพาะของกลุ่มผู้นำเพราะตามธรรมดาศึกภายในจะใหญ่กว่า ศึกภายนอก หากผู้นำทำศึกภายในไม่สำเร็จ โอกาสที่จะชนะศึกภายนอกมีน้อยนิด เนื่องจากโลกใบนี้มีคนมากเกินไปหลายพันล้านคนแล้ว
หากดูจากการวิจัยของปราชญ์ซึ่งอาจหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ “ธาตุ 4 พิโรธ” ผู้จะแก้ปัญหาต้องประเดิมด้วยการลดจำนวนทายาทของตนลง เมืองจีนซึ่งมีประชากรเกินพันล้านคนใช้วิธีขู่เข็นให้ลดการมีลูกมาก เนื่องจากเมืองไทยไม่ต้องการทำเช่นนั้น ชนชั้นผู้นำจึงต้องทำให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่าง จากนั้นก็ถึงการลดการบริโภคหรือการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นซึ่งหมายถึงการ ไม่มีความขี้โอ่ ประเด็นนี้มีแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักยึดได้ ผู้ที่อยู่ในกระบวนการเมืองใหม่เข้าใจและนำไปปฏิบัติกันเองหรือยังและจะนำไป ประยุกต์ใช้ในระดับประเทศหรือไม่ อย่างไร?
ปัญหาหนักหนาสาหัสของเมืองไทยในช่วงนี้มีความขี้โกงเป็นตัวขับ เคลื่อนหลัก ผู้สมัครเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ฉ้อฉลและจะขจัดคน โกงออกไปให้หมดสิ้น เราทราบดีว่าคำมั่นสัญญาชนิดนี้มีมานานแล้ว แต่พอมีอำนาจ หรือโอกาสเปิดให้ พวกผู้นำก็มักไม่วายที่จะโกงเพราะพวกเขาก็เป็นปุถุชนคนเดินดิน เมื่อต้องเผชิญกับสภาพน้ำตกลงหินนานๆ เข้าความมุ่งมั่นในการจะไม่โกงก็มักกร่อนลงไป ทางแก้ไขคงต้องให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหวที่ให้กำเนิดการเมืองใหม่ สามารถบูชายันต์ทางการเมืองผู้นำของตนเองได้หากพบว่าไม่ทำตามคำมั่นสัญญา
ยิ่งกว่านั้นผู้ที่อยู่ในกระบวนการเมืองใหม่จะต้องไม่พยายามเสริม ความเกียจคร้านของคนทั่วไปด้วยการใช้นโยบายประชานิยมพร้อมกับจะต้องไม่ยอม ชื่นชมกับสิ่งที่นโยบายแนวนั้นนำมาประเคนให้
ถึงตอนนี้ผมเอ่ยถึงขี้สามกองแล้ว คือ ขี้โอ่ ขี้โกง และขี้เกียจ ยังมีขี้อีกกองหนึ่งซึ่งสังคมไทยมีอยู่ก้อนใหญ่มาก การเมืองใหม่จะต้องตระหนักและหาทางล้างไว้ให้ดี นั่นคือ ขี้อิจฉาซึ่งรวมทั้งอัตตาและความชิงดีชิงเด่น ประเด็นนี้ไม่ค่อยมีการยอมรับทั้งที่มีการวิจัยจนได้รางวัลโนเบลแล้ว อาการของความขี้อิจฉา คือ คนไทยร่วมกันทำอะไรได้ไม่นานการแตกคอกันก็มักเกิดขึ้น สำหรับในด้านการเมือง ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองมากว่า 77 ปี เมืองไทยมีพรรคการเมืองหลายโหลถ้านำขึ้นชั่งกิโลตาชั่งก็คงหัก มีอยู่พรรคเดียวที่อยู่ได้นานหลายสิบปี
ประเด็นนี้จะต้องถามคนที่อาสาเข้ามาเป็นผู้นำกระบวนการเมืองใหม่ว่า พร้อมที่จะลดอัตตา ความอิจฉาและการแก่งแย่งชิงดีที่ตัวเองอาจมีอยู่หรือยัง? ถ้าหากผู้นำยังกำจัดขี้กองนี้ของตัวเองไม่ได้ การเมืองใหม่จะไม่มีทางอยู่ได้นานและความหวังครั้งสุดท้ายของสังคมไทยก็จะ หลุดลอยไปด้วย
ที่ เขียนมานี้เป็นการบ้านขั้นต้นที่การเมืองใหม่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาจมีผู้มองว่านี่เป็นการเอาตำรามากางสอนสังฆราช และกล่าวคำปรามาสบรรดาผู้นำด้วยความอาจเอื้อม เอาเถอะจะว่าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ถือเสียว่าเราหวังดีต่อกันเพราะความรักบ้านรักเมืองเปี่ยมหัวใจ ต่างกับพวกวายร้ายที่พร้อมจะขายชาติเมื่อตนเองขาดประโยชน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น