โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤศจิกายน 2552 16:25 น.
“ฮู” จัดอันดับโรคอ้วน ติดอันดับ 3 โรคร้ายจากพฤติกรรม รองจากเอดส์-บุหรี่ เผยคนกรุงลงพุงมากกว่า ตจว.คาด 6 ปี เด็กอ้วนพุ่ง 20% อ่วมรัฐจ่ายค่า “โรคกินเกิน” เพิ่ม แนะ 5 ข้อสกัดสารพัดอ้วน ขึ้นภาษีน้ำอัดลม คุมโฆษณาเด็กกินหวาน ขณะที่ กทม.-เครือข่ายคนไทยไร้พุง-สสส. รุกจับคนกรุงรีดพุงในงาน “มหกรรมเดิน-วิ่ง ลดพุงคนกรุงเทพ”
วันที่ 24 พฤศจิกายน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง และ สสส.แถลงข่าว “มหกรรมเดิน-วิ่ง ลดพุงคนกรุงเทพ” ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กล่าวว่า สถานการณ์โรคอ้วนของไทยเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยง ทั้งการบริโภคอาหารเกินความจำเป็น มีพฤติกรรมกินหวานเพิ่มขึ้น นำมาสู่สาเหตุการเกิดโรคอ้วน เบาหวาน ไขมัน และความดันเลือดสูง ซึ่งในอนาคตอีก 10-20 ปี รัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาอาการแทรกซ้อนจาก “โรคกินเกิน” เป็นเงินมหาศาล สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า ปัญหาสุขภาพที่เลวร้ายซึ่งเกิดจากพฤติกรรม 3 อันดับแรก คือ 1.พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศนำไปสู่การติดเชื้อเอสไอวี 2.การสูบบุหรี่ที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ และ 3.โรคอ้วนที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ
“แนว ทางการแก้ปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องทำอย่างจริงจัง คือ 1.รณรงค์ให้รู้ถึงอันตรายที่จะเกิดโรคต่างๆ จากปัญหาโรคอ้วน 2.ควบคุมการโฆษณาอาหารที่พุ่งเป้าไปที่เด็ก 3.พิมพ์คำเตือนบนฉลากอาหารที่มีไขมันสูงและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล 4.ห้ามจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและไขมันสูงในโรงเรียน 5.ใช้ระบบภาษีควบคุมเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและไขมันสูง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรมอนามัยคาดว่าอีก 6 ปีข้างหน้า ความชุกของเด็กอ้วน จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน และ 1 ใน 10 ของเด็กในวัยเรียน หรือมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 20% หากไม่จัดการกับการกินเกินความจำเป็น ข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราชปี 2550 เด็กอ้วนอายุ 6-18 ปี จำนวน 125 ราย พบว่า 1 ใน 5 ราย เริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ และ 100 ราย เป็นเบาหวาน 3 ราย ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กและวัยรุ่นทั่วไป นอกจากนี้คนอ้วนลงพุงมากกว่าปกติ นอกจากเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานแล้วยังเสี่ยงตาย จากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น ที่สำคัญคนอ้วนยังเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดและมีอาการแทรกซ้อนที่ รุนแรงได้ง่าย
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วนและเกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งคนไทยป่วยด้วยโรคอ้วนและมีเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆเพิ่มมากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคข้อเสื่อม ปวดหลังปวดเข่า ดังนั้นหลักการ 3 อ คือ ออกกำลังกาย เลือกประเภทอาหาร และควบคุมอารมณ์ จะสามารถช่วยลดโรคลงได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความรู้ ความเข้าใจ ตั้งใจจริง ทั้งนี้เครือข่ายคนไทยไร้พุง มีเป้าหมายให้สถานศึกษา ที่ทำงาน ชุมชน ทั่วประเทศ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการด้วยตนเองให้ได้อย่างน้อย 50%
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.กล่าวว่า ขณะที่กทม.มีโครงการ “กทม.ไร้พุง” โดยเน้นกลุ่มอายุ 12-60 ปี ที่เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และจะรณรงค์ต่อเนื่องทุกเดือนจนถึง เม.ย.2553 ใน 13 เขต เช่น ปทุมวัน วัฒนา ดอนเมือง บางกอกน้อย โดยลงพื้นที่ในชุมชนและโรงเรียนด้วยการออกปฏิบัติการลดพุงในพื้นที่เป้าหมาย เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านได้รับการตอบรับและมีจำนวนผู้เข้าร่วมในพื้นที่กทม.ถึง 50,000 คน
อย่างไรก็ตาม เพื่อลดภาวะอ้วนลงพุง กทม. ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง และ สสส. จัดงาน “มหกรรมลดพุง คนกรุงเทพ ครั้งที่ 1” ที่บริเวณศาลาแปดเหลี่ยม สวนลุมพินี กทม.ในวันเสาร์ที่ 28 พ.ย.2552 ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ตรวจร่างกายฟรีจากแพทย์สำนักอนามัย กทม. กิจกรรมเดินวิ่งชิงรางวัล ชมการแสดง พร้อมชิมเมนูกินถูกส่วน 2-1-1 ลดอ้วนลงพุง เรียนรู้ฉลากโภชนาการจาก อย. และตอบปัญหา 3 อ ชิงรางวัล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ติดต่อลงทะเบียนล่วงหน้า โทร. 0-2716-6744 ต่อ 25 หรือ 08-6305 4268 และ 084 051 6749
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.กล่าวว่า ในวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีของสหประชาชาติ โดยหน่วยงานต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างความตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก สตรี และครอบครัว และจะมีการจัดประชุมประจำปีเพศวิถีศึกษาในสังคมไทยครั้งที่ 2
ในระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย.2552 ทีโรงแรมรอยัลริเวอร์ เชิงสะพานกรุงธนบุรี กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการสร้างมุมมองเรื่องเพศที่ถูกต้องไม่มีทัศนคติผิดๆ ที่นำไปสู่ความรุนแรงทางเพศ โดยเป็นการระดมความคิดเพื่อสร้างสุขภาวะทางเพศที่ดี และหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น