โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 18 พฤศจิกายน 2552 08:31 น.
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
เรื่องของคนมีตังค์ อยากจะซื้ออะไรก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ใครไม่มีตังค์ก็อย่าได้เกี่ยว
แต่เรื่องที่อยากขอเกี่ยว เพราะเป็นเรื่องของคนมีตังค์กำลังเกิดกระแสนิยมอย่างมากในหมู่คนอยากมีลูก
และหาซื้อลูกมาเป็นของตนเองได้ในราคาหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาท สุดแท้แต่รสนิยม และรายละเอียดของการเลือกเครื่องแต่งตัวให้ลูกของคนมีตังค์เหล่านั้น
“ลูก” ที่ว่าน่าจะเรียกว่าของเล่นใหม่ของคนมีตังค์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “รีบอร์นเบบี้” (Reborn Baby)
ถ้าใครเคยเห็นจะรู้ว่ารีบอร์นเบบี้ คือตุ๊กตาหน้าตาเหมือนเด็กทารกชนิดที่เสมือนมีชีวิตจริง ซึ่งได้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ล่าสุดของคนเล่นตุ๊กตาที่กำลังมาแรง ไม่แพ้ตุ๊กตา Blythe ที่โด่งดังไปทั่วโลก
เจ้าของเล่นชิ้นใหม่หรือเด็กปลอมได้กลายเป็นกระแสฮิตในประเทศอังกฤษ อเมริกา อิตาลี ออสเตรเลีย ฯลฯ และล่าสุดก็เข้ามาสู่เมืองไทยแล้ว
โดยเฉพาะในเว็บไซต์เป็นที่แพร่หลายมาก ผู้คนมักเข้าไปเลือกและสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์อีเบย์ ซึ่งจะบอกว่าเจ้ารีบอร์นเบบี้ เป็นตุ๊กตาทำด้วยมือ สร้างขึ้นด้วยความประณีต มีวัสดุหลักเป็นไวนิล ใช้ขนแพะมาทำเป็นเส้นผม ขนคิ้ว ขนตา แต่งแต้มสีอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ผิวเหมือนเด็กแรกเกิด ผมของเด็กก็ต้องจัดเรียงทีละเส้น สีผิวต้องใกล้เคียงกับเด็กทารกเลยทีเดียว
แม้แต่น้ำหนักตุ๊กตาก็ใกล้เคียงกับทารกจริง ทั้งยังมีการใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเลียนเสียงจังหวะการหายใจ และการเต้นของหัวใจด้วย
เรียกว่าถ้าไม่เพ่งพินิจ หรือสังเกตดีๆ ก็แทบไม่รู้เลยว่าทารกที่เห็นนั้นไม่มีชีวิต
ว่ากันว่าต้องใช้ระยะเวลาทำประมาณ 3 ปี ถึงจะชำนาญในระดับที่สามารถทำตุ๊กตาที่เหมือนเด็กจริงๆ ได้
วิธีการเล่นก็เหมือนเด็กจริง สามารถอุ้ม สามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ แถมยังมีจุกนมอีกต่างหาก เพียงแต่ไม่สามารถสระผมและอาบน้ำได้
แต่ที่แน่ๆ และผู้บริโภคชอบเหลือเกิน ก็คือ มันไม่งอแง ไม่ร้องไห้ หรือสื่อสารใดๆ รวมถึงไม่สามารถเติบโตได้ด้วย
เวลาซื้อ ผู้ซื้อก็จะได้รับใบเกิด รายละเอีดยการดูแล และชื่อของตุ๊กตามาด้วย
การประดิษฐ์ตุ๊กตารีบอร์นเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ราวปี ค.ศ.1990 แต่เดิมตุ๊กตาประเภทนี้ตกทอดกันมาเฉพาะในหมู่นักสะสมเท่านั้น กระทั่งโรงงานเริ่มผลิตและขยายศักยภาพในการผลิตให้เหมือนเด็กทารกจริงมาก ขึ้น จากนั้นผู้ผลิตตุ๊กตาและนักสะสมจึงได้เริ่มเผยแพร่ของรักของเล่นของพวกเขา ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างชุมชนสำหรับผู้ที่หลงใหลตุ๊กตาชนิดนี้ขึ้นมา
และเมื่อตุ๊กตารีบอร์นได้ถูกขายผ่านเว็บไซต์อีเบย์ในปี 2002 ก็ได้รับกระแสตอบรับจากนักสะสมอย่างล้นหลาม จนผู้ผลิตตุ๊กตารีบอร์นได้พากันหันมาเปิดหน้าร้านแบบออนไลน์กันอย่างคึกคัก เพื่อขายสินค้าและรับเป็นเนิร์สเซอรี่เพื่อดูแลซ่อมแซมด้วย
นับ ได้ว่า ตุ๊กตารีบอร์น เป็นเทรนด์ใหม่ของนักเล่นตุ๊กตาที่มาแรงและเติบโตจากตลาดเฉพาะกลุ่มสู่ตลาด นักสะสมตุ๊กตาในทั่วโลกอย่างรวดเร็ว คือจากอเมริกา ไปอังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา ยุโรป แอฟริกา ละตินอเมริกา ฯลฯ
ถึงตอนนี้ “รีบอร์น เบบี้” แพร่หลายไปยังหลายประเทศในทวีปยุโรป เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมที่เป็นผู้หญิง มีการถ่ายรูปตุ๊กตา แล้วโพสต์ลงในเว็บไซต์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับคนที่มีรสนิยมเดียวกันและแบ่งปันกันชม
คุณแม่ลูก 2 วัย 32 ปี แห่งเมืองเฟาน์เทนฮอลล์ ในประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดานักสะสม และทำ “รีบอร์น เบบี้” เป็นงานอดิเรก กล่าวถึงเหตุผลที่สนใจตุ๊กตานี้ว่า เป็นเพราะลูกสาวของเธออยากมีน้อง แต่ตัวเธอเองไม่อยากมีลูกอีกแล้ว จึงทำตุ๊กตาให้เป็นเพื่อนเล่นของลูกสาว และจากนั้นก็ทำขายผ่านทางเว็บไซต์ด้วย
เธอเล่าว่า ผู้ที่ซื้อตุ๊กตาจากเธอส่วนใหญ่ คือ นักสะสม ที่มองว่า "รีบอร์น เบบี้" เป็นงานศิลปะ แต่ก็มีบางคนที่ซื้อตุ๊กตาไปด้วยเหตุผลอย่างอื่น ยกตัวอย่างลูกค้ารายหนึ่งที่ซื้อตุ๊กตาไปให้มารดาซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ที่เอาแต่นั่งมองรูปทารกเกือบทั้งวัน การมี “รีบอร์น เบบี้” อยู่ใกล้ๆ จึงน่าจะช่วยให้มารดาของลูกค้ารายนั้นมีความสุขขึ้นบ้าง ในขณะที่บางรายก็ซื้อไปเนื่องจากเคยสูญเสียลูกเมื่อยังเป็นเด็กวัยแบเบาะ
และเจ้าธุรกิจประเภทนี้ของเธอก็สามารถสร้างรายได้เป็นเรื่องเป็นราวให้เธอเลยทีเดียว
ปัจจุบันรีบอร์นเบบี้ได้รับการพัฒนาให้เสมือนจริงและพัฒนาอุปกรณ์มาก ขึ้นเรื่อยๆ ผู้ซื้อบางรายก็สามารถสั่งทำลูกปลอมแบบที่ตัวเองอยากได้โดยเฉพาะ
ในขณะที่เศรษฐีเมืองไทยทั้งผู้หญิงและผู้ชายสั่งซื้อเจ้ารีบอร์นเบ บี้มาเลี้ยงดูหลายคนแล้ว ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ในช่วงแรกก็เป็นการซื้อเพราะเป็นนักสะสม เพราะเกิดกระแสของเล่นใหม่ของคนรวย
แต่ก็มีบางคนซื้อมาเลี้ยงด้วยเหตุเพราะไม่สามารถมีลูกได้
บางคนซื้อมาเพราะอยากอุ้มหลาน เพราะลูกชายเตรียมตัวแต่งงาน เลยซื้อมาซ้อมเลี้ยงไว้ก่อนจะอุ้มหลานจริงๆ
บางคนซื้อมาเพื่อทดแทนความรู้สึกบางอย่างที่สูญเสียไป…
ประเด็นของคนเป็นพ่อแม่แล้วอยากมีลูกเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในยุคปัจจุบันโลกแห่งความเป็นจริงที่ผู้คนหันมานิยมของปั้นแต่ง ของปลอมหรือของที่ไม่มีชีวิตกันมากขึ้นเรื่อยๆ มันบอกอะไรกับเราด้วยหรือเปล่า…!!
ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวคราวเรื่องของเล่นเทคโนโลยีมากมาย ที่ผู้ผลิตออกสินค้าใหม่เอาใจสารพัดคนมีตังค์ ทั้งเลี้ยงสัตว์เลี้ยงผ่านเครื่องอิเลคทรอนิกส์ หรือเลี้ยงของเล่นที่ไม่มีชีวิต แต่มีความใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมาก เพราะต้องดูแลมันอย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นมันอาจตายได้
ช่วงที่ผ่านมาเราคุ้นกับการพยายามเลี้ยงสิ่งที่ไม่มีชีวิตให้เสมือน มีชีวิต ด้วยรูปแบบต่างๆ ที่มนุษย์พยายามคิดค้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่พร้อมจะวิ่งไล่ตามเทคโนโลยี และพร้อมจะเสียเงินจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการด้านลึกของจิตใจ
ดูเหมือนในโลกไร้พรมแดน ความมีชีวิตของมนุษย์จะค่อยๆ ถูกลดทอนลง เปิดพื้นที่ให้กับวัตถุเสมือนจริงเข้ามาแทนที่ง่ายขึ้น และมากขึ้น
โลกแห่งเทคโนโลยีที่ทะลักเข้ามามากมายจนไร้พรมแดนอย่างทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นเพื่อให้เทคโนโลยีมารับใช้มนุษย์ในรูปแบบตอบสนองความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และทันสมัย
คำถามก็คือว่า เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีกำลังเข้ามาทำหน้าที่ ตอบสนองมนุษย์ทางด้านความรู้สึกของผู้บริโภคแล้วหรือ มันกำลังตอบสนองทางด้านภาวะจิตใจ หรือแม้กระทั่งความรักด้วยหรือไม่
ถ้าคำตอบคือใช่… ก็น่ากังวลมิใช่น้อย
เพราะมองอีกด้านหนึ่ง เราอาจจะมีลูกปลอมได้ แต่ความรักไม่อาจจอมปลอมได้มิใช่หรือ…!!!
แทนการไปซื้อลูกปลอม มาพากันไปดูดาว นิบิรุ กันดีไหม
ตอบลบhttp://www.ainews1.com/modules.php?name=Web_Board&file=view&No=171
สมศักดิ์
http://www.ainews1.com