++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เลี้ยงลูกเดี่ยวอย่างไรเมื่อต้องหย่าร้าง

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 11 พฤศจิกายน 2552 08:14 น.
โดย...สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เพื่อให้เป็นการต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว คราว
นี้จึงเป็นเรื่องหลังจากที่คู่สามีภรรยาตัดสินใจหย่าร้างและแยกทางกัน
โดยที่ทั้งคู่ได้มีพยานรักหรือลูกด้วยกัน แล้วจากนี้ลูกจะอยู่อย่างไร
อยู่กับใคร และ...เราจะเลี้ยงลูกเดี่ยวอย่างไร
เรื่องทรัพย์สินที่ต้องมีการแบ่งแยกสินสมรส
หรือเรื่องส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตร อาจจะจัดการได้เรียบร้อย และไม่มีปัญหา
เพราะมีการจัดการที่ชัดเจน หรือมีตัวบทกฎหมายเป็นกรอบกำหนด
แต่เรื่องการเลี้ยงดูลูก
ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่างหากที่ไม่มีเทคนิคหรือสูตรสำเร็จตายตัวในการ
เลี้ยงดู เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบทางใจ
และสามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
อย่า ลืมว่า ลูกไม่ได้มีส่วนต่อการตัดสินใจแยกทางของพ่อแม่
ยิ่งถ้าลูกอยู่ในช่วงวัยเด็กเล็ก
ลูกยังขาดความเข้าใจในการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
จึงเป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย
และต้องมีส่วนต่อการรับผิดชอบร่วมกัน
ประการแรก ตกลงเรื่องลูกจะอยู่กับใครได้แล้ว
ควรตกลงว่าจะให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถมาเยี่ยมเยียนลูก
หรือสามารถรับลูกไปอยู่ด้วยได้มากน้อยแค่ไหน
พ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าทั้งพ่อและแม่ยังรักและห่วงใยลูกอยู่เสมอ
และสามารถไปมาหาสู่ หรืออยู่กับพ่อหรือแม่เมื่อไหร่ก็ได้
แม้ชีวิตส่วนใหญ่ลูกอาจต้องอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม
ถ้าจะให้ดีทั้งพ่อแม่ควรใช้คำว่า "ลูกของเรา" ไม่ใช่ลูกของฉัน หรือลูกของเธอ
ที่สำคัญพยายามรักษาคำพูด และข้อตกลงที่มีต่อกัน มิเช่นนั้น
ลูกจะเกิดความสับสน และไม่มั่นใจว่าพ่อแม่รักเขาจริงหรือเปล่า
และเขาไม่ใช่ส่วนเกินของพ่อแม่
ประการที่สอง ไม่พูดจาให้ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง
หรือพูดเรื่องไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลูกฟัง การต่อว่าอดีตคู่ชีวิตของเรา
ซึ่งก็คือ พ่อหรือแม่ของลูกเรา ไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น
บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าได้ต่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากเท่าไหร่
ลูกจะรักตัวเองมากขึ้น
นั่นคือ ความเข้าใจที่ผิด
และอาจส่งผลให้ลูกไม่อยากอยู่กับทั้งพ่อและแม่เลยก็ได้
และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก
แต่..ทำไงได้ก็คนเคยอยู่ด้วยกัน ยิ่งเป็นพ่อแม่ลูกกันด้วยแล้ว
จะไม่ให้พูดถึงกันก็ดูกระไรอยู่ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำยังไงดี
ทางที่ดีที่สุดคือ
การอธิบายให้ลูกฟังว่าพ่อแม่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ เพราะอะไร
ไม่จำเป็นต้องเล่าเหตุการณ์ให้ฟังทั้งหมด
เพราะเขาไม่ได้ต้องการฟังเรื่องราวทั้งหมด
เพียงแต่เขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงอยู่ด้วยกันไม่ได้
ถ้าเป็นลูกเล็ก ลูกยิ่งไม่เข้าใจ
ยิ่งจำเป็นต้องให้ลูกได้มีโอกาสเจอะเจออีกฝ่ายหนึ่ง
ถ้าลูกโตแล้ว สามารถรับรู้เหตุผลได้ คุณสามารถเล่าให้ลูกฟังได้
โดยดูวัยของลูกให้เหมาะด้วย
และการเล่าก็ไม่จำเป็นต้องไปต่อว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
ควรเป็นเหตุผลที่คนสองคนอยู่ด้วยกันไม่ได้เพราะไม่เข้าใจกัน
และบอกลูกเสมอว่า แต่ไม่ว่าอย่างไร
ความรักระหว่างพ่อแม่ลูกไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
และพ่อแม่ก็ยังรักลูกมากเหมือนเดิม ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน
แม้รูปแบบของความรักอาจจะปรับไปบ้าง แต่ทั้งพ่อแม่รักลูกมากเช่นเดิม
อย่าคิดว่าลูกไม่สามารถเข้าใจเหตุผลได้
เพราะเมื่อวัยที่เติบโตขึ้น เขาจะรับรู้ และยอมรับเหตุผลได้มากขึ้น
ที่สำคัญ เขายังรับรู้ได้ว่า คุณเห็นความสำคัญของเขา
และห่วงใยลูกอยู่เสมอ และไว้วางใจที่จะเล่าให้เขาฟังด้วย
จริงอยู่ว่าหลังจากเพิ่งหย่าร้างได้ไม่นาน อารมณ์ของความไม่พอใจ
หรือยังโกรธอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ อารมณ์ยังไม่ปกติ
ก็ขอเวลาลูกเพื่อให้ตัวเองได้ทำใจสักระยะนึ่ง ก่อนที่จะเล่าให้ลูกฟัง
เพื่อให้อารมณ์และสติอยู่ในภาวะที่เหมาะสม จึงเล่าให้ลูกฟัง
อย่าลืมว่าก่อนจะตัดสินใจร่วมชีวิตกับอีกฝ่ายหนึ่ง
ก็มีช่วงเวลาของความรัก ช่วงเวลาของความรู้สึกดีต่อกัน
ก็ควรจะนึกถึงและเก็บความรู้สึกเหล่านี้อยู่บ้าง
อาจเล่าเรื่องราวให้ลูกฟังด้วยก็ได้ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยว่า
บางครั้งการใช้ชีวิตคู่ก็มีปัญหาเช่นกัน และต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง
ถ้าเราใส่แต่ข้อมูลที่ไม่ดีอย่างเดียว
ลูกก็จะกลายเป็นคนไม่อยากมีชีวิตคู่ หรือกลัวการมีชีวิตคู่ไปเลยก็ได้
ประการที่สาม มอบความรักความอบอุ่นให้กับลูก
และบอกเขาว่าคุณสามารถเป็นทั้งพ่อและแม่ที่ดีได้ในคนเดียวกัน
บอกลูกว่าคุณพร้อมที่จะรับฟังเขาในทุกๆ เรื่อง
แม้บางเรื่องเขาจะเคยเล่าให้พ่อหรือแม่ฟังมากกว่า
แต่คุณต้องแสดงให้เขาเห็นว่าคุณเป็นทั้งพ่อแม่และเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับ
เขาได้
ถ้าเป็นไปได้ อาจต้องปรึกษานักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญ
หรือผู้มีประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางในการนำมาปรับประยุกต์เข้ากับการดูแลลูก
ของเรา
บางเรื่องเขาก็ต้องการความเข้าใจจากพ่อแม่มากกว่าปกติ
ก็ต้องเต็มใจรับฟัง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการแยกทางของพ่อแม่
ลูกอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือต่อต้านพ่อแม่
จึงจำเป็นอย่างมากที่พ่อแม่ต้องแสดงออกถึงความรัก และความเข้าใจลูก
ประการที่ห้า เวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับลูก ยิ่งในช่วงแรก
ลูกต้องการเวลาจากคุณมากกว่าปกติ เพราะเขากลัวสูญเสียคนที่เขารักไปอีก
ต้องมีช่วงเวลาของการปรับตัว ความใกล้ชิด
และการให้เวลาให้ลูกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
จะช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลของลูกได้เป็นอย่างดี
แต่ถ้ามีความจำเป็นไม่สามารถจัดเวลาได้ ก็ควรจะพูดให้ลูกเข้าใจ
อย่าปล่อยให้ลูกเข้าใจผิดแล้วก็คิดเอาเองว่า พ่อแม่ไม่สนใจเขา
อย่าลืมว่าทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่อยู่ที่ว่าจะจัดสรรเวลาอย่างไร
ถ้าเราลำดับความสำคัญของเรื่องนั้นๆ ได้ ก็ไม่น่าเป็นปัญหา
ประการสุดท้าย ชีวิตต้องดำเนินต่อไป แม้จะเจ็บปวดเพียงใด
แต่ก็ต้องมองไปข้างหน้า และวางเป้าหมายอนาคตของลูก
ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมเผชิญปัญหา แม้จะอยู่ลำพังก็ตาม
การจมอยู่กับปัญหาหรือเรื่องราวในอดีต มีแต่จะเป็นการทำร้ายตัวเอง
แต่ถ้าเราแปรเปลี่ยนจากวิกฤติมาเป็นการสร้างพลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปใน
อนาคต ย่อมเป็นเรื่องดีกว่ามิใช่หรือ...!!
อย่าลืมว่าเมื่อลูกเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่หย่าร้าง
แต่เขาสัมผัสได้ถึงความรักความอบอุ่น และความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
เขาจะสามารถยอมรับความเป็นจริง ขณะเดียวกัน เขาก็จะเรียนรู้
และสัมผัสได้ถึงความรักของคุณที่มีให้เขาอย่างมากมาย
แม้จะต้องเลี้ยงดูเขาตามลำพัง
และพฤติกรรมเหล่านี้ จะกลายเป็นแรงบันดาลใจ และพลังในทางบวก
ในการจะมีชีวิตคู่ที่ดี และสามารถฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตของเขาไปได้
เท่ากับว่า เขาเอาบทเรียนชีวิตของพ่อแม่
มาเป็นบทเรียนสอนใจให้กับตัวเองในการใช้ชีวิตคู่ที่ประสบความสำเร็จ
ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างได้อีกด้วย

1 ความคิดเห็น: