++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"อาสาฯวัคซีนเอดส์" บนเวทีจริยธรรมการวิจัยในคน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 พฤศจิกายน 2552 07:47 น.
บรรยากาศการเสวนา
"บางครั้งมันก็ หดหู่เหมือนกันนะ บางคนก็เรียกเราว่าหนูทดลองบ้าง
มนุษย์ทดลองบ้าง บางครั้งก็มีคนถามเราว่าไม่กลัวหรือ
นักวิจัยเขาฉีดอะไรให้ก็ไม่รู้
บางคนก็มองด้วยซ้ำว่าเราเป็นโรคร้ายถึงได้เข้าโครงการอาสาสมัครการทดลอง
วิจัยในมนุษย์ หรือบางครั้งแม้กระทั่งนักวิจัยเองก็เรียกเราว่า Subject
ซึ่งเราเข้าใจนะว่ามันเป็นภาษาแพทย์
แต่เรียกเราแบบนี้มันก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า เขามองเราเป็นคนหรือเปล่า
คืออยากให้เขามองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีจิตอาสา
อาสาเข้ามารับการวิจัย เพราะถ้าไม่มีเรา การวิจัยยามันก็เดินต่อไปไม่ได้
ใช่ไหมครับ"

ข้อความข้างต้น ออกมาจากหัวจิตหัวใจของ "คนอาสา" เจ้าของนาม "ถนัด
ยมหา" หนุ่มฉกรรจ์วัย 33 จากจังหวัดระยอง
หนึ่งในอาสาสมัครทดลองวัคซีนในการวิจัยของโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลอง
ระยะที่ 3 (RV 144)โดยทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครในพื้นที่ จ.ชลบุรีและระยอง

ถนัดเปิดเผยที่มาของแรงบันดาลใจ
ที่ทำให้เขาตัดสินใจมาเป็นอาสาสมัครวัคซีนฯ ในครั้งนี้ว่า
เกิดจากที่ภายในหมู่บ้านของเขา มีผู้ติดเชื้อ HIV เป็นจำนวนมาก
หลายคนเป็นคนรู้จัก เป็นเพื่อน และบางคนเป็นญาติ
ทำให้เขารู้สึกทุกข์ใจเมื่อคนเหล่านี้ติดเชื้อ
และที่เศร้าไปกว่านั้นคือโรคร้ายนี้ยังไม่มีทางรักษา
ซึ่งหากเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทดลองวิจัยและผลิตยาออกมาเพื่อทำ
ให้คนที่เรารู้จักและรักเหล่านี้หายจากโรคได้ เขาก็ยินดี

ถนัดอธิบายถึงขั้นตอนการไปสมัครเป็นอาสาฯ ในครั้งนี้ว่า
เริ่มจากที่ไปลงชื่อสมัคร จากนั้นก็ถูกเรียกสัมภาษณ์แบบละเอียดยิบ
มีการตรวจเลือด การซักประวัติต้องซักอย่างละเอียด ทำแบบสอบถามหลายชุด
รและการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อาสาสมัครจำเป็นต้องรู้
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จะถูกฉีดเข้าไปทำจากอะไร ฉีดแล้วผลเป็นอย่างไร
ระหว่างร่วมโครงการหากโชคร้ายติดเชื้ออาสาฯ จะได้รับการดูแลอย่างไรบ้าง


ศ.พญ.พรรณแข มไหสวริยะ
"ระหว่างนั้นอีกด้านหนึ่ง โครงการฯ
ก็จะออกไปเตรียมความพร้อมกับชุมชุนอาสาสมัครด้วย
โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจแก่แกนนำในชุมชน
ซึ่งตรงนี้สำหรับการให้ความรู้แกนนำผมมองว่าทำได้ดี
แต่การเตรียมชุมชนผมว่ายังน้อยไปหน่อย คือแกนนำบางคนเข้าใจ
แต่คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ หาว่าเราเป็นหนูทดลองบ้าง
หาว่าเราติดเชื้อบ้าง อะไรแบบนี้"

แต่สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญและมีคุณค่ามาก
นอกเหนือจากความภาคภูมิใจที่เรามีจิตอาสาก็คือความรู้ที่ได้รับจากโครงการ
นี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการป้องกันเอดส์อย่างถูกต้อง
ที่สามารถนำไปเผยแพร่ในคนในชุมชุนรู้จักวิธีการป้องกันเอดส์ที่ถูกต้องได้
อย่างทั่วถึง

ถนัดกล่าวด้วยว่า
สิ่งที่เขาคาดหวังและอยากจะเห็นว่าเกิดขึ้นในแวดวงการทดลองวิจัยในมนุษย์
นอกจากการความยุติธรรม ความปลอดภัยระหว่างการทดลอง
และการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว เขา ยังหวังว่าจะได้เห็นCAB
(Community Advisory Board) หรือคณะกรรมการที่ปรึกษาจากชุมชน
ที่เกิดจากการคัดสรรตัวแทนจากชุมชนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเข้ามาเป็น
คณะกรรมการ ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำข้อเสนอแนะ ท้วงติง กับผู้ที่ทำวิจัย
และกำกับ ติดตาม ดูแล การดำเนินการวิจัย
รวมทั้งสร้างความเข้าใจระหว่างนักวิจัยกับชุมชนด้วย

"แต่แม้ว่าหลังจากการทดลองแล้ว
ปรากฎผลออกมาว่าการวิจัยวัคซีนเอดส์ระยะ3 นี้ ลดโอกาสติดเชื้อแค่ 31.2%
มีอาสาสมัครติดเชื้อ 125 คน และเสียชีวิตระหว่างอยู่ในโครงการ 2 รายนั้น
จะเป็นผลที่ออกมาไม่สวยนัก แต่ผมก็คิดว่า ถือเป็นอีกก้าวหนึ่ง
หากไม่มีการทดลอง การพัฒนายาก็จะไม่เกิดขึ้น ก็ดีใจครับที่เป็นส่วนหนึ่ง
ที่อยากน้อยเราก็ได้ทำเพื่อผู้อื่น" ถนัดกล่าว

ถนัด ยมหา

ฟังความเห็นจากผู้ที่เป็นอาสาไปบ้างแล้ว
ทีนี้ลองกลับไปดูในมุมของนักวิจัยกันบ้าง "หมอนิต" หรือพญ.นิตยา ภานุภาค
พึ่งพาพงศ์ จากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
เปิดเผยถึงประสบการณ์การทำงานวิจัยที่ผ่านมาของตัวเองว่า
งานวิจัยมีหลายรูปแบบ
โดยส่วนตัวก็มีประสบการณ์การทำวิจัยมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์

"โดยเฉพาะเรื่อง HIV นี่สนใจเป็นพิเศษ
ก็ทำวิจัยในเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ อย่างเรื่องการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก
เราอยากช่วยผู้ป่วย อยากช่วยลดอัตราการติดเชื้อ จึงทำวิจัย
ซึ่งงานวิจัยแนวนี้เป็นงานที่สมัครใจทำเอง คืออยากรู้ อยากค้นคว้า
และอยากหาคำตอบ จึงได้เลือกที่จะทำวิจัย
ไม่ได้เป็นการทำในลักษณะที่มีบริษัทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทำให้งานวิจัยเป็นไปในรูปของการยังประโยชน์ให้ตัวอาสาสมัครเอง
เพราะเราต้องการช่วยเขา เขาเองก็ช่วยมาเป็นอาสาสมัครให้เรา
เราก็ต้องการคำตอบให้เขา"

หมอนิตกล่าวต่อไปอีกว่า และจากการวิจัยในมนุษย์เช่นนี้เอง
จะนำไปสู่การพัฒนาอีกระดับ
คือเกิดการก่อตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการทดลองวิจัยในมนุษย์ที่มีขึ้นเพื่อ
ตรวจสอบว่าการทดลองนั้นๆ ปลอดภัยไหม และเป็นธรรมต่ออาสาสมัครไหม

"โดยหลักการมันดีมาก
เพราะนักวิจัยเองก็จะได้มีคนมาตรวจสอบดูแลการทำวิจัย
ให้การทดลองวิจัยเป็นไปอย่างโปร่งใส ปลอดภัย
อยู่บนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม
ตัวอาสาฯเองก็จะได้รับความยุติธรรมและการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่างเต็มที่ เพราะจริงๆแล้วเราไม่สามารถจะทำให้อาสาฯ ติดเชื้อได้
เราต้องทำให้เขาได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด
แต่ในบางงานวิจัยถ้าอาสาไม่ติดเชื้อ เราก็ทดลองไม่ได้
แต่ตามหลักจริยธรรมก็คือ เราไม่สามารถเอาเชื้อไปฉีดเขาได้
นี่คือจริยธรรมของการวิจัย แต่เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าทุกคนคิดแบบนี้ไหม
หรือทำแบบนี้ไหม
การมีคณะกรรมการจริยธรรมการทดลองวิจัยในมนุษย์จึงสิ่งที่ดีมาก"

ด้าน "หมอไก่" ศ.พญ.พรรณแข มไหสวริยะ จากคณะแพทยศาสตร์
ศิริราชพยาบาล ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน
มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ภาพอุปสรรคของการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมฯ
ในปัจจุบัน ที่ยังรอคอยการแก้ไขและพัฒนาว่า

"คณะกรรมการแบบนี้ มีการพูดคุยมานานแล้ว
แต่เพิ่งจะมีการก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างในปี 2000 นี่เอง
จุดประสงค์ก็เพื่อดูแลและพิทักษ์สิทธิของอาสาสมัครของผู้เข้ารับการทดลองเรา
ต้องดูแลให้เขาได้รับข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ
อย่างละเอียดรอบคอบ และดูแลว่าการวิจัยนี้คุ้มค่ากับความเสี่ยงไหม
แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง คือคณะกรรมการฯ แบบนี้เราจะก่อตั้งขึ้นเอง
ส่วนใหญ่ก็จะมีในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ หรือโรงพยาบาลต่างๆ
ที่มีการวิจัยในมนุษย์ แต่เราไม่มีส่วนกลาง
ไม่มีคณะกรรมการกลางที่จะตรวจสอบเราอีกทีหนึ่ง ซึ่งหากมีก็จะดีกว่านี้
และการลงพื้นที่ไปตรวจสอบก็ค่อนข้างยาก
รวมถึงการดูแลอาสาสมัครหลังจบโครงการวิจัยนั้นๆ
ก็เป็นเรื่องที่ยากมากเช่นกัน"

หมอไก่อธิบายความยากในการดูแลอาสาสมัครหลังโครงการจบต่อไปอีกว่า
เป็นเพราะไม่รู้จะไปตามกับใคร บางครั้งพอจบโครงการ
นักวิจัยก็จะกระจัดกระจายกันไป ย้ายที่อยู่บ้าง ติดต่อไม่ได้บ้าง
ทำให้การทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมชุดนั้นๆ
มีอุปสรรคและดูแลไม่ได้เต็มที่

หมอ ไก่ทิ้งท้ายด้วยว่า ในฐานะคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
ในการทำงานแต่ละครั้ง
ก็หวังประโยชน์ให้เกิดแก่อาสาสมัครให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่จากข้อจำกัดหลายอย่างที่กล่าวไปแล้ว
จะเห็นได้ว่าการทำงานด้านตรวจสอบจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของประเทศไทย
ก็ยังรอคอยความหวังที่จะพัฒนาไปให้ไกลให้มากกว่านี้
เพื่อปกป้องสิทธิและความเป็นมนุษย์ของอาสาสมัครให้ได้มากที่สุด


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000136181

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น