++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ร้านภูฟ้า..หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์ เขียน

ในช่วงปลายปี ๒๕๕๐
เสื้อสีชมพูภาพวาดฝีพระหัตถ์ปีหนูของร้านภูฟ้าตกเป็นข่าวในสื่อต่างๆมากมาย
จากความต้องการของผู้คนจำนวนมากที่ประสงค์จะใส่เสื้อสีชมพูภูฟ้า
เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จนเกิดเหตุการณ์เข้าแถวรอซื้อเสื้อ ซึ่งเป็นข่าวในแต่ละวัน
หลายคนที่ไม่เคยรู้จักร้านภูฟ้ามาก่อน เริ่มตั้งคำถามว่า
ร้านภูฟ้าคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และกำลังทำอะไรอยู่
จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษเช่นนี้

คงต้องย้อนไปถึงประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๔
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งร้านภูฟ้าขึ้นเป็นกิจกรรมหนึ่งใน
กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)
เพื่อช่วยเหลือประชาชนในถิ่นชนบทห่างไกลและทุรกันดาร

จากการที่พระองค์ได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ไปทรงเยี่ยมประชาชนในถิ่นทุรกันดารติดแนวชายแดนมานานกว่า ๒๐ ปี
ได้ทอดพระเนตรความยากจนของชาวบ้านในท้องถิ่นที่ความเจริญเข้าไปไม่ถึง
จึงมีความสนพระทัยที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านเหล่านี้
โดยทรงเริ่มต้นพัฒนาที่เด็กและเยาวชนด้วยโครงการต่างๆ อาทิ
การเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน การควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน
การส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก การส่งเสริมคุณภาพการศึกษา
การส่งเสริมสหกรณ์ การฝึกอาชีพ
โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทรงตระหนักว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพียงกลุ่มเดียว
ไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารได้
จำเป็นต้องสนับสนุนครอบครัวของเด็กและเยาวชนเหล่านั้น
ให้ประกอบอาชีพมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว ดังนั้น ในปี
พ.ศ.๒๕๓๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จึงโปรดเกล้าให้จัดทำ โครงการส่งเสริมอาชีพ
สำหรับประชาชนในถิ่นทุรกันดารขึ้น
ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพเสริม
ผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกเหนือจากการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลัก
ได้พระราชทานความช่วยเหลือทั้งในด้านการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือ
พระราชทานเงินทุนสำหรับการดำเนินงานและจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น
ทรงให้โครงการส่งเสริมอาชีพฯ รับซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆมา
โดยพระราชทานเงินจากกองทุน กพด. และช่วยจัดจำหน่าย เช่นใน งานกาชาดทุกปี
นอกเหนือจากที่ประชาชนจัดจำหน่ายเองในท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามการขายผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านในงานกาชาดเพียงปีละ ๖ วันนั้น
ไม่เพียงพอที่จะระบายสินค้าที่โครงการฯ รับซื้อจากชาวบ้าน ทำให้โครงการฯ
ไม่สามารถพัฒนาชาวบ้านให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากเท่าที่ควร
จึงมีพระราชดำริว่า
น่าจะมีแหล่งขายสินค้าที่ถาวรเพื่อที่จะขายสินค้าได้ตลอดทั้งปี
และเป็นการดำเนินงานช่วยชาวบ้านได้อย่างครบวงจร จากการผลิตไปสู่ผู้ใช้

ดังนั้น เมื่อผู้บริหารสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์น้อมเกล้าฯ
ถวายพื้นที่ห้องบนชั้น ๒ เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัชฌาศัย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ให้เปิดร้านขายผลิตภัณฑ์จากโครงการส่งเสริมอาชีพขึ้น
พระราชทานนามร้านค้าว่า "ภูฟ้า"
เพื่อให้เป็นแหล่งที่เชื่อมโยงชาวบ้านในถิ่นชนบทห่างไกลกับประชาชนในเมืองผ่านผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น
เป็นแหล่งที่น้ำใจจากคนในเมืองจะหลั่งไหลสู่ชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารโดยไม่ต้องเดินทางไปถึงถิ่นที่ห่างไกลนั้น

นับแต่วันแรกของร้านภูฟ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารงานของร้านภูฟ้า ว่า
ให้เป็นร้านที่ดำเนินงานตามลักษณะปกติทั่วไป
สินค้ามีคุณภาพและราคาที่ยุติธรรม ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ
อย่างครบถ้วน ให้ผู้ซื้อเข้าใจที่มาและคุณลักษณะของสินค้า
มีการบริการที่ดีต่อลูกค้าเช่นเดียวกับมืออาชีพ
มีระบบบัญชีการเงินที่ถูกต้อง
สามารถตรวจสอบได้และบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

ร้านภูฟ้า นอกจากจะเป็นแหล่งขายผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านในโครงการฯ
ยังช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆของกลุ่มอาชีพเหล่านี้ให้มีคุณลักษณะและประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการของตลาด
ช่วยแนะนำชาวบ้านให้มีความรู้ความเข้าใจในการประกอบธุรกิจ
และสามารรถพัฒนาตนเอง และชุมชนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สินค้าในร้านจากโครงการส่งเสริมอาชีพฯ มีหลายประเภท ตั้งแต่สินค้าผ้า
ได้แก่ ผ้ากระเหรี่ยงทอมือ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าห่มทอมือ
ผ้าไหม เครื่องจักสานที่มาจากพืชผักในท้องถิ่น เช่น หญ้าสามเหลี่ยม เตย
กระจูด เป็นต้น อาหารแปรรูป ได้แก่ เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว ลูกตาวในน้ำเชื่อม
เกลือภูเขา และชาสมุนไพรจากธรรมชาติ ได้แก่ มะระขี้นก ใบหม่อน ตะไคร้
มะขามป้อม และเตย นอกจากนี้ยังมีแชมพูและครีมนวดผม

ผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านเหล่านี้
พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือด้านวิทยาการที่จะแนะนำความรู้
เกี่ยวกับการผลิตและช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น
แต่เนื่องจากชาวบ้านในโครงการฯ อยู่ไกลมาก การเดินทางไม่สะดวก
การปรับปรุงและพัฒนาสินค้าเป็นไปได้ยาก
สินค้าส่วนใหญ่ของร้านภูฟ้าจึงเป็นสินค้าฝีมือที่มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านแท้ๆและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซึ่งมีเสน่ห์ดึงดูดความสนใจได้อย่างดีประการหนึ่ง
ชาวบ้านทุกคนต่างผลิตสินค้าด้วยความรักในพระองค์ท่าน
สินค้าแต่ละชิ้นที่ผลิตออกมา
ก็มีเกร็ดของความจงรักภักดีในพระองค์ท่านแฝงอยู่ในนั้น
สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูป ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษา
โดยเฉพาะคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยทำการวิเคราะห์และพัฒนาเพื่อให้แน่ใจในคุณค่าและความสะอาดปลอดภัย

ครั้งหนึ่ง มีผู้ต้องการซื้อผ้ารองจานทอมือจำนวน ๔๖ ชิ้น
เพื่อนำไปใช้ในร้านเปิดใหม่ ปรากฏว่า เมื่อนำผ้าทั้งหมดในร้านมาเลือก
ก็ไม่สามารถหาผ้ารองจานที่มีสีและขนาดเหมือนกันได้ครบ
นั้นก็เป็นเพราะผ้ารองจานเหล่านี้ทอด้วยมือย้อมสีตามธรรมชาติ ดังนั้น
จึงไม่สามารถจะเหมือนกันเช่นเดียวกับที่ผลิตจากโรงงานได้
แต่ในความต่างนี้ ก็มีความคล้ายคลึงที่เข้ากันได้อย่างสวยงาม
ด้วยผ้าทุกชิ้นมีความพิเศษเฉพาะตัว เป็นความงามอีกลักษณะหนึ่ง
ข้อแนะนำที่บอกกับลูกค้าในหลายๆครั้ง คือ หากพบผลิตภัณฑ์ที่สนใจ
ขอให้รีบซื้อไว้ เนื่องจากของนั้นมักมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น
ถ้ากลับมาที่ร้านอีกที ก็หาไม่ได้แล้ว เพราะมีอยู่เพียงชิ้นนั้นชิ้นเดียว

ในร้านภูฟ้า มีมุมหนังสือพระราชนิพนธ์ มุมกาแฟ
ซึ่งเป็นกาแฟสดกลั่นจากเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้า เป็นที่ทราบกันดีว่า
กาแฟภูฟ้านั้นอร่อยและราคาถูก นอกจากนี้
ยังมีขนมและสินค้าจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา
สินค้าตามเสด็จซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้ตามเสด็จพระราชดำเนินทรงเยียมประชาชนในจังหวัดต่างๆ
ซื้อจากชาวบ้านเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ร้าน

ด้วยน้ำพระทัยเมตตาเป็นล้นพ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงมีพระราชประสงค์ให้ร้านภูฟ้าเป็นแหล่งช่วยเหลือชาวบ้านให้มากที่สุด
ด้วยการจัดสรรรายได้เหนือรายจ่ายของร้านคืนกลับไปช่วยชาวบ้าน
พระราชทานเงินทุนพัฒนาฝีมือชาวบ้าน จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น
สร้างอาคารสถานที่ และรับชาวบ้านกลุ่มใหม่ๆ เข้าโครงการ
พร้อมทั้งพระราชทานเงินกองทุนเพือใช้จ่ายหมุนเวียนผลิตสินค้า

ในยามที่พื้นที่ใดประสบเหตุร้ายหรือภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น
เมื่อเกิดสึนามิ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯได้พระราชทานความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
ด้วยการให้ส่งสินค้ามาขายที่ร้านภูฟ้า
และจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันผลิตสินค้า
พระราชทานเงินกองทุนให้ใช้จ่ายหมุนเวียนเพื่อผลิตสินค้า
เป็นการบรรเทาความทุกข์ร้อนได้ระดับหนึ่ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ทรงวางนโยบายของร้านภูฟ้าด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร
ทรงประสงค์ให้ร้านภูฟ้าเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าชาวบ้านในโครงการส่งเสริมอาชีพให้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทรงทราบดีว่าการขายสินค้าเหล่านี้จะไม่นำมาซึ่งรายได้เหนือรายจ่ายที่เพียงพอสำหรับการพัฒนา
และขยายงานตามพระราชดำริ
จึงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ให้ร้านภูฟ้าเป็นประจำทุกปี
เพื่อให้ร้านนำไปผลิตเป็นสินค้า เช่น เสื้อโปโล สมุดโน๊ต ปากกา แก้วน้ำ
เป็นต้น นี่คือต้นเหตุของการมีผลิตภัณฑ์จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ออกมาให้ประชาชนชื่นชมในทุกๆปี
โดยในปีนี้เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ "ปีหนูใหญ่ ไทยรวมพลัง"

รายได้เหนือรายจ่ายของร้านภูฟ้าในกองทุน กพด. นั้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยมบรมราชกุมารี
ได้ทรงจัดสรรพระราชทานช่วยเหลือชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร
ตลอดจนเด็กและเยาวชนในโครงการต่างๆมากมาย นับจนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๐
ได้พระราชทานไปแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๔๔ ล้านบาท
เป็นกองทุนหมุนเวียนกลุ่มอาชีพ
จัดสร้างอาคารและโรงเรียนสำหรับเป็นที่ติดต่อประสานงานของกลุ่มอาชีพ
ซื้ออุปกรณ์เช่น เครื่องสาวไหม ฯลฯ
สนับสนุนโครงการพัฒนาการศึกษาสามเณรในจังหวัดน่าน
ค่าอาหารกลางวันสำหรับสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรม และอื่นๆ

จากร้านภูฟ้าร้านแรกที่สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ซึ่งเปิดดำเนินงานเมื่อ
๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ ปัจจุบันร้านภูฟ้ามีสำนักงานอยู่ที่สุขุมวิท.ซอย ๗
และมีสาขาเพิ่มอีก ๙ สาขา ได้แก่ สาขาจตุจักร สาขาสุขุมวิทซอย ๗
สาขาถนนกำแพงเพชร สาขาพระที่นั่งวิมานเมฆ สาขาหัวหิน สาขาบองมาเช่
สาขาภูเก็ต สาขาวัชรพล และร้านภูฟ้าผสมผสาน
ซึ่งนำเสนอเรื่องทางศิลปะวัฒนธรรมในพื้นที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นับได้ว่าร้านภูฟ้าได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากประชาชนทุกกลุ่มทุกเหล่า
ทั้งนี้ คงเป็นเพราะทุกคนเข้าใจดีว่า
ร้านภูฟ้าเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
และทุกคนซาบซึ้งในน้ำพระทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่มีต่อเด็ก
เยาวชนและชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล
ที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมากมาย
การซื้อส้นค้าจากร้านภูฟ้าจึงเป็นการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนตลอดจนชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารด้วย
จึงเป็นการถูกต้องที่จะกล่าวว่าร้านภูฟ้า
เป็นสื่อกลางในการเชื่อมใจของคนกรุงกับคนในถิ่นทุรกันดาร
เพื่อร่วมกันช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นนั่นเอง

ที่มา ต่วย'ตูน ปีที่ ๓๗ เล่มที่ ๑๑ ปักษ์แรก-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น