++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดค่าเช่าอัปลักษณ์..ที่ดินรถไฟเฉลี่ยตารางวาละ 6.40 บาทต่อเดือน!

โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 3 พฤศจิกายน 2552 17:05 น.
กฎเหล็ก ข้อ 2 ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่ได้ให้นโยบายเอาไว้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2551
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากพรรคร่วมรัฐบาล

กฎข้อที่ 2 เนื้อความมีอยู่ว่า "เน้นให้คณะรัฐมนตรี
ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด"

เวลาผ่านไป 10 เดือนเศษ
โครงการของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความไม่โปร่งใสและสังคมและสื่อมวลชนจับตาอยู่
นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก็มักจะใช้วิธีการแสดงออกด้วยการต่อต้านในตอนเริ่มต้น
และมักจะจบลงท้ายด้วยการยอมให้โครงการเหล่านั้นผ่านความเห็นชอบจากคณะ
รัฐมนตรีหน้าตาเฉย ทั้งๆ
ที่บางโครงการเหล่านั้นตอนเป็นฝ่ายค้านก็คัดค้านอย่างเข้มแข็ง
ซึ่งเราสามารถจะเห็นการในทำนองนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกระทรวงคมนาคมที่มีผลประโยชน์มหาศาล
ซึ่งมีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ลูกน้องของนายเนวิน ชิดชอบ จะเห็นได้ชัดที่สุด!

กรณีการย้ายการบินไทยจากสนามบินดอนเมืองมาที่สุวรรณภูมิ
การอนุมัติงบประมาณก่อสร้างถนนปลอดฝุ่น
อนุมัติแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการการรถไฟแห่ง
ประเทศไทยอย่างหมกเม็ด
สุดท้ายสำหรับกรณีที่เหม็นเน่าที่สุดก็คือการยินยอมอนุมัติให้ผ่านโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี

เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานที่ทำให้ประชาชนซึ่งติดตาม
ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองต่างตั้งคำถามต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า

นี่หรือที่เรียกว่า "ซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด"!?

มิพักต้องพูดถึงข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่
12 ธันวาคม 2552 ที่ขอให้เร่งรัดดำเนินคดี
การบุกรุกและครอบครองที่ดินกรณีเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น

กรณี ที่รัฐบาลเมินเฉยต่อการบุกรุกและยึดครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่
เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์
คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่ารัฐบาลชุดนี้...มีความเกรงใจพรรคพวกตัวเอง
มากกว่าเกรงใจประชาชนและผลประโยชน์ของชาติ!

เพราะเรื่องเล็กแค่นี้รัฐบาลยังจัดการกันไม่ได้
จะไว้ใจให้ไปจัดการเรื่องใหญ่กว่านี้ได้อย่างไร?

ถ้าขืนปล่อยให้นักการเมืองเหล่านี้ให้มาใช้ข้ออ้างในการปฏิรูปการรถไฟแห่ง
ประเทศไทยมาเพื่อแบ่งแยกกิจการ
ประชาชนย่อมมีสิทธิ์เคลือบแคลงสงสัยว่าจะมีการฮุบที่ดินของการรถไฟแห่ง
ประเทศไทยซึ่งมีมูลค่ามหาศาลโดยพรรคพวกของนักการเมืองเพียงไม่กี่คนหรือไม่?

วิกฤต ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหลายด้าน
แต่วิกฤตที่เลวร้ายเร่งด่วนที่สุดขององค์กรแห่งนี้คือการทุจริตคอร์รัปชัน
ประการหนึ่ง และการไม่เอาใจใส่และขาดวิสัยทัศน์จากฝ่ายการเมืองเป็นอีกประการหนึ่ง!

เพราะเพียงแค่หยุดยั้งและกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันได้เมื่อใด
การปฏิรูปและการฟื้นฟูกิจการของการถไฟแห่งประเทศไทยก็สามารถทำได้ทันที!

จริงอยู่ที่ว่าวันนี้จะต้องเร่งซ่อมแซมปรับปรุงสภาพหัวรถจักรและฟื้นฟูระบบ
รางให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
และการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นความสำคัญลำดับแรก

แต่การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันก็ถือเป็นมะเร็งร้ายที่ต้องจัดการให้
ได้เสียก่อนที่คิดจะปฏิรูปโครงสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เพราะหากจะปฏิรูปโครงสร้างโดยไม่สนใจการทุจริตคอร์รัปชั่นในเวลานี้
ก็เท่ากับเป็นการยกการฉ้อฉลทุจริตคอร์รัปชันในวันนี้ไปให้เอกชนพวกพ้องของตัวเองเหมาทุจริตกินรวบต่อไปในวันข้างหน้า

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีที่ดินทั้งสิ้น 233,860 ไร่
เป็นที่ดินในการใช้การเดินรถ จำนวน 198,674 ไร่
และเป็นที่ดินเพื่อหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จำนวน 36,302 ไร่

ในจำนวนที่ดินเพื่อการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ จำนวน 36,302 ไร่
แบ่ง เป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,826 ไร่,
เป็นสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 4,306 ไร่, สายตะวันออก จำนวน 4,952
ไร่, สายใต้ จำนวน 15,186 ไร่

โดยเฉพาะ อย่างยิ่งที่ดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีจำนวน 2,826
ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน 47 ไร่ ย่านมักกะสัน 517
ไร่ บริเวณถนนรัชดาภิเษก บริเวณจตุจักร
ซึ่งประกอบไปด้วยเจเจมอลล์และตลาดซันเดย์ ย่านแม่น้ำ (ท่าเรือ) บางซ่อน
ย่านถนนรามคำแหง (คลองตัน-หัวหมาก)

นอกจากนี้ยังมีที่ดินในต่างจังหวัดที่มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์อีกหลายแห่ง
เช่น หลังสถานีรถไฟหาดใหญ่ บริเวณสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ ฯลฯ

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินที่ดินเชิงพาณิชย์ทั้งหมด
36,302 ไร่ มีรายได้เฉลี่ยเพียงแค่ปีละ 1,116 ล้านบาท

เฉลี่ยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีรายได้จากค่าเช่าที่ดินเฉลี่ยไร่ละ
30,742 บาทต่อปี หรือไร่ละ 2,562 บาทต่อเดือน

คิดเป็นค่าเช่าแสนจะอัปลักษณ์เฉลี่ยตารางวาละ 6.40 บาทต่อเดือน!

เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่บางแห่งของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ให้เอกชนไปทำ
ที่จอดรถในเมืองรถหนึ่งคันมีที่ตีเส้นจอดรถขนาด 2.40 x 6.00 เมตร หรือ
3.6 ตารางวา คิดค่าเช่ากันประมาณ 20 ถึง 40 บาท ต่อชั่วโมง!

สัญญาเช่าที่ดินให้กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด
(เซ็นทรัลลาดพร้าว) นายสันติ พร้อมพัฒน์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้ต่อสัญญา
เช่าให้โดยไม่มีการเปิดประมูลใหม่ บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธินซึ่งมีพื้นที่
47 ไร่ เป็นเวลา 20 ปี ได้เงินรวม 21,000 ล้านบาท

แต่ก่อนหน้านั้นไม่นานที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการให้เอกชนเช่า
พร้อมอาคารมาบุญครองจำนวน 23 ไร่ เป็นเวลา 20 ปี
ซึ่งเล็กกว่าไม่ถึงครึ่งของเซ็นทรัลลาดพร้าว ได้ค่าเช่ารวมถึง 25,000
ล้านบาท

หากรัฐบาลมีความจริงใจแบบ "ซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด"
ในการแก้ไขปัญหาการรถไฟแห่งประเทศไทย
ก็ควรตรวจรื้อฟื้นดูว่าการลงนามสัญญาต่อเช่าที่ดินย่านสามเหลี่ยมพหลโยธิน
ครั้งนั้นซึ่งไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเข้าร่วมการงานของภาครัฐและเอกชน
พ.ศ. 2535 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

หากไม่ ถูกต้องก็ควรจะต้องมีการเปิดประมูลใหม่
การรถไฟแห่งประเทศไทยอาจได้ค่าเช่าไม่ใช่เพียงแค่ 21,000 ล้านบาท
แต่อาจได้ค่าเช่าถึง 50,000 - 60,000 ล้านบาท!

แต่ถ้าตกอยู่ในมือนักการเมืองชั่วก็จะอาศัยเรื่องนี้ไปตบทรัพย์เอกชนเข้ากระเป๋าตัวเองอีก!

ห้าง เจ เจ มอลล์ ก็เช่นเดียวกัน
เช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจำนวน 12 ไร่ เป็นเงิน 917 ล้านบาท
เป็นเวลา 30 ปี เฉลี่ยปีละ 30.5 ล้านบาท
แต่ถ้าเอาไปปล่อยเช่าเต็มได้เกือบ 300 ล้านบาทต่อปี!!

อีก กรณีหนึ่งที่อัปลักษณ์มากขึ้นไปอีก
ก็คือที่ดินบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้เอกชนซึ่งมีกำไรมหาศาลจากการสร้างแผงให้พ่อค้า
แม่ค้าเข้ามาเซ้งต่อ เก็บค่าเช่าปีละประมาณ 8,000
ล้านบาท...แต่จ่ายค่าเช่าให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเพียงปีละ 13 ล้านบาท
เท่านั้น!

เอกชนมีรายได้ปีละ 8,000 ล้านบาท
แต่มีรายจ่ายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยปีละ 13 ล้านบาท ต่างกันถึง 615
เท่าตัว คิดดูว่าปีหนึ่งๆ มันจะมีการทุจริตคอร์รัปชันกันได้มากขนาดไหน!?

แต่ ที่ต้องถือว่าอัปลักษณ์ที่สุด
คือการบุกรุกและยึดครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เขากระโดง
จังหวัดบุรีรัมย์ รายนั้นไม่ต้องเสียค่าเช่าใดๆ เลย!

จึงไม่น่าแปลกใจหรอกว่าวันนี้ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่งและ
นักการเมืองจะต้องคอยใส่ร้ายป้ายสีทำลายความน่าเชื่อถือสหภาพการรถไฟแห่ง
ประเทศไทยให้มัวหมอง
เพื่อจะได้ถือโอกาสปฏิรูปรถไฟบนสภาพและสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการทุจริต
คอร์รัปชันและผลประโยชน์อย่างมหาศาล ใช่หรือไม่?

ถึงขนาดยอมลงทุนโดยฝ่ายบริหารสั่งให้ขบวนรถไฟหยุดทิ้งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟ
ที่ละแม จ.ชุมพร โดยเจตนาปล่อยให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นฝีมือสหภาพฯ เป็นเวลา
10 วันกว่าที่ผู้บริหารจะออกมายอมรับสารภาพ และไล่ประธานสหภาพฯ
และกรรมการสหภาพแรงงานออกจากงาน!

ด้านหนึ่งก็ต้องการกำจัดและกำราบสหภาพฯ ไม่ให้มาขวางแผนฮุบรถไฟ
อีกด้านหนึ่งก็ถือโอกาสใส่ร้ายพรรคการเมืองใหม่ว่าอยู่เบื้องหลัง
โดยที่ไม่สนใจเนื้อหาสาระในการเรียกร้องว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือ
ไม่?

เพราะถ้าเราเพียงแค่หยุดยั้งการทุจริต
เราก็จะมีงบประมาณมหาศาลในการซ่อมแซมราง เปลี่ยนเครื่องยึดเหนี่ยวราง
เปลี่ยนหมอนรถไฟ เปลี่ยนหินรองราง ซ่อมระบบอาณัติสัญญาณ เปลี่ยนหัวรถจักร
สร้างรถไฟรางคู่ และสร้างรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศแล้ว

สมมติว่าถ้าค่าเช่าที่ดินเชิงพาณิชย์การรถไฟแห่งประเทศไทยลดการทุจริต
คอร์รัปชันและเพิ่มขึ้นค่าเช่าที่ดินรถไฟได้จากตารางวาละ 6.40
บาทต่อเดือน มาเป็นเพียงตารางวาละเฉลี่ย 75.0 บาทต่อเดือน
การรถไฟแห่งประเทศไทยจะมีรายได้จากปีละ 1,116 ล้านบาท มาเป็นรายได้ปีละ
13,087 ล้านบาท โดยทันที

ถ้ามีรายได้ค่าเช่าเพิ่มเป็นเพียงปีละ 13,087 ล้านบาท
สิ่งที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล เสนอความคิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2552
ว่าให้ทำซีเคียวริไทซ์ขายลดรายได้จากค่าเช่าที่ดินรถไฟล่วงหน้า 30
ปีเพื่อมาฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ก็จะได้ผลเป็นว่าประเทศไทยจะมีเงินมาปรับปรุงรถไฟและระบบขนส่งทั้งหมดจำนวน
ประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาท โดยทันทีเช่นเดียวกัน!

ถ้าทำได้อย่างนี้จากแผนเดิมที่รัฐวางแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวน
เงิน 191,314 ล้านบาทในส่วนของงานโยธา โครงการรถไฟรางคู่
โครงการปรับปรุงทาง และโครงการระบบขนส่งมวชนสายสีแดงระหว่างปี 2552-2561
ก็สามารถทำได้พร้อมๆ กันให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2 - 3
ปีโดยไม่ต้องรอเวลาถึง 10 ปี

แต่จะทำอย่างนี้รัฐบาลที่จะมีอำนาจหรือรัฐมนตรีคนนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ
เสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และทำงานเป็นเท่านั้น

ส่วนรัฐบาลที่ "ซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด" แบบจอมปลอมไม่มีทางทำได้!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น