++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ร่างแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 สุ่มเสี่ยงเลี่ยงรัฐธรรมนูญ

โดย ศรีสุวรรณ จรรยา 3 พฤศจิกายน 2552 16:42 น.
ศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ความลุกลี้ลุกลนของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหามาตรา 67 วรรคสอง
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2535 กำลังจะกลายเป็นลิงแก้แห
ในภูเขาวงกตที่นับวันจะก่อให้เกิดความยุ่งเหยิง ความขัดแย้ง
จนไม่สามารถหาทางออกได้
ในที่สุดจะติดวกวนอยู่กับกับดักที่ตนเองสร้างขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เพราะความดื้อดึงดันของรัฐบาลที่พยายามจะเอาอกเอาใจผู้ประกอบการนาย
ทุน จนลืมนึกถึงมอตโต้หาเสียงของตนเองที่เคยโฆษณาชวนเชื่อไว้ว่า
"ประชาชนต้องมาก่อน"

แถมยังขัดแย้งต่อนโยบายที่รัฐบาลเคยแถลงไว้กับรัฐสภาเมื่อวันที่
30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เสียโดยสิ้นเชิงที่ว่า
"จะเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่อย่าง
จริงจัง ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน"

"จะส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้
และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากทางราชการ
และสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง เป็นธรรม และรวดเร็ว
รวมทั้งให้กลไกภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกมิติตามบทบัญญัติ
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"

คำว่าประชาชนมีส่วนร่วมในที่นี้
รัฐบาลคงหมายถึงประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการ หอการค้า นายทุนอุตสาหกรรม
สมาคมนายแบงก์เจ้าของนิคมอุตสาหกรรม
หรือไม่ก็นักการเมืองหรือญาตินักการเมืองที่มีหุ้นอยู่ในบริษัทมหาชนต่างๆ
เป็นแน่

หาใช่ประชาชนที่ทนทุกข์ทรมานอยู่กับการได้รับผลกระทบจากมลพิษ
อุตสาหกรรม ต้องสูดดมกลิ่นเหม็น กลิ่นสารเคมี กลิ่นสารอินทรีย์ระเหยง่าย
ที่เป็นสารก่อมะเร็งอยู่ทุกวี่วัน โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่ฝ่ายราชการเลิกงาน
หรือหลับใหลไปแล้ว
เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาทองของการประกอบการอุตสาหกรรม
ที่จะรีบเร่งการผลิต ปลดปล่อยสารพิษออกมาได้อย่างเต็มที่
เพราะแม้ชาวบ้านจะเดือดร้อน
ก็ไม่สามารถไปร้องเรียนให้ใครมาตรวจสอบได้ยามวิกาล
นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาเหล่านี้ ถามว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรู้ไหม
คำตอบก็คือรู้ แต่รู้แล้วพูดไปก็สองไพลเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง
สู้ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนดีกว่า เพราะพูดมากไปเดี๋ยวเจอตอ สู้อยู่เฉยๆ
พอครบปีก็ได้แล้วขั้นสองขั้นสบายกว่ากันเยอะ ชาวบ้านจะเดือดร้อน ป่วย
ล้มตายอย่างไรก็ช่างหัวปะไร เพราะไม่ใช่ญาติโก โหติกา
ที่ต้องไปทุกข์ร้อนด้วย

ชาวบ้านผู้เดือดร้อนเขาเฝ้าทนเห็นสภาพการลูบหน้าปะจมูกของข้าราชการ
เกียร์ว่างไม่ไหว จึงต้องลุกขึ้นมาทวงสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ
จนต้องฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองกลาง
ประจานให้สังคมโลกได้รับรู้กันไปเลยว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพ
อนามัยของประชาชน หรือสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง หรือว่า
ให้ความสำคัญกับกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมเป็นพระเจ้ากันแน่

คำตอบที่ได้ก็คือ รัฐบาลเร่งแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปี 2535
เพื่อที่จะได้ให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรม 76 โรงงานในมาบตาพุด-บ้านฉาง
และใกล้เคียง ได้ใช้เป็นเครื่องมือเดินออกจากกฎเหล็กคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง
กลางเสีย โดยที่ไม่เคยรับฟังเสียงท้วงติงของภาคประชาชนเลยว่า
การใช้แนวทางดังกล่าว เป็นแนวทางที่ผิดและสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ
และจะยิ่งก่อปัญหาไม่รู้จักจบจักสิ้น
หากยังดื้อดึงผลักดันกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้จงได้

ทั้งๆ ที่ภาคประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย
และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันยกร่าง
พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ... ไว้ให้นานแล้วตั้งแต่
30 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา

แต่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีก็หาได้สนใจไม่
กลับไปเชื่อถือข้าราชการที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ โดยการทำตัวเกียร์ว่าง
ไม่ยอมนำร่างกฎหมายองค์การอิสระฯ ไปดำเนินการต่อตามขั้นตอนของกฎหมาย

แต่กลับไปสุมหัว คิดอ่านกันเอง
แล้วมีมติยกร่างแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 ออกมาแทน

ถามว่า การแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 51
ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชงให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้น ผิดตรงไหน
อย่างไร คำตอบมีอยู่ชัดๆ ดังนี้คือ

1) ผิดเพราะการยกร่างการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
คณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการกันแบบงุบงิบ ปิดประตูห้องหารือกัน
ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีโอกาสให้ความคิดเห็น
ร่วมเสนอแนะได้เลย
จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดไปจากนโยบายของรัฐบาลที่โฆษณาชวนเชื่อว่า
"จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม"

ขอถามหน่อย
คณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี
เกี่ยวกับการให้มีกฎหมาย หรือแก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย
ภายใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 303 (1) คือ
ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รัฐบาลชุดแรกแถลงนโยบาย
ต่อรัฐสภา แต่ขณะนี้เวลาล่วงเกินไปกว่า 20 เดือนแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา
มัวทำอะไรอยู่

2) ผิดเพราะการไปแก้ไขให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง
แวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ในการประกาศหรืออกกฎเกณฑ์ในการจัดทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
ซึ่งเป็นการก้าวล่วงต่ออำนาจของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ที่มีอำนาจประกาศหรือกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวอยู่แล้ว ตาม
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 25 (5)

ขอถามหน่อย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใหญ่กว่า
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตรงไหน

3) ผิดเพราะไปกำหนดให้การจัดทำการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) อยู่ในรายงานฉบับเดียวกัน
ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว มีกฎหมายหลักบัญญัติไว้คนละฉบับ (EIA
ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535, HIA
ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ 2550) มีคณะผู้มีอำนาจออกกฎเกณฑ์
ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคนละคณะ
แต่กลับนำมารวบอยู่ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขนี้ฉบับเดียว
มีรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ รักษาการตามกฎหมายคนเดียว

ขอถามหน่อยว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เอาไปวางไว้ตรงไหน เห็นกันชัดๆ
แบบนี้ว่าขัดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แล้วยังจะดื้อดึงผลักดันกันต่อไปอีกหรือ

4) ผิดเพราะการไปบังคับให้องค์การอิสระต้องพิจารณาให้ความเห็น EIA
และ HIA ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานฯ
ถ้าไม่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่าให้ความเห็นชอบแล้ว
ในขณะที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องให้องค์การอิสระให้
ความเห็นก่อนการดำเนินโครงการเท่านั้น ไม่ได้กำหนดวันเวลาที่ตายตัว
เพราะการให้ความเห็นต่อโครงการใดๆ
ต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน
ไม่ใช่สักแต่ว่าหลับหูหลับตาให้ผ่านไปโดยเร็ว
จะขาดตกบกพร่องก็หยวนกันอย่างไรก็ได้

ขอถามหน่อยว่า
ถ้าไม่ใช่จะให้ชาวบ้านเขาถามว่าพยายามเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนอุตสาหกรรม
แล้วจะให้ชาวบ้านเขาเชื่อว่ากำหนดเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของใคร

5) ผิดเพราะไปให้อำนาจและการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นสุดท้าย
ไว้ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
ที่ส่วนใหญ่เป็นคนของนักการเมืองและคนสนิทของ สผ.ใช่หรือไม่
แม้หากองค์การอิสระฯ ไม่ให้ความเห็นชอบ หรือมีความเห็นที่แตกต่าง
หรือมีความเห็นเพิ่มเติมจากรายงานฯ ที่ คชก. เคยเห็นชอบมาก่อนหน้านี้แล้ว
ก็ยังจะคงให้ส่งเรื่องไปให้ คชก.ชุดเดิมพิจารณาให้ความเห็นชอบซ้ำอีก

ขอถามหน่อย แล้วจะให้มีองค์การอิสระฯ ไว้ไปหาอะไรทำไม
เพราะเขียนกฎหมายให้อำนาจ คชก. มีอำนาจล้นฟ้าแบบนี้
ที่ผ่านมาเคยสำนึกรู้กันบ้างหรือไม่ที่ชาวบ้านเขาชุมนุม ประท้วง ปิดถนน
เผาพริกเผาเกลือกันทั่วระแหงนั้น เป็นผลมาจากความน่าเชื่อถือ
น่าชื่นชมยินดีในการพิจารณา EIA ของ คชก.มากเลยใช่ไหม

ขนาดสภาผู้แทนผ่านร่างกฎหมายไปให้วุฒิสภาตรวจกรอง
หากวุฒิสภามีความเห็นที่แตกต่าง
เขายังต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทั้งสองสภา
เพื่อมาพิจารณาไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกันเลย แล้วการแก้กฎหมายฉบับนี้
คชก. เป็นผู้วิเศษเยี่ยมยอดมากเลยใช่ไหม ความเห็นขององค์การอื่น
จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้

6) ผิดเพราะการไปกำหนดให้องค์การอิสระฯ
แต่ละองค์การที่เป็นนิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
ที่ต้องมีองค์ประกอบของเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ
ร่วมดำเนินการอยู่ในองค์กรเดียวกันเท่านั้น
จึงจะมีสิทธิมาจดทะเบียนเป็นองค์การอิสระฯ ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

ขอถามหน่อยว่า เอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาร่วมดำเนินการอยู่ในองค์กรเดียวกัน
มีอยู่สักกี่องค์กร แบบนี้เขาเรียกว่า
พยายามปิดกั้นการเข้ามาช่วยให้ความเห็นของเอ็นจีโอและนักวิชาการใน
มหาวิทยาลัยแล้วจะให้เรียกว่าอย่างไร

7) ผิดเพราะการแก้ไขกฎหมายหลัก
แต่ไปใส่บทเฉพาะกาลในกฎหมายฉบับแก้ไข
โดยให้อำนาจรัฐมนตรีในการแต่งตั้งองค์การอิสระฯ
ขึ้นมาทำหน้าที่ไปพลางก่อนๆ ก่อนที่ยังไม่มีองค์การอิสระตามกฎหมาย ทั้งๆ
ที่รัฐมนตรีไม่มีอำนาจหรือกฎหมายฉบับใด มาตราใด ให้อำนาจไว้ชัดเจน
ก็ยิ่งจะเป็นการละเมิดกฎหมาย ละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตราดังกล่าว

ขอถามหน่อยว่า ภาคประชาชน ประชาสังคม
ควรที่จะน้อมรับสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ปิด
ประตูห้องคิดกันเอง คุยกันเอง แล้วมีมตินำมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศได้
โดยขาดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน
ทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนในสิทธิข้อนี้ โดยเฉพาะในมาตรา 87
ไว้แล้วโดยที่ภาคประชาชนไม่ควรมาหัวแข็งคัดง้างใดๆ ทั้งสิ้นกระนั้นหรือ

ถ้า รัฐบาลคิดจะใช้อำนาจสั่งการ (Top-Down Policy)
ในคำสั่งทางปกครอง...ก็ต้องไปยุติกันที่ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าไม่เชื่อเดี๋ยวจะพิสูจน์ให้เห็น...คอยติดตามดูก็แล้วกัน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น