++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

เศรษฐกิจไร้ศีลธรรม: แหล่งกำเนิดมลพิษตัวแม่


โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

เมื่อหยาดหยดฝนบนเมฆามาจากธารธารามหาสมุทร ร่างกายมนุษย์ก็ประกอบด้วยอากาศ อาหาร น้ำ จากการบริโภคฉันนั้น เช่นเดียวกันเมื่อฝนกรดก่อเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำฝนกับก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไนโตรเจนมอนอกไซด์ ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม อาการระคายเคืองรุนแรงของเยื่อบุภายในจมูก ปาก และปอด หลอดลมอักเสบ เซื่องซึม อ่อนเพลีย ของผู้คนก็มาจากการสูดสารพิษเหล่านั้นเข้าไปในร่างกาย

ทั้งฝนกรดและโรคร้ายที่ทวีคูณเข้มข้นขึ้นทุกวันนั้นมาจาก ‘ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์’ แหล่งมลพิษเริ่มแรกแห่งห่วงโซ่วิกฤตสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง จนถึงสภาพแวดล้อม

หนึ่งรูปธรรมความเห็นแก่ตัวฉายชัดผ่านความขัดแย้งระหว่างระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมกับชุมชนรายรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้งก่อนและหลังศาลปกครองระยอง พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและข้างเคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ

คดีมาบตาพุดที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ศาลมีคำพิพากษานับเป็นชัยชนะของประชาชนและประชาคมสิ่งแวดล้อมเหนือระบบทุน นิยมเศรษฐกิจจริงหรือ?

แนวโน้มอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้หลังความพ้องกันทั้งทางเวลาและสารัตถะ กับคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะจ่ายค่าชดเชย ชาวบ้าน รวมทั้งยังได้มติการประชุม กก.วล.ไม่อุทธรณ์การประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพิ่มพูนน้ำหนัก

ทว่าทางกลับกันกลับสงสัยว่าทำไมนโยบายป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวด ล้อม สนับสนุนการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ตลอดจนดำเนินโครงการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะจึงล้มเหลว

ละม้ายกับภารกิจกำกับดูแลให้โรงงานมีระบบป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบด้วยระบบอัตโนมัติทันสมัยของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่เป็นฐาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปิโตเลียม และ Logistic Base ทันสมัยใหญ่สุดที่ก็ล้มละลายไม่ต่างกัน

เหตุใดทั้ง 2 หน่วยงานต้องรอคำพิพากษา ไยไม่หยุดยั้งอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาวะประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากปริมาณก๊าซ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศสูงเกินมาตรฐานจาก กฟผ. จนก่อโรคทางเดินหายใจแก่ชาวบ้านแม่เมาะ และปล่อยให้สารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพ อากาศในบรรยากาศ 19 ชนิดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตามคร่าคุณภาพชีวิตชาวระยองดังรายงานของ สถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่าสถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของ อ.เมืองระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆ 3 และ 5 เท่าตามลำดับ ดังประจักษ์แจ้งในคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่และระยอง

ไม่ ใช่ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์บนห่วงโซ่ทุนนิยมผู้ตะกละกลืนกินทุกสิ่งอย่างตาม ห่วงโซ่อาหารแล้วจะเรียกขานผลผลิตสุขภาวะเลวร้ายนี้ว่าอะไร

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ประชาชนธรรมดานับ 100 รายกรณี กฟผ. และกว่า 20 รายกรณีนิคมมาบตาพุดลุกขึ้นสู้ทวงถามสิทธิผ่านช่องทางศาลปกครองเพื่อสร้าง ความสมดุลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับการดำเนินงานของรัฐเพื่อ ประโยชน์สาธารณะหรอกหรือที่ทำให้ถ้อยคำ ‘สิทธิชุมชน’ ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 66 ที่รับรองสิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และมาตรา 67 ที่คุ้มครองสิทธิของบุคคลในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ บำรุงรักษา และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หนักแน่นทางปฏิบัติการจริง

ยิ่งกว่านั้น การพิพากษาคดีด้วยความเป็นธรรมและรวดเร็วเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ และให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีกรณีสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นบรรทัดฐานในการ ปฏิบัติราชการของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยศาลปกครองจะมาถึงเร็ววัน เช่นนี้หรือ

การกำหนดค่าเสียหายด้านค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและจิตใจในวงเงินส่วน ใหญ่รายละ 246,900 บาทกรณี กฟผ.อาจเป็นการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบปลายเหตุเมื่อเทียบกับการ ประกาศมาบตาพุดเป็น ‘เขตควบคุมมลพิษ’ เพราะวิธีนี้จะนำไปสู่การควบคุม ลด และขจัดมลพิษโดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเพื่อฟื้นคืนสุขภาวะประชาชนและสิ่ง แวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ โดยกรมควบคุมมลพิษจะประสานการจัดทำแผนปฏิบัติการและแนะนำทางวิชาการ

มากกว่านั้น ยังไปเสริมอำนาจ (Empower) กลไกรัฐธรรมนูญด้านการมีส่วนร่วมบำรุงรักษาและได้รับประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน รวมถึงคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างปกติสุขและต่อเนื่องใน สิ่งแวดล้อมที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิต หรือยับยั้งถึงหยุดยั้งโครงการและกิจกรรมที่ก่อผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพสิ่ง แวดล้อมของคนปลายอ้อปลายแขม

ถึงกระนั้นการทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษของเขตควบคุมมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ไม่อาจมุ่งสำรวจ เก็บข้อมูล และทำบัญชีแสดงจำนวน ประเภท และขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษคับแคบแค่หน่วยชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ หรือสถานประกอบการ โดยละเลยโครงสร้างเศรษฐกิจได้

ด้วย แหล่งกำเนิดมลพิษแท้จริงทั้งกรณี กฟผ.และมาบตาพุดมาจากโครงสร้างธุรกิจทุนนิยมที่กอบโกยเอารัดเอาเปรียบ ธรรมชาติและชุมชนรายรอบภายใต้เสื้อคลุมการพัฒนา

หาไม่แล้วทั้ง 2 ชุมชนคงไม่ต้องผจญมลพิษจากวาทกรรมการพัฒนานานนับทศวรรษเช่นนี้ ทั้งที่อุตสาหกรรมหนักทั้ง 2 แห่งมีนโยบายมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำกับควบคุมอยู่แล้ว โดยเฉพาะการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) อีกทั้งยังทุ่มงบประมาณมหาศาลผ่านกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility: CSR) เสมอมา หรือว่าเพียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์หาได้มีสาระอันใดไม่?

ถ้ากล้าหาญเคร่งครัดทำธุรกิจควบคู่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ตามหลัก ESG โดยบูรณาการกับเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดมั่นหลักความพอประมาณ ความระมัดระวัง มีเหตุผล และการบริหารความเสี่ยงภายใต้ความรู้และคุณธรรมธุรกิจ ก็จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) ไม่กอบโกยเบียดเบียนประโยชน์สังคมโดยไม่คำนึงถึงวิกฤตตามมา และที่สำคัญไม่ผิดศีลธรรมจรรยา กระทั่งท้ายสุดสามารถนำความสุขแท้จริงมาสู่ตนเอง ธุรกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมได้

ทว่าถ้าแค่ปฏิบัติตามกฎหมาย (Legislation) อันเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสุดของ CSR ยังไม่ได้ ยังรวมตัวประท้วงบีบคั้นข่มขู่ว่าจะอุทธรณ์การประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย ข้ออ้างกระทบความเชื่อมั่นการลงทุน-ท่องเที่ยว เช่นนี้แล้วจะไปกล่าวถึงจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business code of conduct) ที่ใส่ใจให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สังคม ตลอดจนสมัครใจ (Voluntary action) ประกอบธุรกิจบนพื้นฐานการมุ่งประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ หรือกระทั่งวิสัยทัศน์กระทรวงอุตสาหกรรมปี 2551-2554 ที่ต้องการเป็นองค์กรนำผลักดันอุตสาหกรรม วิสาหกิจ และผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ทำไมให้เสียเวลา

ทั้งๆ ที่ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของอุตสาหกรรมไทยใช่อยู่ที่รู้วิธีขูดรีดแรงงานราคาถูก ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ เบียดบังสุขภาวะประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อแสวงผลกำไรให้ได้มากสุดสำหรับคน รุ่นปัจจุบัน ทว่าน่าจะชี้ขาดผ่านการส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียว และครุ่นคำนึงถึงศีลธรรมที่นิยามอย่างกว้างขวาง น้อยสุดก็ต้องสร้างกลไก ‘ระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม’ ที่มาจากการร่วมมือของภาคประชาชน/องค์กรเอกชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ขึ้นมาถ่วงดุลกิเลสของเศรษฐกิจที่กำลังระบาดหนักหน่วงให้ได้

ด้วย ไม่มีธุรกิจใดประสบความสำเร็จได้ในสังคมล้มเหลว แหล่งกำเนิดมลพิษตัวแม่ที่ดำเนินเศรษฐกิจไร้ศีลธรรมพรากคุณภาพชีวิตและสิ่ง แวดล้อมของชาวบ้านแม่เมาะและมาบตาพุดจะพัฒนาอย่างยั่งยืนและแข่งขันในตลาด โลกจนคว้าความสำเร็จได้อย่างไร ด้วยในที่สุดแล้วจะกร่อนกัดตัวเองดังท่านพุทธทาสอรรถาธิบายธรรมไว้ว่า ‘เศรษฐกิจกับศีลธรรมคือเรื่องเดียวกัน’ ถ้าแยกจากกันเมื่อใดก็ทำลายล้างมนุษย์เมื่อนั้น.คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000032887

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น