++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

อุดมศึกษาไทย : การบุกเบิกพรมแดนความรู้และตอบสนองความต้องการของสังคม

โดย สุทัศน์ ยกส้าน


คำว่ามหาวิทยาลัย ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า university
ซึ่งมีรากศัพท์ในภาษาละตินว่า universitas ที่แปลว่า ทั้งปวง ทั้งโลก
หรือ ทั้งเอกภพ

มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกตะวันตกถือกำเนิดในสมัยคริสต์ศตวรรษที่
12 (ก่อนจะมีราชอาณาจักรสุโขทัย) ที่เมืองโบโลนญา (Bologna) ในอิตาลี
โดยมี Irnerius ผู้เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงได้เปิดสอนวิชากฎหมายที่ใช้บังคับประชาชนใน
เมืองต่างๆ ของอิตาลีในสมัยนั้น
มหาวิทยาลัยนี้มีความประสงค์จะให้ผู้เรียนรู้จักตีความและอภิปรายเนื้อหาของ
กฎหมายอย่างเสรี โดยไม่ให้องค์กรภายนอก เช่น
รัฐบาลหรือสถาบันศาสนามาครอบงำความคิดของทั้งผู้สอนและผู้เรียน

ในเวลาต่อมา
ความต้องการความรู้ขั้นสูงในแขนงวิชาอื่นก็เริ่มเกิดขึ้นบ้าง เช่น
ที่ปารีสในฝรั่งเศส ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยปารีส
เพื่อสอนความรู้เกี่ยวกับศาสนาโดยเฉพาะ
และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในเมืองออกซฟอร์ดของอังกฤษก็เริ่มเกิดขึ้น
เพื่อสอนศาสนาให้บรรดานักบวชเช่นกัน
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยในอดีตถูกสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้
ขั้นสูงแต่เพียงด้านเดียวให้บุคคลที่ต้องการเรียน
จนถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทั่วโลกมีมหาวิทยาลัยประมาณ 80 แห่ง
ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีสิทธิในการปกครองตนเอง
และมีกฎให้นิสิตทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
(ซึ่งพวกชายหนุ่มเหล่านี้ก็ปฏิบัติตามบ้างและหลบเลี่ยงบ้าง)

สำหรับการบริหารนั้น มหาวิทยาลัยมีสิทธิให้ใครสอนและเรียนก็ได้
และการประสิทธิ์ประสาทปริญญามหาวิทยาลัยก็ดำเนินการเอง
ส่วนวิชาที่สอนได้แก่ ไวยากรณ์ ตรรกวิทยา วาทศาสตร์ เรขาคณิต คณิตศาสตร์
ดาราศาสตร์ ดนตรี กฎหมาย แพทยศาสตร์ เทววิทยา ฯลฯ
ตามปกติภาษาที่ใช้สอนคือภาษาละติน
โดยอาจารย์ผู้สอนจะอ่านตำราให้นิสิตฟังและจดคำต่อคำ
ซึ่งเมื่ออาจารย์อ่านจบหน้าหนึ่ง
ก็จะให้ความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับเรื่องนั้น
และเมื่อจบบทเรียนนิสิตก็จะออกมาถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่อ่าน
โดยอาจารย์จะเป็นคนให้ความเห็นสุดท้าย

การเรียนในมหาวิทยาลัยมีหลายระดับ คือ ตั้งแต่ชั้นต้น (bejaunus)
ชั้นกลาง (baccalaureus) จนถึงขั้นสูงคือชั้น doctor
ซึ่งคนที่เรียนจบก็จะได้ปริญญา เช่น Doctor of Medicine
สำหรับในทางการแพทย์ หรือ Doctor of Law สำหรับในทางกฎหมาย หรือ Doctor
of Philosophy ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาที่ไม่ได้เป็นวิชาชีพ
เพราะบุคคลที่สามารถสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
เป็นผู้ที่รู้มากและรู้ดี ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงเป็นที่ต้องการของสังคม
และของบุคคลสำคัญ เช่น สันตะปาปา จักรพรรดิ หรือ กษัตริย์
ซึ่งต่างก็คาดหวังจะได้บุคคลระดับมันสมองเหล่านี้มาทำงานรับใช้อย่างใกล้ชิด

ครั้นถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 (รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
ซึ่งเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์เริ่มอุบัติ การถกเถียงการอภิปรายประเด็นต่างๆ
ในมหาวิทยาลัยมีมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ความเชื่อต่างๆ ถูกท้าทายเช่น Peter
Ramus แห่งมหาวิทยาลัยปารีสได้เคยกล่าวว่าคำสอนของ Aristotle
ทุกเรื่องเหลวไหล
มหาวิทยาลัยในยุคนี้นอกจากจะมีบทบาทสร้างคนให้มีความรู้เพื่อพัฒนาชาติแล้ว
ยังได้กำหนดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเผยแพร่ความรู้สู่สังคมด้วย
เป็นการตอบแทนเงินเดือนที่ได้รับ

ในเมื่อไม่มีอะไรในโลกที่มีอายุร่วม 1,000 ปี
แล้วไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน
ปัจจุบันโลกมีมหาวิทยาลัยจำนวนนับหมื่นแห่ง
และมหาวิทยาลัยทั่วไปมักมีขนาดใหญ่และทันสมัย เพื่อสอนนิสิตจำนวนนับล้าน
อีกทั้งมีอาจารย์ที่ทำงานวิจัยหลายด้าน
ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องการงบประมาณมหาศาล เพื่อดำเนินการสอน วิจัย
และบริการสังคม แต่ลำพังค่าเล่าเรียนที่เก็บได้จากนิสิตมักไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินการ
ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องพึ่งเงินงบประมาณทั้งจากรัฐและเอกชน
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่าความเป็นอิสระในการทำวิจัยเรื่องใดก็ได้ที่
อาจารย์สนใจดังที่เคยปฏิบัติมาก็อาจต้องถูกกระทบกระเทือน
เพราะสังคมมีปัญหามากมายและหลากหลาย
ทั้งในความเป็นรูปธรรมและนามธรรมที่ต้องแก้ไข

ดังนั้นสังคมจึงตั้งความหวังให้มหาวิทยาลัยช่วยแก้ปัญหาและชี้แนะสังคม
นอกเหนือจากการผลิตบัณฑิตซึ่งเป็นงานหลัก
และทำงานวิจัยที่บุกเบิกพรมแดนของความรู้ที่ต้องทำแล้ว
สังคมยังได้คาดหวังให้อาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยประเทศในการแข่งขันเชิง
เศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น สร้างเทคโนโลยีใหม่
หรือให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่
แล้วนำนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นออกขายเป็นการนำเงินมาพัฒนาประเทศ
ด้วย

ณ วันนี้
นักวิจัยในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณการวิจัยและพัฒนาจากรัฐเพียง
แหล่งเดียว เพราะเอกชนโดยทั่วไปยังไม่สนับสนุนการทำวิจัยเท่าที่ควร
ความร่วมมือในการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยกับเอกชนจึงมีน้อย
นอกจากนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่าน
ยังมีความเห็นว่าการให้เอกชนเข้ามากำหนดปัญหาและทิศทางการวิจัยใน
มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนกับการลากม้าไม้เข้ากรุง Troy คือ
จะทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสูญเสียเสรีภาพในการคิด
เพราะเอกชนมักจะให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
เอกชนจึงมักสนับสนุนการวิจัยสาขาวิชา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์
ฯลฯ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเชิงทรัพย์สิน
จนทำให้วิชาเหล่านี้ดูสำคัญกว่าวิชาวรรณคดี ปรัชญา ฯลฯ
ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจ เป็นต้น

ในการประชุมเรื่องอุดมศึกษาไทย :
การบุกเบิกพรมแดนความรู้และตอบสนองความต้องการของสังคมที่จัดโดยคณะกรรมการ
เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยของ สกอ.และศาสตราจารย์สโมสร
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมใคร่ชี้ให้สังคมไทยเห็นบทบาท ความจำเป็น
และข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยไทยว่า
นอกจากต้องมีหน้าที่บุกเบิกพรมแดนของความรู้แล้ว
ยังมีหน้าที่ต้องผลิตบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก
ให้เป็นนักวิชาการที่สมบูรณ์แบบและมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมด้วย
ส่วนมหาวิทยาลัยก็ต้องการให้สังคมเข้าใจธรรมชาติของการวิจัยว่า
งานวิจัยการสร้างองค์ความรู้ที่ไม่มีใครในโลกเคยรู้มาก่อน
ในการทำงานวิจัยบางเรื่อง นักวิจัยจะไม่มั่นใจ 100% ว่าจะได้คำตอบหรือไม่

และเมื่องานวิจัยต้องใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้าง "นาน"
แต่สังคมมักต้องการคำตอบ "ด่วน" เช่น ปัญหาว่า saccharin
เป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่ และ dioxin เป็นพิษหรือไม่
หรือโรงงานไฟฟ้าปรมาณูมีอันตรายเพียงใด
ซึ่งคำถามประเภทนี้หรือทำนองนี้ต้องการเวลานานในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์
เพื่อสรุป สังคมบางครั้งจึงไม่พอใจนักวิจัยและคิดไปว่า
นักวิจัยไม่รู้จริง
การไม่เข้าใจกันเช่นนี้ทำให้สังคมกับมหาวิทยาลัยมีความขัดแย้งกันในบาง
เรื่อง ทางออกสำหรับเรื่องนี้คือ
นักวิจัยต้องเสนอรายงานความก้าวหน้าอย่างโปร่งใส และชี้ให้เห็นว่า
ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม ข้อสรุปอาจเปลี่ยนแปลงได้
แต่การไม่ตอบคำถามหรือข้อสงสัยของสังคมเลยนั้น
เป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อสถาบันที่สนับสนุนโดยการให้ทุนวิจัย

ตามปกติคำตอบที่จะได้จากโจทย์วิจัยมักมีผลกระทบต่อสังคมในหลายมิติ
การวิจัยปัญหาต่างๆ ในอนาคต
จึงอาจต้องการความร่วมมือจากบุคคลหลายอาชีพและจากหลายสถาบัน
ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยไทย จึงต้องการความเชื่อมโยงกับเอกชนด้วย
มหาวิทยาลัยที่ต้องการออกนอกระบบจึงควรหาช่องทางจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำ
ธุรกิจที่จะเกิดจากงานวิจัย และเพื่อให้แนวคิดนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี
มหาวิทยาลัยอาจตั้งหน่วยงานรับเงินบริจาคจากเอกชนในรูปของกองทุนเพื่อการ
วิจัยก็ได้

ขณะนี้สภาพเศรษฐกิจในทุกประเทศทั่วโลกกำลังถดถอย
นั่นหมายถึงโอกาสการมีงานทำของบัณฑิตจบใหม่ก็ถูกกระทบกระเทือนด้วย
มหาวิทยาลัยไทยจึงควรมีแผนการผลิตบุคลากรในสาขาต่างๆ
ให้สอดคล้องกับความต้องการของชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลง เช่น
เพิ่มการผลิตบัณฑิตสาขาขาดแคลน
และลดการผลิตบัณฑิตสาขาที่มีมากเกินความต้องการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเน้นการผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาระยะ
ยาว เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาพลังงาน ปัญหาสุขภาพของประชาชน
ปัญหาความเพียงพอของอาหาร ฯลฯ
และยังต้องพัฒนาวิธีสร้างบัณฑิตที่มีศักยภาพในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้
ตลอดชีวิต นั่นคือให้บัณฑิตมีศิลปะในการศึกษาเรียนรู้นั่นเอง

โดย สรุป จุดประสงค์ของมหาวิทยาลัยไทยในการสร้างความรู้ใหม่
และตอบสนองความต้องการของสังคมนี้ สามารถจะเป็นจริงและดีได้อย่างยั่งยืน
ถ้ามหาวิทยาลัยทุกแห่งและสังคมไทยทุกระดับเข้าใจและร่วมมือกันโดยมีความมุ่ง
มั่นมากพอ ประเทศเราก็จะอยู่รอด และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000042751

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น