โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
สธ.ห่วงสุขภาพประชาชนที่เป็นโรคความ ดันโลหิตสูง อย่าเสี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉลองวันหยุดยาวสงกรานต์ เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์จะไปขยายหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น เสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต หัวใจวายเพราะหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น พบคนไทยเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่า 2 ล้านคน
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 9-10 วัน มีการเลี้ยงสังสรรค์ ส่วนใหญ่มักมีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ร่วมด้วย นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุการเดินทางแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้มีไขมันในเลือดสูงขึ้น และอ้วนได้ง่าย เนื่องจากในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 กรัมให้พลังงานสูงถึง 7 กิโลแคลอรี พลังงานส่วนเกินเหล่านี้จะไปสะสมในร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะต้องมีความระมัดระวังในช่วงนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่าผู้ใดก็ตามที่มีระดับความดันโลหิตสูงกว่าค่าปกติคือที่ระดับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และการที่ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาตได้
ทั้งนี้ จากสถิติการวัดความดันโลหิตในประชาชนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2550 พบผู้มีความดันโลหิตสูงมากถึง 2.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.3 ล้านคน ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน หรือมีกว่าครึ่งที่ยังไม่รู้ตัวว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง จึงไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปร้อยละ 95 ของเหล้าที่ดื่มจะซึมเข้ากระแสเลือด โดยผ่านทางเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น เส้นเลือดจึงแตกง่าย เพิ่มโอกาสเสี่ยงหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกกันว่า อัมพฤกษ์อัมพาต นอกจากนี้ ฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้เม็ดเลือดเกาะกันเป็นก้อนเหนียว ทำให้การไหลเวียนเลือดหนืดขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย เกิดโรคหัวใจล้มเหลว การทำงานของไตล้มเหลว และเสียชีวิตได้
“ขอ ให้ประชาชนที่ใช้ยวดยานพาหนะในการเดินทาง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ถ้าง่วงให้หยุดพัก หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามขับขี่รถทุกประเภท เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจราจรได้ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดการทำงานของสมอง หากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หากเกิน 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอาการมึนเมา เดินโซเซทรงตัวไม่ได้ เกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอาการสับสน และหากดื่มหนักมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะหมดสติและอาจเสียชีวิตได้” นพ.สุพรรณ กล่าว
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000042211
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น