++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552

ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ในความคิดของคนจีน ถ้าจะพูดถึงการพัฒนาสังคมและประเทศจะมีการพูดถึงตัวแปรต่างๆ เช่น ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แต่เขาจะกล่าวเน้นอยู่ตัวหนึ่งนั่นคือทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการมีประชาชนในสังคมที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม มีระเบียบวินัย รับผิดชอบ เพราะตัวแปรเรื่องมนุษย์นี้ถือเป็นตัวแปรหลัก โดยตามคติลัทธิขงจื้อนั้นก็มีการพูดถึงความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรมในตัวมนุษย์ โดยขงจื้อกล่าวว่า “มนุษย์ที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าว่าแต่จะเป็นผู้นำทางการเมืองเลย เป็นมนุษย์ก็ยังไม่ได้” ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจว่า มนุษย์ต่างจากสัตว์ก็ตรงที่มีคุณธรรมและจริยธรรม
      
        นอกจากนั้นคนจีนจะพูดบ่อยครั้งว่า คนนี้เป็นคนดี เพราะเขารู้จัก “วิธีที่จะเป็นคน” คำว่า “วิธีที่จะเป็นคนดี” ก็คือการทำหน้าที่เป็นคนดีของครอบครัว ตระกูล และสังคม รับผิดชอบต่อภารกิจที่กำหนดโดยประเพณี ในส่วนของความสำคัญของมนุษย์นี้ลัทธิจูเช่ของเกาหลีเหนือก็กล่าวทำนองเดียว กันว่า มนุษย์เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด มนุษย์เป็นผู้สร้างสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สังคมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง การบริหาร ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม ค่านิยม ปทัสถาน ล้วนแล้วแต่สร้างโดยมนุษย์ทั้งสิ้น
      
        จีนในสมัยเหมา เจ๋อตุง ก็ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการพยายามทำให้คนจีนในยุคนั้นมีอุดมการณ์ เสียสละเพื่อสังคม และการต่อสู้กับทุนนิยมเพื่อนำไปสู่ระบบสังคมนิยมตามคติของคาร์ล มาร์กซ์ นั้น เป็นการให้น้ำหนักกับความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมิได้แตกต่างไปจากความเชื่ออันเป็นประเพณีดั้งเดิม แต่เป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา ผู้ซึ่งเดินทางไปประเทศจีนสมัยนั้นจะสังเกตว่ามีการให้ความสำคัญพิเศษกับ เยาวชนของชาติ เริ่มตั้งแต่สุขภาพของเด็กๆ ตลอดจนระบบการศึกษาที่ฝึกให้เป็นคนมีความเคารพตนเอง มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีความภูมิใจในความเป็นชาติของตน
      
        ศาสตราจารย์ เอ.เอฟ.เค ออร์แกนสกี้ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ก็ได้กล่าวไว้ว่า การพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดความจำเริญเติบโตจนไปสู่ความมีอำนาจ ยืนตระหง่านในสังคมนานาชาตินั้นขึ้นอยู่กับตัวแปร 5 ตัว ซึ่งประกอบด้วย
      
        ตัวแปรที่หนึ่ง การพัฒนาการเมือง ซึ่งหมายถึงระบบการเมืองที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน จะสังเกตได้ว่าเป็นเรื่องของทรัพยากรมนุษย์
      
        ตัวแปรที่สอง จะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจจากสังคมเกษตรมาสู่สังคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันต้องเพิ่มเติมเรื่องข่าวสารข้อมูลเข้าด้วย ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการพัฒนาผู้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ข้อมูล ความรู้ ความทันสมัยและความมีวินัย ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
      
        ตัวแปรที่สาม ได้แก่การมีโอกาสขยับชั้นทางสังคม ซึ่งหมายความว่าระบบสังคมนั้นต้องเปิดกว้างให้คนทุกระดับ ทุกชนชั้น ไต่เต้าก้าวมาสู่ความเป็นผู้มีฐานะ มีบทบาท ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา การว่าจ้างแรงงาน และระบบนั้นต้องไม่มีการกีดกันเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภูมิภาค สถานะทางเศรษฐกิจ ในการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาและการว่าจ้างแรงงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
      
        ตัวแปรที่สี่ คือความมีจิตวิทยาที่ทันสมัยในหมู่ประชาชน ประชาชนจะต้องมีความคิดแบบมีเหตุมีผล มีจิตวิทยาศาสตร์ ไม่หลงงมงายในอำนาจเหนือธรรมชาติจนเกินเลย ศึกษาหาความรู้จนเข้าใจวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การมีค่านิยมที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เช่น ยอมรับการปลูกฝี การวางแผนครอบครัว การระมัดระวังในเรื่องโภชนาการ
      
        ตัวแปรสุดท้าย คือจำนวนประชากร ซึ่งศาสตราจารย์ออร์แกนสกี้ ได้ยกตัวอย่างประเทศมหาอำนาจในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี โปรตุเกส ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีประชากรมากพออย่างต่ำ 30 ล้านคน เพราะจะเป็นกำลังผลิตที่สำคัญ พร้อมๆ กับเป็นกำลังทหารในการป้องกันตนเองหรือขยายอำนาจ ขณะเดียวกันประชากรจำนวนมากดังกล่าวนั้นจะนำไปสู่การเกิดอุปสงค์ของตลาดภาย ใน ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเบื้องต้นไม่ต้องพึ่งพาการส่งออก แต่ที่สำคัญจะต้องมีการวางแผนครอบครัวให้โครงสร้างอายุเหมาะสมด้วย กล่าวคือ อายุตั้งแต่ 1-16 ปี จะต้องระมัดระวังอย่าให้มากเกินควรเพราะจะเป็นภาระ
      
        ขณะเดียวกันอายุ 60 ปีขึ้นไปถ้ามีจำนวนพอดีกับเศรษฐกิจ หรือมีการรักษาสุขภาพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับวัย ก็จะมีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติได้ ประชากรตั้งแต่อายุ 17-59 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานและวัยผลิตทางเศรษฐกิจ ถ้ามีจำนวนมากย่อมจะเป็นตัวแปรที่นำสังคมนั้นไปสู่การพัฒนา และการสร้างอำนาจการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการต่อรอง ตัวแปรจำนวนประชากรนี้จะต้องมีคุณลักษณะ 4 ตัวแปรที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นด้วย
      
        จากสถิติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประเทศที่มีประชากรเรียงลำดับตามจำนวนประชากรมีดังต่อไปนี้คือ
      
        1) จีน 1,335 ล้านคน (19.8% ของประชากรโลก) 2) อินเดีย 1,145 ล้านคน (16.9% ของประชากรโลก) 3) สหรัฐฯ 306 ล้านคน (4.5% ของประชากรโลก) 4) อินโดนีเซีย 230 ล้านคน (3.41% ของประชากรโลก) 5) บราซิล 190 ล้านคน (2.8% ของประชากรโลก) 6) ปากีสถาน 165 ล้านคน (2.46% ของประชากรโลก) 7) บังกลาเทศ 158 ล้านคน (2.36% ของประชากรโลก) 8) ไนจีเรีย 148 ล้านคน (2.2% ของประชากรโลก) 9) รัสเซีย 142 ล้านคน (2.1% ของประชากรโลก) 10) ญี่ปุ่น 128 ล้านคน (1.9% ของประชากรโลก) 11) เม็กซิโก 106 ล้านคน (1.5% ของประชากรโลก) 12) ฟิลิปปินส์ 90 ล้านคน (1.3% ของประชากรโลก) 13) เวียดนาม 87 ล้านคน (1.3% ของประชากรโลก) 14) เยอรมันนี 82 ล้านคน (1.2% ของประชากรโลก) 15) เอธิโอเปีย 76 ล้านคน (1.1% ของประชากรโลก) 16) อียิปต์ 76 ล้านคน (1.13% ของประชากรโลก 17) ตุรกี 71 ล้านคน (1.06% ของประชากรโลก) 18) อิหร่าน 70 ล้านคน (1.05% ของประชากรโลก) 19) ฝรั่งเศส 65 ล้านคน (0.97% ของประชากรโลก) 20) ประเทศไทย 63 ล้านคน (0.94% ของประชากรโลก)
      
        จากสถิตินี้จะเห็นว่า ประเทศที่มีประชากรอยู่ในลำดับที่ถือว่าสูงนั้นคือ จีน อินเดีย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย บราซิล ปากีสถาน ในกรณีของประเทศไทยนั้นประชากรน้อยกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียด้วยกัน แต่มากกว่าคองโกซึ่งอยู่ในอันดับที่ 21 ซึ่งมี 62 ล้านคน มากกว่าอังกฤษอันดับ 22 ซึ่งมี 61 ล้านคน มากกว่าอิตาลีอันดับที่ 23 ซึ่งมี 60 ล้านคน
      
        จากตัวเลขที่ยกมานี้ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ถ้าพูดในแง่ประชากรประกอบกับตัวแปรอื่นประเทศที่เป็นมหาอำนาจในศตวรรษ หน้าที่เห็นชัดคือ จีน อินเดีย สหรัฐฯ บราซิล รัสเซีย ญี่ปุ่น นอกเหนือจากนั้นก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ในกรณีของประเทศไทยนั้นจำนวนประชากรมี 63 ล้านคน หรือ 64 ล้านคน ตามสถิติล่าสุด เป็นอันดับที่ 20 ของโลกในจำนวนประเทศทั้งหมด 221 ประเทศ จะเห็นได้ว่าเรามีประชากรมากพอที่จะเข้าข่ายทฤษฎีของศาสตราจารย์ออร์แกนสกี้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่คุณภาพของประชากร อันได้แก่ จิตวิทยาที่ทันสมัย ระดับการศึกษา ข้อมูลความรู้ ซึ่งต้องเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมด้วย ที่สำคัญคือ การพัฒนาสังคมจะต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในส่วนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
      
        แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือตัวแปรที่หนึ่ง อันได้แก่การพัฒนาการเมือง เพราะระบบการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ยังไม่สามารถจะกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า ได้มีการจัดตั้งสถาบันเป็นระบบถาวรที่สามารถจะดำเนินอย่าต่อเนื่องและ ยั่งยืนได้ ในส่วนของสังคมนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งและยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ เพราะฉะนั้นถึงแม้ประเทศไทยจะมีประชากรเป็นลำดับที่ 20 ของโลก และมีสิทธิที่จะถูกพิจารณาที่จะเป็นประเทศมหาอำนาจระดับกลางตามทฤษฎีของ ศาสตราจารย์ออร์แกนสกี้ แต่ตัวแปรในส่วนอื่นก็ยังมีปัญหา ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้จะต้องแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษา และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในบางส่วน
      
        แต่ ที่สำคัญที่สุดคือจิตสำนึก ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ มีจิตวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยาที่ทันสมัย หรือค่านิยมและปทัสถานที่สอดคล้องกับการอยู่ในสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000027853

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น