Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552
“เครื่องสลายนิ่ว” ฝีมือคนไทย ลดค่าใช้จ่ายได้ 10 เท่า
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอ่ยถึง “นิ่วของอวัยวะระบบไต” หลายคนที่เคยรู้รสความเจ็บปวดจากเจ้าก้อนเล็กๆ ที่สร้างความทรมานและลดระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงต้องรับภาระค่ารักษาเรือนหมื่น คงจะเข็ดขยาดมันไม่น้อย ในทางการแพทย์เองก็พยายามคิดค้นนวัตกรรมการรักษาให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุด และได้รับประสิทธิภาพทางการรักษามากที่สุด จนในทุกวันนี้มีการใช้เครื่องสลายนิ่วในระบบไตที่เจ็บป่วยน้อยลง แต่เครื่องดังกล่าวก็จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้โรงพยาบาลต้องเสียงบประมาณในการซื้อเครื่องดังกล่าวจำนวนหลายล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ค่ารักษาในแต่ละครั้งสูงไปด้วย
นพ.ฐิติ เดชารักษ์กับรางวัลรางวัล Inventor Award ระดับดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จาก วช.
แต่ล่าสุดในขณะนี้ ได้มีคนไทยกลุ่มเล็กๆ ประดิษฐ์เจ้าเครื่องดังกล่าวได้เอง ซึ่งลดต้นทุนไปได้มากกว่า 10 เท่าเลยทีเดียว
นพ.ฐิติ เดชารักษ์ ตัวแทนของคณะผู้จัดทำ “เครื่องสลายนิ่วของอวัยวะระบบไตแบบภายนอกร่างกาย” ที่ ได้เพิ่งจะได้รับรางวัล Inventor Award ระดับดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ข้อมูลว่า โรคนิ่วในอวัยวะระบบไต เป็นโรคที่พบบ่อยติดอันดับ 1 ใน 10 โรคไม่ติดต่อของประเทศไทย พบได้ในทั้งเพศหญิงและชาย แต่พบในเพศชายมากกว่าเกือบ 10 เท่าของเพศหญิง
“โรค นี้เกิดเพราะความไม่สมดุลของระดับเกลือแร่ในร่างกาย บางคนดื่มน้ำน้อย ทำให้มีเกลือแร่มาก หรือบางคนดื่มน้ำมากแต่อาหารที่รับประทานเข้าไปมีเกลือแร่สูง ซึ่งจะพบมากในผักรสฝาดและขม หน่อไม้ ยอดอ่อนของพืชผักทั้งหลาย ถ้าเป็นคนที่รับประทานของเหล่านี้เยอะ ต้องดื่มน้ำมากๆ รวมไปถึงห้ามกลั้นปัสสาวะด้วย เพราะการกลั้นก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเช่นกัน นอกจากนี้การดื่มน้ำที่มีเกลือแร่หรือแคลเซียมมาก เช่นการดื่มน้ำบ่อที่มีสารเหล่านี้เจือปน ก็เป็นสาเหตุให้ป่วยได้”
นพ.ฐิติอธิบายต่อถึงอาการของโรคนิ่วในระบบไตว่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังร้าวไปถึงท้องน้อย ต้นขา หรืออวัยวะเพศ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะขัดหรือมีเลือดปน มีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อสด
“เครื่องสลายนิ่วของอวัยวะระบบไตแบบภายนอกร่างกาย”
“ไตเป็น 1 ใน 5 อวัยวะวิกฤตของชีวิต คือ คนที่จะมีชีวิตอยู่ได้จำเป็นต้องมีอวัยวะสำคัญ 5 ชิ้น คือสมอง หัวใจ ปอด ตับและไต แม้นิ่วในระบบไตไม่ได้ทำให้ตายทันที แต่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง การรักษานิ่วในระบบไตมีการพัฒนามาค่อนข้างเยอะ จากเดิมที่ใช้วิธีคล้องนิ่ว คือสอดท่อคล้องเข้าไปผ่านท่อปัสสาวะจนเข้าไปเจอก้อนนิ่ว แล้วก็คล้องลากออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างเจ็บมาก เพราะกว่าจะเอาออกมาได้ต้องครูดอะไรต่ออะไรมาเป็นทางยาว ต่อมาจึงเลิกใช้วิธีนี้ไป”
สำหรับยุคปัจจุบัน แนวทางการรักษาได้พัฒนามาหยุดที่การใช้เครื่องสลายนิ่ว โดยมีแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบที่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย โดยวิธีนี้เริ่มจากการหาพิกัดของก้อนนิ่วด้วยการเอ็กซ์เรย์ เมื่อพบแล้วก็จะสอดท่อเข้าไปในร่างกายไปจนถึงก้อนนิ่ว และปล่อยคลื่นเครียด ไปกระทบก้อนนิ่วเพื่อสลายและถูกป่นเป็นผง ก่อนจะหลุดออกมากับปัสสาวะ
แต่ปัญหาคือ การสอดอะไรเข้าไปในร่างกายก็เหมือนการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องถูกเตรียมตัวก่อนจะนำเข้าเครื่อง และค่อนข้างเสียเวลาพอสมควร ดังนั้น วิธีนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม วิธีที่นิยมมากกว่าคือการสลายนิ่วจากภายนอกซึ่งจะปล่อยคลื่นจากภายนอก ไม่ต้องสอดอะไรเข้าไปในร่างกาย อาจจะเกิดความเจ็บปวดบ้าง แต่ไม่มาก เพราะคลื่นสลายนิ่วจะต้องถูกปล่อย 1 วินาทีต่อครั้ง เพื่อไปกระแทกก้อนนิ่วให้เล็กลงหรือแตกออก ซึ่งปกติจะทำ 3 พันช็อตต่อ 1 ครั้ง
เด็กนักเรียนกำลังสังเกตการทำงานของเครื่อง ด้วยการสาธิตการยิงแท่งชอล์กด้วยเครื่องจากเครื่องสลายนิ่วอย่างสนใจ
“ทุกวันนี้เรา ใช้เครื่องสลายนิ่วที่ว่านี้จากการนำเข้า ซึ่งมีราคาสูงคือประมาณ 8-37 ล้านบาท ทำให้ค่ารักษาต่อครั้งจะสูงอยู่ที่ประมาณครั้งละ 40,000 บาท ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมและทีมงานคิดจะประดิษฐ์เครื่องสลายนิ่ว ของคนไทยขึ้นมาเอง เรามีคติว่า ต้องถูก ต้องเก่ง ต้องดี ทีมงานของผมมีวิศวกรประมาณ 4-5 คน เป็นคนไทยทั้งหมด ทุกคนมีฐานะในระดับหนึ่ง และไม่ได้คิดว่าจะทำเครื่องนี้ขึ้นมาเพื่อหวังร่ำรวย แต่เราคิดว่า ยังมีโรคเรื้อรังอีกมากที่รักษาไม่หายขาด แต่นิ่วในระบบไตถ้ารักษาจะหายขาด หากเราทำได้เองไม่แพง รักษาโรคนิ่วได้โดยคนไทย มันก็เหมือนว่าเราแก้ปัญหาของชาติได้เรื่องหนึ่งนะ ที่สำคัญ รักษาครั้งละ 40,000 คนยากคนจนไม่มีกำลัง คนต่างจังหวัดอาจจะเข้าไม่ถึง”
นพ.ฐิติ อธิบายว่า เครื่องสลายนิ่วของอวัยวะระบบไตแบบภายนอกร่างกายที่พัฒนาขึ้นนี้ พยายามจะใช้วัสดุในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่บางส่วนก็จำเป็นต้องนำเข้า เช่นหัวเอ็กซเรย์ ซึ่งต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น และมีราคาสูงที่สุดในบรรดาชิ้นส่วนทั้งหมด
“จาก ที่เคยนำเข้าเครื่องละสามสิบเจ็ดล้าน เราพัฒนาจนสามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่า 10 เท่า เครื่องที่เราทำขึ้นมานี้ราคาเพียง 3 ล้านเท่านั้นครับ และนั่นแปลว่าในการรักษาแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องรับภาระก็จะถูกลง คิดคร่าวๆ จะตกครั้งละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงการรักษาของคนยากจนและคนต่างจังหวัด โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่มีกำลังไม่มากก็ซื้อเอาไว้ใช้ได้ ส่วนตอนนี้ทางเราก็เริ่มให้บริการแล้วครับ แต่เป็นการให้บริการแบบเช่า ตอนนี้ที่โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ และโรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก็ติดต่อขอเช่าเมื่อมีคนป่วยโรคนี้ ส่วนในเรื่องการจดสิทธิบัตรเครื่องนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการครับ” นพ.ฐิติ กล่าวทิ้งท้าย
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000031647
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สาธุ ครับผม
ตอบลบ