++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

“ศูนย์สุขภาพชุมชน” ต้นแบบ ใกล้บ้านใกล้ใจ...เล็กๆ แต่งดงาม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
คลินิกชุมชนเมืองแกนพัฒนา
       ผลพวงของแนวคิดที่ต้อง การให้คนในชุมชนหันมาช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่สุขภาพซึ่งกันและกัน ได้ก่อให้เกิดการผลักดันโครงการ “หน่วยปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ” และในที่สุดด้วยความร่วมมือร่วมใจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขทำให้เกิด “ศูนย์สุขภาพชุมชุม” หรือ “คลินิกแพทย์ชุมชน” ขึ้น
      
       ปรัชญาของศูนย์แห่งนี้ ก็คือ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยยามใด ชาวบ้านก็จะนึกถึงเป็นอันดับแรก
      
       คลินิกชุมชนเมืองแกนพัฒนา และศูนย์แพทย์ชุมชนสันทราย จ.เชียงใหม่ ถือเป็นต้นแบบของศูนย์แพทย์ชุมชน ที่มีจุดเด่นในการที่สามารถร่วมมือกับเทศบาลและมีทีมดูแลสุขภาพประชาชนในเขต ความรับผิดชอบอย่างครบวงจร อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น แพทย์ พยาบาล บุคลากรต่างให้บริการด้วยหัวใจ สร้างความกลมเกลียวผูกผันระหว่างคลินิกชุมชนกับชาวบ้าน
      
       ** เมืองแกนพัฒนาเขตปลอดวัณโรค
       จรัส ไชยยา นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแกน จ.เชียงใหม่ อีกหนึ่งแรงความร่วมมือในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก เล่าว่า คลินิกชุมชนเมืองแกนพัฒนาเกิดขึ้นได้เพราะได้รับความร่วมมือระหว่างโรง พยาบาลแม่แตง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่แตง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้ทำงานด้วยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันผูกพันกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการรพ.สาธารณสุขอำเภอ ทุกคนรู้จักกันหมดและมีเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ประชาชน จุดเริ่มต้นจึงเริ่มจากตรงนี้
      
       ปัจจุบันศูนย์แพทย์ชุมชนแห่งนี้ดูแลประชาชน 16 หมู่บ้าน ประมาณ 13,000 คน โดยมีมีแพทย์และพยาบาลมาทำการตรวจรักษาทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่ 08.30-16.30 น.รวมวันละ 8 ชั่วโมง มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และรถพยาบาลบริการรับส่งผู้ป่วยจากบ้านถึงศูนย์แพทย์ ชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง มีการตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยเน้นการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจหลอดเลือด รวมถึงการดูแลผู้ป่วยวัณโรคอย่างครบวงจรโดยเฉพาะการติดตามการให้ยาต่อเนื่อง
      
       “เทศบาล เมืองเมืองแกนจะสนับสนุนงบประมาณ การบริหารจัดการ ส่วนบุคลากร ยา เวชภัณฑ์จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปีละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยในอนาคตเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนามีโครงการขยายเวลาให้บริการนอกเวลา โดยจะให้แพทย์ทำการรักษาจนถึงเวลา 20.00 น.และเสาร์-อาทิตย์ครึ่งวัน รวมถึงการยกระดับเป็นโรงพยาบาลชุมชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเต็ม ที่”
      

เมื่อมีศูนย์แพทย์ชุมชนใกล้บ้าน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ที่สำคัญคือมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเยี่ยมถึงบ้านเลยทีเดียว
       จรัส เล่าอีกว่า ส่วนการเยี่ยมบ้านภายใต้โครงการ “ใกล้บ้านใกล้ใจ หรือ (Home Health Care) นั้น ทุกบ้านจะมีสมุดประจำครอบครัวเยี่ยมบ้าน โดยจะมีทีมสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหมู่บ้าน พยาบาล นักวิชาการร่วมกับนักกายภาพบำบัด หรือแพทย์แผนไทย นักจิตวิทยาคลินิกและชุมชน และอาสาสมัครสามาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่ดูแลเยี่ยมบ้าน
      
       ทั้งนี้ เมื่อประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ผู้ป่วยลดลงโดยเฉพาะวัณโรคซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยในชุมชนเป็นจำนวนมาก องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงได้สนับสนุนการฝึกอบรมอาสาสมัครวัณโรคในทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน และจ่ายค่าตอบแทนในการดูแลผู้ป่วย 1,500 บาทต่อราย รวมทั้งการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งผลที่ได้คือ อัตราผลสำเร็จในการรักษาหาย คือ 100% มีผู้ป่วยวัณโรคเหลือเพียง 5 รายเท่านั้น
      
       **ใกล้บ้าน...ไม่ต้องรอนาน...หมอบริการดี
       หันมาฟังเสียงผู้ใช้บริการกันบ้าง...
       ดวงเดือน ศรีวิชัย วัย 42 ปี อาชีพค้าขาย ซึ่งได้พาลูกสาววัย 13 ปี มาตรวจถุงน้ำบริเวณข้อมือ บอกว่า ใช้สิทธิบัตรทองมารักษาที่คลินิกชุมชนเมืองแกนพัฒนาตั้งแต่เริ่มเปิดใหม่ๆ ก็มารักษาที่นี่มาตลอดทั้งครอบครัว เพราะอยู่ใกล้บ้าน บริการดี ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ สะดวกสบาย และมีความพร้อมทุกอย่าง
       ขณะที่ ลุงจันทร์ เต็มมิถุนา วัย 65 ปี ซึ่งป่วยด้วยโรควัณโรค บอกว่า กินยาต่อเนื่องมา 3 เดือนแล้ว โดยต้องกินยากว่า 10 เม็ดให้ครบตอนช่วง 2 ทุ่มทุกวัน ซึ่งจะมี อสม.มาคอยดูจนกว่าจะกินยาทั้งหมดเรียบร้อย และพอกินยาแล้วง่วงก็จะนอนหลับเลย ทำให้ไม่ลำบากเหมือนที่ผ่านมา
      
       ด้าน ดวงพร เตมีศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ และหัวหน้าพยาบาล รพ.แม่แตง บอกว่า การบริการของคลินิกจะเน้นเชิงรุก เน้นการเยี่ยมบ้านมากว่าการตั้งรับตรวจรักษาอยู่แต่ในโรงพยาบาล แต่ระบบบริหารจัดการทุกอย่างเหมือนโรงพยาบาลทั้งหมด ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยมีผู้มาเข้ารับบริการ 70 คนต่อวัน ในช่วงเช้าจะเป็นการตรวจคนไข้ ส่วนตอนบ่ายจะลงพื้นที่ชุมชน ถือเป็นการช่วยลดภาระให้กับทั้งโรงพยาบาลและสถานีอนามัยเดิมที่มีอยู่แล้ว

นพ.อำพร เอี่ยมศรี ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ชุมชนสันทราย ลงพื้นที่เยี่ยมคนไข้
       “เมื่อลงไปดูพื้นที่จะ เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้สูงอายุถือเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ดูผิวเผินอาจไม่มีอะไร แต่แท้จริงแล้ว ผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะอยู่คนเดียวไม่มีลูกหลานคอยดูแลขาดความอบอุ่น การที่เจ้าหน้าที่ลงไปเยี่ยมเยียนอย่างน้อยก็เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ”ดวงพรให้ภาพการทำงาน
      
       **ศูนย์แพทย์ชุมชนนำร่องแห่งแรก
       ส่วน ศูนย์แพทย์ชุมชนสันทรายนั้น ถือเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยเน้นการส่งเสริมป้องกันโรคโดยเน้นการดูแลแบบสหวิชาชีพ มีการอบรมญาติผู้ป่วยให้เข้าใจในกระบวนการวิธีดูแลผู้ป่วย การทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ
      
       นพ.อำพร เอี่ยมศรี ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ชุมชนสันทราย เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่เป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่า เป็นมีคนไข้มาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัด โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง อุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
       ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหา คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย สาธารณสุขอำเภอสันทรายเป็นแกนนำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลตำบลสันทรายหลวง ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ได้ร่วมกันพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนบานท่อ หรือจากเดิมที่เป็นสถานีอนามัยบ้านท่อ จัดตั้งเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนนำร่อง
      
       จนกระทั่งวันที่ 27 สิงหาคม 2550 จึงมีการเปิดให้บริการศูนย์แพทย์ชุมชนสันทรายเป็นครั้งแรกบทพื้นที่ 90 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ของเทศบาลตำบลสันทรายหลวงห่างจากโรงพยาบาลสันทราย 15 กิโลเมตร ดูแล 9 หมู่บ้าน 3 ตำบล กว่า 3 หมื่นคน
      
       สำหรับในตำบลสันทรายหลวง มีประชากร 6,707 คน มีแพทย์และพยาบาลให้บริการเป็นประจำทุกวันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.ส่วนช่วงบ่ายลงพื้นที่เยี่ยมบ้านช่วง 16.30-18.30 น.วันหยุดเสาร์และอาทิตย์ให้บริการ 09.00-12.00 น.เน้นการบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานบทพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชน ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ย1,460 ครั้งต่อเดือน หรือ 47 คนต่อวัน เพิ่มจากเดิมที่มีผู้มาใช้บริการ 1,125 คนต่อเดือน หรือ 38 คนต่อวัน
      
       นพ.อำพร ยกตัวอย่างกรณีของพ่อแก้ว คนต้นแบบของชุมชน ที่เป็นเบาหวานมา 22 ปี แล้วแต่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ ไม่เคยมีภาวะแทรกซ้อน ที่สำคัญสุขภาพจิตดี เป็นคนที่เป็นเบาหวานอย่างมีความสุข และได้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้ป่วยเบาหวานรายอื่นๆ อีกด้วย

ลุงจันทร์ เต็มมิถุนา ซึ่งป่วยด้วยวัณโรคกำลังรับประทานยากองโตต่อหน้าต่อหน้าอสม.
       “แน่นอนจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไปโรงพยาบาลลดจำนวนลง อีกทั้งยังไม่ต้องเดินทางไกลซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ อย่างมาก ประกอบกับการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองโดยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น
      
       **ปลุกกำลังใจป้าบัวจิ๋น...คนสู้ชีวิต
       อีก ส่วนผสมที่มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครคือ อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทำงานร่วมกันกับทีมแพทย์ พยาบาลในการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชุมชน นภัส ศรสุวรรณ ประธานอสม.บ้านต้าซาง วัย 52 ปี เล่าว่า เริ่มเป็น อสม.ได้ 15 ปี โดยดูแลสมาชิกในหมู่บ้าน 4-5 ครอบครัว โดยครอบครัวของป้าบัวจิ๋นวัย 53 ปี และลูกชาย วัย 32 ปี ถือว่ามีปัญหาหนักมากที่สุด เพราะป้าบัวจิ๋นมีปัญหาทั้งสุขภาพเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก และไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านจิตใจ เพราะต้องมารับภาระดูแลลูกชายวัย 30 ปี ซึ่งสภาพไม่ต่างจากเด็ก 7-8 ขวบ เนื่องจากพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ รวมทั้งหลานอีก 1 คน
      
       “บ้าน เราอยู่ใกล้ๆ กัน รู้จักกันมานาน พอป่วยก็พาไปหาหมอ เมื่อก่อนป้าบัวจิ๋นก็เป็น อสม.เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย พอสามีตายแล้วลูกชายมาเป็นแบบนี้ยิ่งทำให้ป้าเครียด ก็จะพยายามประสานงานให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ มาเยี่ยมพูดคุยให้กำลังใจ หานมของเล่นมาให้เด็กๆ ซึ่งป้าบัวจิ๋นและครอบครัวก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ทางโรงพยาบาลเขาก็มาบ่อย 3-5 วันครั้ง”
      
       นพ. วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ได้สรุปโครงการพัฒนาการจัดบริการของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิที่มี ศักยภาพไว้ว่า คงไม่มีใครอยากไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพื่อรอคิวการรักษานานๆ หรือไม่ได้รับการสนใจเพราะมีผู้ป่วยรายอื่นที่มีอาการหนักกว่ารุนแรงกว่ารอ อยู่ เมื่อเทียบกับการเข้ารับบริการที่หน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลซึ่งจะได้รับการ ดูแลและการให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามหน่วยบริการปฐมภูมิจะเข้มแข็งได้จะต้องให้ประชาชนตระหนักและ เห็นความสำคัญว่าหน่วยปฐมภูมิมีประโยชน์ในอีกแง่มุมหนึ่งอย่างไรบ้าง
      
       “อย่างน้อยหน่วยบริการปฐมภูมิก็มีข้อดีเนื่องจากมีความใกล้ชิดกับ ชุมชน ใกล้บ้านใกล้ใจ หมอรู้ว่าผู้ป่วยมีความเชื่ออย่างไร ผู้ป่วยก็กล้าที่จะถาม หารือ ปรึกษาเพราะสนิทใจมากกว่าหมอที่ไม่เคยรู้กันมาก่อนเลย ซึ่งหมอในศูนย์การแพทย์ชุมชนนอกจากจะช่วยเยียวยาสุขภาพร่างกายแล้วยังมีความ สามารถเป็นผู้เยียวยารักษาใจของผู้ป่วยและญาติได้ดีกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น หากถามว่าใครเก่งกว่ากันนั้น น่าจะเรียกว่าเก่งกันคนละด้าน เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดูแล้วน้ำตาลก็ไม่ดี แผลก็เริ่มลามเน่าจนต้องตัดขาทิ้งหมอที่ผ่าตัดขา กับหมอที่ทำให้คนไข้มีกำลังใจ ใครจะเก่งกว่ากันหากหมอที่ให้กำลังใจช่วยให้ผู้ป่วยลุกกลับขึ้นมาสู้ชีวิต ใหม่ได้อีกครั้ง” นพ.วินัย สรุป

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000015853

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น