++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

พบสาวส่วนใหญ่อารมณ์เหวี่ยง ก่อนมีประจำเดือน ชี้ ขี้วีนรุนแรง คลุ้มคลั่งเสี่ยงซึมเศร้า

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

       หมอชี้กว่า 90% พบสาวอารมณ์เหวี่ยง ขี้หงุดหงิด ก่อนมีประจำเดือน เพราะฮอร์โมนลด แนะกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไฟเบอร์สูงช่วยรักษาน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เตือนอารมณ์แปรปรวนมาก ขี้วีนรุนแรง คลุ้มคลั่งเสี่ยงซึมเศร้า เข้าสังคมไม่ได้ กระทบชีวิตครอบครัว การทำงานต้องพบจิตแพทย์
      
       วันนี้ (1 เม.ย.) ที่โรงแรมเจดับบิว แมริออท ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณะบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวใน “งานสตรีไทยห่างไกลวิกฤติทางอารมณ์ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันกับ 24/4” ว่า กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome : PMS) คือ อาการทางกายและใจที่เกิดขึ้นกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ในช่วงเวลา 5-10 วัน ก่อนมีประจำเดือน อาการจะดีขึ้นและหายไปหลังประจำเดือนมาแล้ว ซึ่งสาเหตุของอาการยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในระหว่างรอบประจำเดือน คือ ฮอร์โมนจะลดต่ำลงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งความรุนแรงของอาการแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุเช่น ลักษณะการใช้ชีวิต ความเครียด และกรรมพันธุ์
      
       “อาการ ก่อนมีประจำเดือนที่พบได้บ่อยๆ คือ คัดตึงเต้านม แขนหรือขาบวม ปวดศีรษะไมเกรน ท้องอืด น้ำหนักขึ้น อยากอาหารมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ เครียด วิตกกังวล แต่หากเป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง (Premenstrual Dysphoric Disorder : PMDD) จะมีอาการของโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง กังวลมาก เครียดอย่างรุนแรง อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจนเข้าสังคมไม่ได้ บางรายอาการรุนแรงมากจนรู้สึกว่าจะคลุ้มคลั่ง ถือว่าเป็นโรคต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ด้วยการใช้ยาปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องพบจิตแพทย์และใช้ยากล่อมประสาท รักษาอาการซึมเศร้า”ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
      
       ศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า วิธีปฏิบัติสำหรับผู้มีอาการก่อนมีประจำเดือนสามารถทำได้ คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกสมาธิให้จิตใจสงบ พักผ่อนให้เพียงพอ บริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เน้นคาร์โบไฮเดรตที่มีไฟเบอร์สูงมากขึ้น เช่น ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท เพราะอาการหารเหล่านี้ใช้เวลาย่อยนานกว่า ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ลดอาหารเค็มจัดหรือมีเกลือสูง ลดเครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด แต่หากยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ต่อไป
      
       ด้านพญ.นันทา อ่วมกุล ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล เรื่อง “ภาวะทางอารมณ์และประสบการณ์เกี่ยวกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในสตรี” ระหว่างวันที่ 5-23 มีนาคม โดยทำการสำรวจกลุ่มนิสิต นักศึกษา สตรีวัยทำงานอายุระหว่าง 18-35 ปี จำนวน 1,057 คน แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 503 คน ต่างจังหวัด จำนวน 554 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91.20 มีอาการไม่พึงประสงค์ก่อนมีประจำเดือน ในจำนวนนี้กว่าครึ่ง หรือร้อยละ 51.87 มีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นประมาณ 2-3 อาการ อีก ร้อยละ 21.05 มีอาการไม่พึงประสงค์ถึง 4-5 อาการ โดยอาการที่เกิดมากที่สุดร้อยละ 19.24 คือ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวนโดยไม่ทราบสาเหตุ รองลงมาร้อยละ 17.88 คือ อาการคัดตึงเต้านม ร้อยละ 8.22 อยากรับประทานอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งร้อยละ 51.94 จะมีอาการทุกเดือนก่อนมีประจำเดือน
      
       “ปัจจุบัน สตรีไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะเครียด หงุดหงิดและอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ภาระหน้าที่ทั้งการงานครอบครัว เศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายก่อนมีประจำเดือน ซึ่งก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ก่อนมีประจำเดือน แต่ส่วนมากไม่รู้จักและไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการ”พญ.นันทา กล่าว
      
       พญ.นันทา กล่าวต่อว่า กรมอนามัย ร่วมกับ ไบเออร์ เชริง ฟาร์มา จัดทำแบบทดสอบ “ร่างกายและอารมณ์” เพื่อหาคำตอบว่าอารมณ์หงุดหงิดหรือที่เรียกว่า “เหวี่ยง” มาจากอาการหรือนิสัย โดยใช้โค้ดลับ 24/4 คือ การสังเกตอาการผิดปกติ 24 อาการ เป็นเวลา 4 เดือน โดยการจดบันทึกและหากพบว่ามีอาการควรปรึกษาแพทย์ เช่น อาการคัดตึงเต้านม ปวดศีรษะไมเกรน เครียด อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยง่าย ซึมเศร้าและวิตกกังวลอย่างชัดเจน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ จะเกิดก่อนมีประจำเดือนจึงถือว่าเป็นความผิดปกติทางฮอร์โมน โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มืออารมณ์ดี 24/4 ได้ที่ www.24-4secret.com


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000037096

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น