++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2552

ม.รังสิตโชว์กึ๋นนำผลผลิตทำหนังโฆษณา 27 เรื่อง 27 คณะ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยรังสิตทุ่มสุดตัวทำหนังโฆษณาคณะ 27 เรื่อง โดยใช้ผลผลิตจากคณะนิเทศศาสตร์ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน พร้อมทำหนังโฆษณามหาวิทยาลัยอีก 1 เรื่อง ชูธง “สร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย” ตามแนว CSR ภายใต้สโลแกน “สร้างบัณฑิตรู้ลึก สร้างสำนึกเพื่อสังคม”

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สถาบันการศึกษาต่างๆ กำลังเร่งโฆษณา – ประชาสัมพันธ์ กันอย่างหนัก เพื่อดึงนักเรียนที่กำลังจะเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2552 ล่าสุดมหาวิทยาลัยรังสิต ทุ่มทุนสร้างหนังโฆษณาทั้ง 27 คณะที่เปิดสอนในปัจจุบัน พร้อมทำหนังโฆษณามหาวิทยาลัยอีก 1 เรื่อง

หนังโฆษณาคณะใช้ผลผลิตจากคณะ

ทั้งนี้ “สุภัทร เอกกุล” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการตลาด มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าตามปกติแล้วหนังโฆษณาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ นำเสนอจะเป็นการนำสิ่งที่ทางสถาบันการศึกษานั้นๆ คิดว่าตัวเองมีความโดดเด่นที่สุดมานำเสนออาทิ ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของตัวเองกับสถาบันการศึกษาต่างชาติ หรือการผลิตบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือมีเทคโนโลยีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย

“สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ได้ประกาศแนวทาง “สร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย” ให้มหาวิทยาลัยรังสิตไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมอย่างชัดเจน เพราะว่ามหาวิทยาลัยคือขุมพลังแห่งปัญญาของชาติ มหาวิทยาลัยรังสิตจะไม่ตั้งอยู่บนหอคอยงาช้าง เราต้องให้อะไรแก่สังคม เพราะเราเองก็เป็นสมาชิกของสังคมด้วย
เราจึงไม่ต้องการสร้างบัณฑิตที่เป็นคนเก่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นบัณฑิตที่มีสำนึกต่อสังคม”

นอกจากนี้ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการตลาด มหาวิทยาลัยรังสิต ยังกล่าวอีกด้วยว่าการผลิตหนังโฆษณาครั้งนี้ ยึดหลัก CSR ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ต้องการเป็นที่พึ่งให้แก่สังคม โดยอาศัยวิชาการ องค์ความรู้หรือภูมิปัญญาจากคณะวิชาต่าง และสอดคล้องกับแนวทางหลักของมหาวิทยาลัยคือ ‘สร้างบัณฑิตรู้ลึก สร้างสำนึกเพื่อสังคม’

“ในฐานะที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีจำนวนคณะ สาขา หลักสูตร ที่ตอบสนองความต้องการได้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการนำจุดแข็งของแต่ละคณะมานำเสนอเป็นหนังโฆษณา 27 เรื่อง เพื่อที่จะลงไปในรายละเอียด เจาะเข้าไปในแต่ละคณะ” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการตลาด มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าว

ด้านโปรดิวเซอร์ผู้ผลิตหนังโฆษณา 27 เรื่องในครั้งนี้ “อาจารย์ไกรสร วงศ์อนันต์ศักดิ์” อาจารย์ประจำสาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์กล่าวว่า เขามอง ม.รังสิต เป็นสถานที่ที่นักศึกษาสามารถเลือกชีวิตของตัวเองได้อย่างที่ตัวเองเป็น

“ผมต้องการที่จะนำเสนอบุคลิกของทั้ง 27 คณะ เพราะแต่ละคณะจะมีบุคลิกหรือจุดเด่นแตกต่างกัน บางคณะไม่จำเป็นต้องนำเสนอภาพบรรยากาศการเรียนเพราะเป็นทีรู้กันดี บางคณะต้องพยายามสื่อความหมายว่าเรียนจบแล้วสามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง หรือบางคณะเกี่ยวข้องกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

นี่เป็นเหตุผลทำให้ทางทีมงานต้องทำการวิจัยแต่ละคณะ เพื่อหามุมมองที่จะนำเสนอจุดเด่นของคณะนั้นๆ และนำมาเป็น Key message ให้ตอบรับกับบุคลิกของแต่ละคณะ และต้องไม่หนีไปจากสโลแกนของมหาวิทยาลัย”

สำหรับการทำงานหนังโฆษณาทั้ง 27 ชิ้น โปรดิวเซอร์ระบุใช้ทีมงานซึ่งเป็นผลผลิตจากคณะนิเทศศาสตร์เป็นหลัก โดยใช้นักศึกษาปัจจุบันจากสาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 20 คน และศิษย์เก่า 10 คน มาช่วยในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การหาแนวคิด ทำการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูล เขียนสคริป เตรียมงานถ่ายทำ ตัดต่อ ลงเสียง ใส่กราฟิก

“ผู้กำกับซึ่งเป็นศิษย์เก่าจะเป็นผู้คุมกองถ่าย และเปิดโอกาสให้นักศึกษาปัจจุบันหมุนเวียนกันมาทำงานในด้านการผลิตด้วย” โปรดิวเซอร์ผู้ผลิตหนังโฆษณาคณะกล่าว

หนังโฆษณาภาพรวมชูธง “สร้างสรรค์สังคมธรรมาธิปไตย" ตามเเนว CSR

จากหนังโฆษณามหาวิทยาลัยรังสิตเมื่อปีก่อนที่เลือก “หมอม้ง” ซึ่งนำเอาเรื่องราวชีวิตจริงของนายแพทย์กันตพงศ์ เล่าลือพงศ์ศิริ ชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งได้รับทุนการศึกษาเป็นกรณีพิเศษจากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ได้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ช่วยเหลือสังคม รักษาผู้ป่วยยาเสพติด ตามอุดมการณ์ของหมอม้งที่ว่า “ม.รังสิตให้โอกาสผม ผมจะช่วยคนด้อยโอกาส” มาเป็นธงนำในการโฆษณา

มาปีนี้ “สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าตอนแรกที่ประชุมทีมงานเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารประเด็นในงานโฆษณา ก็มีโจทย์ให้เราต้องคิด หาทางออกให้ได้ เพราะแม้หนังโฆษณาหมอม้งจะประสบความสำเร็จ มีเสียงตอบรับ ชื่นชม
เป็นจำนวนมาก แต่ก็กังวลเกี่ยวกับบุคลิกของหนัง ซึ่งมันจะสะท้อนเป็นบุคลิกของแบรนด์ (ม.รังสิต) ไปด้วย

“การหยิบเรื่อง CSR มาคุยกับกลุ่มเป้าหมาย หลักๆ คือ CSR ต้องการความจริงจัง ผู้ชมมักจะรู้สึกว่านั่นเป็นองค์กรที่ดี เสียสละ ไม่มุ่งแต่แสวงหากำไร กลุ่มผู้ใหญ่ ผู้ปกครองชอบ
แต่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นอาจจะเฉยๆ เพราะเรื่องใหญ่ในชีวิต สิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขาคือคำถามต่ออนาคตว่า เข้ามาเรียนแล้วจะมีความสุขไหม เมื่อเรียนจบไปแล้วจะมีงานทำ หรือจะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างที่เคยฝันเอาไว้หรือเปล่า

ซึ่งหนังโฆษณาประเภทที่นำกรณีตัวอย่างความสำเร็จของรุ่นพี่มาเป็นแรง บันดาลใจให้รุ่นน้องจะทำได้ง่ายกว่า แต่ของเราปีนี้ เราเพิ่มมิติให้ลึกขึ้น ไม่ต้องเลือกระหว่าง CSR กับ Success Stories โดยชี้ให้เห็นว่าตัวเราและสังคมสามารถประสบความสำเร็จไปด้วยกัน บัณฑิตก็ประสบความสำเร็จ และสังคมก็มีความสุข”

นอกจากนี้ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์กล่าวอีกด้วยว่า ประเด็นหลักที่บอกว่าเป็น CSR ของมหาวิทยาลัยรังสิตในภาพยนตร์โฆษณาครั้งนี้ คือการส่งต่อความรู้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิตสู่สังคม แต่การส่งต่อความรู้นี้ ไม่ได้เป็นสถานะของตัวเองเป็นผู้ให้ แต่เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้าน โทนหรืออารมณ์ของหนังจึงต้องการให้ดูแล้วยิ้ม และมีความสุข

“ผม คิดว่า CSR มันไม่ใช่เรื่องของคนรวยช่วยคนจน คนมีโอกาสช่วยคนด้อยโอกาส คนเมืองใหญ่ช่วยคนชนบท หรือต้องเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ ร่ำรวย แล้วถึงจะเสียสละ บุคลิกแบบนั้นจะดูกร่างๆ ไม่ใช่ CSR

หัวใจหลักของ CSR มันน่าจะเป็นเรื่องดีเอ็นเอ หรือความดีงามที่อยู่ภายใน ไม่ว่าจะในฐานะของมนุษย์ปุถุชน หรือในฐานะองค์กร ที่ทุกคนสามรถช่วยกัน คนละไม้ คนละมือ สร้างตัวอย่างความดีงามเล็กๆ ของตัวเอง”

ด้านมุมมองของผู้รับหน้าที่เป็นครีเอทีฟในการทำหนังโฆษณามหาวิทยาลัยรังสิตในปีนี้ “อวิรุทธิ์ ไพบูลย์อัตถกิจ” ครีเอทีฟ บริษัท โปสการ์ด จำกัด กล่าวว่า แนวทางการสร้างสรรค์ชิ้นงานโฆษณาสถาบันการศึกษาหากมองจากเมื่อ 5 - 6 ปีก่อน จะไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เลย
ยุคนี้ดุเดือดขึ้นเยอะ มองง่ายๆ ถึงคนไม่มองเรื่องของไอเดีย เห็นแต่ในแง่ของ Value Production

ต้องยอมรับว่ายุคนี้ทุ่มทุนเยอะมาก ส่วนเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ นั้นเมสเซสของ ม.รังสิต ล้ำหน้ากว่าที่อื่น จากที่เคยพูดเรื่อง Success Stories คุณภาพของนักศึกษา ก็ขยับไปพูดเรื่องที่ใหญ่ขึ้น

“ถ้าเปรียบเทียบ ม.รังสิตเป็นคน ก็จะเป็นคนที่ค่อยๆ โตขึ้น เป็นคนที่ตกตะกอนในความคิดของตัวเองมากขึ้น จากคนที่มีพลังของความหนุ่มสาว มีความทะเยอทะยานอยากไขว่คว้าหาความสำเร็จ แล้ววันนี้รู้สึกว่าความสำเร็จเหล่านั้นสามารถไปทำอะไรเพื่อให้สังคมดีขึ้น ได้ ตรงนี้คือการคิดแบบคนที่โตขึ้น

ผมว่าเด็กจบ ม.6 เดี๋ยวนี้เห็นอะไรมากขึ้น โลกอินเทอร์เน็ตทำให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้มากกว่าสมัยก่อน เพราะฉะนั้น การจะสร้างหนังโฆษณาออกมาสักเรื่องหนึ่ง แต่ละสถาบันต่างแข่งขันกันว่าใครแปลกใหม่กว่ากัน ทั้งในแง่ของไอเดียและภาพที่นำเสนอ ต้องงัดจุดดีของตัวเองมาพูด
แต่ก็อยู่ที่ความล้ำหน้าในแง่ของวิธีคิดใครเจ๋งกว่ากัน

เชื่อว่าคุณภาพการเรียนการสอนทุกที่มีมาตรฐาน จึงเป็นความท้าทายของคนทำงานครีเอทีฟที่จะงัดกลเม็ดเด็ดพรายออกมา จึงไม่น่าแปลกใจที่การทำหนังโฆษณาสถาบันการศึกษาทุกวันนี้มีความพิถีพิถัน มากขึ้น Value Production หรือคุณค่าของภาพที่เห็นสวยงามขึ้น สมัยก่อนก็จะใช้เพียงกล้องแพนภาพไปมาเรื่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้มีการใช้เทคนิคแพรวพราว”

ในขณะที่ ศิวกร จารุพงศา ผู้กำกับหนังโฆษณาจากบริษัท วิ้งค์ วิ้งค์ จำกัด (Wink Wink Production) กล่าวถึงจุดเด่นของหนังโฆษณามหาวิทยาลัยรังสิตปีนี้ว่า หนังโฆษณาตัวนี้ไม่ใช่โฆษณาที่ตั้งใจทำให้คนดูรู้สึกโอ้โหไปกับมัน เพราะกำลังพูดในสิ่งที่มหาวิทยาลัยอื่นยังไม่เคยพูดถึง

“เราพูดถึงโครงการจริงที่มหาวิทยาลัยรังสิตทำมาเป็น 10ปีๆ นั่นคือเรื่องการให้โอกาสนักศึกษาได้ทำงานวิจัยหรือทำโครงการต่างๆ ซึ่งเข้าไปสู่ชุมชนจริงๆ ดังนั้น ตั้งแต่แรกก็ไม่ตั้งใจจะสร้างภาพให้มันดูฮือฮา หนังทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความจริง สิ่งที่นักศึกษาได้ลงมือทำจริงๆ ความสุขที่นักศึกษาเหล่านั้นจะได้รับเวลาที่ทำประโยชน์เพื่อชุมชน ตรงนี้คือสิ่งที่หนังถ่ายทอดออกมามากกว่า เป็นแนวอีโมชั่นนอล (Emotional) ที่คนดูแล้วมีรอยยิ้ม

เสน่ห์ของหนังอยู่ที่ความรู้สึกจริง แล้วก็ความรู้สึกดีๆ ที่อยากให้คนดูได้รู้ว่าเด็กที่เข้าไปทำโครงการรู้สึกอย่างไร การถ่ายทำจึงไม่อยากให้ภาพออกมาเป็นการจัดสร้าง จัดทำอะไรกันมากๆ วิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพที่เรียบง่าย การเลือกใช้ภาพขาวดำสีแบบโมโนโทนยิ่งทำให้หนังดูจริงใจ การวางเฟรมเป็นพาโนราม่าก็เพื่อให้เหมือนหนังใหญ่ ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ ดูแกรนด์ ดูแล้วรู้สึกอิ่มเอมใจ”....

//////////////////////

รวบ 4 โครงการจริง จากทั้งหมด 120 โครงการ เป็นหนังโฆษณา 1 เรื่อง

จากกิจกรรมเพื่อสังคมกว่า 120 โครงการของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ตอบสนองความต้องการในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคม ได้รับการคัดเลืทอกจนเหลือ 4 โครงการ เพื่อนำมาผลิคเป็นหนังโฆษณา 1 เรื่อง ดังนี้

1. โครงการสุขภาพชุมชน เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยรังสิต ออกบริการสุขภาพเพื่อชุมชน มาตั้งแต่ปี 2539 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ใช้คำสรุปความหมายโครงการว่า “จากความหวังดี สู่ความสบายดี”
2. โครงการผลิตข้าววิตามินสูง “ซันออไรซา” ผลงานของ ผศ.ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งพัฒนามาจากงานวิจัยในห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับโรงงานต้นแบบ ของมหาวิทยาลัยรังสิต ต่อเนื่องสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยในปี พ.ศ. 2549 กลุ่มเกษตรกรได้รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรเฉลิมพระเกียรติบ้านทางยาว” เพื่อผลิต แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวมอลต์อย่างจริงจัง เน้นการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ใช้คำสรุปความหมายโครงการว่า “จากห้องทดลอง สู่ท้องทุ่ง”
3. โครงการ ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ “เก้าอี้ฟาง” ซึ่งนักศึกษาคณะศิลปะและการออกแบบ นำฟางข้าวมามัดให้ทรงตัวโดยไม่ย้อมสี เป็นแบบธรรมชาติ สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวบ้านนำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่ายได้ ใช้คำสรุปความหมายโครงการว่า “จากความคิดสร้างสรรค์ สู่การสร้างมูลค่า”
4. โครงการผลิตเกมธรรมะเพื่อสังคม ส่งเสริมพุทธศาสนา ผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ เกม และมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการผลิตเกมขึ้นมาซึ่งไม่ได้เป็นเกมต่อสู้ หรือยิงฆ่าฟันกัน อย่างที่เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่เป็น "เกมธรรมะ" ที่ใช้ชื่อเกมว่า "เกมเณรสิขา พิชิต 5 มาร" ใช้คำสรุปความหมายโครงการว่า “จากเกมในจอ สู่ศีลในใจ”

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000033290

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น