++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

ความคงอยู่ของความมืด วินทร์ เลียววาริณ

 เมื่ออายุห้าขวบ เขาถามแม่ว่า “ทำไมมันจึงมืดอยู่เสมอ?” แม่ไม่ตอบ ได้แต่กอดเขาแน่น โลกของเขาไม่ได้มืดเช่นนี้เมื่อเขาแรกเกิด เขาจำอุบัติเหตุครั้งนั้นไม่ได้ชัดนัก รู้แต่ว่ามันเกิดขึ้นในห้องทำงานของพ่อ ตอนที่เขาอายุสามขวบ เด็กน้อยถูกเข็มเย็บหนังของพ่อแทงที่นัยน์ตาซ้าย ตาข้างซ้ายมองไม่เห็น และต่อมาก็ลามไปถึงเส้นประสาทตาข้างขวา ทำให้สูญเสียสายตาข้างขวาไปด้วย ถึงอายุห้าขวบก็ตาบอดสนิททั้งสองข้าง และนึกสงสัยว่าทำไมโลกของเขาจึงมืดอยู่เสมอ ทว่า ความมืดไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด ในความมืดยังมีเสียงอ่อนหวานของแม่ และเสียงดนตรี เขาชอบดนตรีแต่เล็ก ไม่นานเขาก็เริ่มหัดเล่นเซลโลและออร์แกน สิ่งที่ดีเกี่ยวกับดนตรีคือ นอกจากทำให้ใจของเขาสงบสันติแล้ว มันเป็นการเล่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้การมอง เขาได้ยินว่านักดนตรีเอก เบโธเฟน สามารถสร้างดนตรีชั้นเลิศได้แม้จะไม่ได้ยิน ก่อนย่างเข้าวัยรุ่น เขาก็กลายเป็นนักเล่นเซลโลและออร์แกนมือดี ได้เดินทางไปเล่นตามโบสถ์ต่างๆ ทั่วประเทศ หลุยส์ เบรลล์ เกิดที่ฝรั่งเศส 1809 พ่อเป็นช่างทำอานม้าและปลอกคอม้า พ่อแม่ส่งเขาเรียนในโรงเรียนของเด็กตาดี เบรลล์เป็นเเด็กเรียนเก่ง เมื่ออายุสิบขวบ เขาได้รับทุนไปเรียนที่สถาบันราชสำหรับเยาวชนตาบอด ในกรุงปารีส ไม่ใช่โรงเรียนที่น่าอยู่นัก อาหารไม่ดี บางครั้งนักเรียนก็ถูกแกล้งและลงโทษกักขัง แต่มันเป็นโอกาสที่ทำให้เขาไม่ต้องมีชีวิตมืดมนเช่นคนตาบอดอื่นๆ ที่ด้อยโอกาส ที่โรงเรียน เด็กตาบอดเรียนการฝึกฝนทักษะพื้นฐานทั่วๆ ไป เรื่องธุรกิจอย่างง่ายๆ และมีการสอนให้อ่านโดยการสัมผัสอักษรที่ประดิษฐ์ โดยผู้ก่อตั้งโรงเรียน วาเลนติน เฮย์ ทว่าอักษรนูนเหล่านี้ ทำด้วยกระดาษอัดบนลวดทองแดง และใส่หลายเรื่องในเล่มเดียวเพื่อประหยัดเงิน จึงมีน้ำหนักมาก อีกทั้งนักเรียนไม่สามารถเรียนการเขียนได้ เมื่อเขาอายุสิบสองขวบ โรงเรียนสอนคนตาบอดได้รับการมาเยือนจากชายผู้หนึ่งนาม ชาร์ลส์ บาร์บิเออร์ อันบาร์บิเออร์ผู้นี้เคยเป็นทหาร เขาได้แสดงให้หลายคนดูสิ่งประดิษฐ์ของเขาที่เรียกว่า การเขียนยามราตรี มันเป็นเครื่องมือสร้างและถอดรหัสในสนามรบ สื่อสารโดยไม่ต้องส่งเสียงพูด วิธีการของมันคือการผสมจุดสิบสองจุดกับเส้น แม้ว่าสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนั้นจะใช้การยาก และใช้กับคนตาบอดไม่ได้ แต่สำหรับเด็กชายที่มองไม่เห็น การเขียนยามราตรี เป็นจุดไฟเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์มืด จุดประกายให้เด็กชายคิดต่อไปที่จะก้าวพ้นอุปสรรคของความมืด เด็กชายลองประดิษฐ์มันขึ้นมาบ้าง โดยใช้หกจุด โดยใช้อุปกรณ์ทำอานม้าของพ่อ เขาทำสำเร็จออกมาเป็นชิ้นเมื่ออายุสิบห้า ระบบที่เขาสร้างเป็นแบบหกจุด เป็นการจัดเรียงจุด 1-6 จุด และสัมพันธ์กับอักษรขณะที่ต้นแบบของบาร์บิเออร์ ใช้สิบสองจุดและสัมพันธ์กับเสียง การใช้หกจุดทำให้สามารถรู้อักษรในการใช้ปลายนิ้วแตะจุดทั้งหกในครั้งเดียว ทำให้ ‘อ่าน’ ได้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือมันทำให้คนตาบอดสามารถเขียนได้ อีกประการ การที่จุดนูนขึ้นเล็กน้อยทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เบรลล์กลายเป็นครูสอนหนังสือในสถาบันนั้น ทั้งชีวิตของเขาอุทิศแก่การพัฒนาคุณภาพคนตาบอด เขาเป็นครูที่นักเรียนชื่นชอบสูง แต่กระนั้นตลอดชีวิตของเขา ภาษาเบรลล์ก็ยังไม่ใช้สอนคนตาบอดในโรงเรียนใดๆ แต่เขามิได้ท้อแท้ ยิ่งมิได้หยุด เขาใช้ชีวิตที่เหลือพัฒนาระบบของเขาไม่หยุดยั้ง รวมทั้งวิธีการสื่อสารกับคนตาดี เขายังพัฒนาให้ระบบของเขารวมการใช้กับคณิตศาสตร์และดนตรีได้ด้วย เบรลล์พิมพ์หนังสือเล่มแรกเมื่อเขาอายุสิบแปดปี ใช้ชื่อยาวๆ ว่า หลักการเขียนคำ ดนตรี และเพลงง่ายๆ โดยการใช้จุด สำหรับใช้โดยคนตาบอดและการเขียนให้พวกเขา เขารู้ว่าวันหนึ่งเขาก็จะจากโลกไป และจะมีคนตาบอดคนใหม่ๆ เกิดขึ้น เขาเชื่อว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครใช้สิ่งประดิษฐ์ของเขา แต่มันอาจจุดประกายให้มีคนสานต่อสิ่งประดิษฐ์นี้ อย่างน้อยก็สร้างความหวังกับคนตาบอดให้เห็นว่า การไร้จักษุประสาทมิใช่การไร้ซึ่งทุกอย่างในชีวิต ความมืดไม่จำเป็นต้องเป็นความมืดตลอดกาล หากใช้แสงสว่างของความหวังส่องทาง และปัญญานำทาง ปัญญาแรกคือ การยอมรับความคงอยู่ของ ‘ความมืด’ ปัญญาที่สองคือ การใช้สมองคิดหาทางทำให้อยู่กับความมืดนั้นได้อย่างมีคุณค่า บางครั้งเขาหวนนึกถึงคำถามในวัยเด็กของเขา “ทำไมมันจึงมืดอยู่เสมอ?” เขารู้แล้วว่าความมืดเป็นเพียงความไม่สะดวกเล็กๆ ไม่ใช่ความมืดบอดทางปัญญา และหากรู้จัก ‘มอง’ ความมืดก็หายไปได้ราวปาฏิหาริย์ (หมายเหตุ: สิบหกปีหลังเขาตายที่ปารีสในปี ค.ศ.1852 ระบบเบรลล์กลายเป็นภาษาที่คนตาบอดใช้ และหลังจากนั้นมันก็เป็นภาษาของคนตาบอดทั่วโลก ระบบเบรลล์ถูกปรับใช้เป็นภาษาเกือบทุกภาษาในโลก ยกเว้นบางภาษาที่ทำใช้ระบบหกจุดไม่ได้ อุกกาบาต 9969 Braille ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เขา) วินทร์ เลียววาริณ, 30 มิถุนายน 2550 www.winbookclub.com picture: sanandres.esc.edu.ar
โดย: โลกทรรศนะ

1 ความคิดเห็น: