"เงินกู้ 1.3 แสนล้าน" เสี่ยงตายดาบหน้า
หลังจากที่ "กกต." มีมติเอกฉันท์ไม่รับวินิจฉัยคำร้องรัฐบาลเรื่องเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท มาใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าว ก็หันมาใช้บริการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล จึงไม่แปลกใจที่ผลการตีความว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) และ (4) ที่ให้ครม.หรือรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็น ไม่ทำอะไรที่มีผลเป็นภาระต่อรัฐบาลใหม่ และไม่ให้ทำอะไรที่เข้าข่ายการหาเสียงเลือกตั้ง
ดังนั้น จึงตั้งข้อสงสัยว่ากฤษฎีกาตีความรอบคอบชอบธรรมแค่ไหน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประเด็นข้อกฎหมายแต่ต้องพิจารณามิติทางเศรษฐกิจด้วย
จับยามสามตาดูแล้วเส้นทางเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาทเที่ยวนี้ คงจะไม่เพริศแพร้วศิวิไลซ์อย่างที่คิด ต้องเจอวิบากกรรมอีกหลายด่าน ด่านแรกที่คาดว่าจะกู้เงินจ่ายหนี้ชาวนา ได้ภายใน 30 วันนั้น เอาเข้าจริง ไม่รู้จะทันหรือไม่ เพราะมีข่าววงในว่าข้าราชการที่เกี่ยว ข้องจะ "ยื้อ" ให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานเคยเตือนแล้วว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายการเมืองจะดันให้ได้ แต่เวลามีปัญหาคนที่ต้องรับผิดคือข้าราชการ นักการเมืองรอดทุกครั้ง
ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงรัฐบาลรักษาการรัฐมนตรีคลังจะ "บีบ" ให้เจ้าหน้าที่ ทำตามคำสั่งก็คงไม่ง่าย
กล่าวสำหรับเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท หากจะอรรถาธิบายกันง่ายๆ คือ เงินกู้ของ ธ.ก.ส. ที่คลังเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อนำมาใช้หนี้จำนำข้าว โดยรัฐบาลรับผิดชอบในการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะมาจากเงินงบประมาณและเงินที่ได้จากการระบายข้าว
ส่วนวิธีการจะเปิดให้แบงก์รัฐและเอกชนประมูลแข่งกัน ใครให้ดอกเบี้ยต่ำก็จะได้ปล่อยกู้ ที่ผ่านมาแบงก์นิยมมาก เพราะไม่มีความเสี่ยง แต่เที่ยวนี้มีข่าวว่าแบงก์คิดหนักจะเข้าประมูลก็ยังอีหลักอีเหลื่อ เพราะชื่อ "โครงการจำนำข้าว" มันเน่าไปแล้ว อาจเสียภาพลักษณ์ได้
ที่สำคัญหากมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วผลออกมาว่าทำไม่ได้ ธุรกรรมที่ทำไว้ก็เสี่ยงเป็นโมฆะ คนที่เกี่ยวข้องอาจจะโดนคดี ทั้งคดีอาญาและคดีการเมือง เห็นหรือยังว่าต้องฝ่าด่านอีกหลายด่าน
เมืองไทย 25 น./ทวี มีเงิน
ข่าวสดออนไลน์, 30 ม.ค.57
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น