++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

วิธีที่จะช่วยให้พยากรณ์ได้ว่า คนจะคุยกันรู้เรื่องหรือไม่

วิธีที่จะช่วยให้พยากรณ์ได้ว่า
คนจะคุยกันรู้เรื่องหรือไม่
ให้มองคำพูดทั้งหมดเป็น ‘คลื่นความคิด’
คลื่นความคิดชนิดเดียวกันจะจูนกันติดง่าย
คลื่นความคิดต่างชนิดกันจะจูนกันติดยาก
หลักพื้นฐานง่ายๆทั้งหมดมีอยู่แค่นี้

หมายความว่า ต่อให้พูดไม่ถูกไวยากรณ์
พูดไม่ปะติดปะต่อ พูดผิดพูดถูกจับต้นชนปลายยาก
แต่ถ้านั่นเป็นคำพูดที่ก่อคลื่นความคิดชนิดเดียวกันได้
ก็เหมือนจะมีตัวช่วย คือ ‘ความเต็มใจทำความเข้าใจ’
มาช่วยให้การสื่อสารเกิดความชัดเจน
เติมเต็มส่วนที่ขาด มองข้ามส่วนที่ผิดให้เอง

ในทางตรงข้าม แม้พูดถูกไวยากรณ์เป๊ะ
พูดเป็นเหตุเป็นผลรื่นไหล มีต้นมีปลายชวนติดตาม
แต่ถ้านั่นเป็นคำพูดที่ก่อคลื่นความคิดคนละขั้วกัน
ก็เหมือนจะมีตัวเบรก คือ ‘อคติปิดใจไม่ให้ยอมรับ’
มาบดบังหรือปิดกั้นช่องรับการสื่อสาร
ส่วนที่เต็มอยู่ก็แกล้งดึงออกเสีย
ส่วนที่ถูกก็แกล้งจับแพะชนแกะให้เป็นผิด

พวกเราอยู่ในยุคไอที ที่เห็นคลื่นความคิดหลากขั้วได้ง่าย
ถ้าเคยมีประสบการณ์อ่านข้อความของคนที่คุณไม่ชอบ
แค่เห็นชื่อเขาก็อยากเมินหน้าหนีแล้ว
แต่จำเป็นต้องฝืนอ่านข้อความของเขาให้จบ
คุณจะพบว่าตัวเองอ่านข้ามๆ กระโดดๆ
หรืออ่านไปด่าไป
กระทั่งสารของเขาเหมือนเต็มไปด้วยขยะเปื้อนเปรอะเลอะเทอะ
นั่นแหละ คือตัวอย่างของความปรุงแต่งทางจิต
หรืออีกนัยคือคลื่นความคิดที่ต่างขั้วกันในเชิงลบ

แต่ถ้าเคยมีประสบการณ์อ่านข้อความของคนที่คุณชอบใจ
แค่เห็นชื่อเขาก็ยิ้มดีใจที่จะได้อ่านอะไรที่ชอบ
แม้คำไม่กี่คำก็ดึงดูดสายตาได้ติด
หรือจ่อใจคิดถึงได้นานๆ
คุณจะพบว่าตัวเองเก็บตกทุกรายละเอียดได้แม่น
กระทั่งสารของเขา ‘คลีน’ ทั้งหมด
นั่นก็เป็นอีกตัวอย่างของความปรุงแต่งทางจิต
เป็นคลื่นความคิดที่เหมือนกันในเชิงบวก

ดังนั้น คุณจะเคยพบมามากมายหลายครั้ง
ที่กระทู้เดียวกัน สองคนอ่านแล้วรู้สึกไม่เหมือนกัน
ให้ความเห็นเป็นคนละเรื่อง ราวกับวิจารณ์คนละกระทู้
คนหนึ่งด่า คนหนึ่งชม คนหนึ่งให้สิบ คนหนึ่งให้ศูนย์
คนหนึ่งบอกว่าเข้าใจ คนหนึ่งบอกว่าไม่เข้าใจ
ทั้งหมดเป็นเรื่องของ ‘คลื่นความคิด’ ที่ตรงหรือไม่ตรงกันทั้งนั้น

ในทางจิตวิทยาการสื่อสาร
ข้อความซ้ำๆที่ใส่ลงไปในคลื่นความคิดที่ตรงกัน
สามารถสะกดจิตคนๆหนึ่งให้เห็นผิดเป็นชอบ
หรือเปลี่ยนใจใครให้เลิกหลงผิดมาเข้าใจถูกได้

อย่างเช่นถ้าจะชวนมาร่วมขบวนการขายตรง
ก็จะมีการนำคลื่นความคิด ‘ในส่วนที่ตรงกัน’ มาเป็นตัวจุดชนวน
เช่น พูดเรื่องเงินง่าย งานสบาย ได้เที่ยวรอบโลกอย่างเป็นอิสระ
ถ้าพูดด้วย เอาภาพวิวสวยๆมาให้ดูด้วย
เอาตัวอย่างบุคคลที่ทำสำเร็จมาประกอบด้วย
โอกาสที่จะจุดชนวนความคิด ‘ในส่วนที่ต่อยอดกัน’
คือ อยากไปทำงานด้วยกัน ก็เป็นไปได้สูง
หากผู้นำขบวนการมีเจตนาดี ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้เข้าร่วม
ก็ถือว่าเป็นกลยุทธดึงดูดใจ สร้างพลังขายหน่วยใหม่ขึ้นสำเร็จ

แต่ถ้าเอาความรู้ความสามารถในการจุดชนวนความคิดผู้คน
มาใช้ในทางร้าย หลอกลวงด้วยโฆษณาชวนเชื่อ
เช่น ขายยาปลอม แต่เอาหน้าม้ามารับประกันว่าเป็นยาดี
จุดชนวนความคิด ก่อความคาดหวังว่า
จะทำให้ผิวขาวแบบไร้ผลข้างเคียง
หรือจะทำให้โรคหายขาดปราศจากข้อกังขา
อันนี้คือขบวนการสะกดจิตที่เป็นอันตราย

ในทางศาสนา พระศาสดาจะ ‘ประกาศความจริง’
ที่แต่ละองค์ค้นพบให้โลกรู้ตาม
ยิ่งความจริงเป็นสิ่งรู้ตามยากขึ้นเท่าไร
ศาสนาของพระองค์ก็ประกาศยากเป็นเงาตามตัวเท่านั้น

อย่างเช่นพระพุทธเจ้าจะประกาศศาสนาพุทธ
ซึ่งเป็นศาสนาที่ปลดปล่อยเวไนยสัตว์จากต้นเหตุทุกข์
นับว่าเป็นศาสนาที่ประกาศยาก
แม้พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็ยังทรงท้อพระทัย
เกรงว่าประกาศไปจะเหนื่อยเปล่า
แต่ความที่พระองค์เล็งแล้วว่า
มนุษย์และเทวดาที่ ‘พร้อมจะถูกจูนให้เห็นความจริงในตน’
ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์จึงกลับอุตสาหะ
ตัดสินพระทัยก่อตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาแบบเป็นขั้นเป็นตอน
เริ่มจากหาพระสาวกที่เข้าใจธรรมะลึกซึ้งได้แบบฉับพลัน
เช่น สอนเรื่องเหตุปัจจัยและอนัตตธรรมกับเหล่าปัญจวัคคีย์
เพราะเหล่าปัญจวัคคีย์มีคลื่นความคิดที่พร้อมจะรับธรรมขั้นสูงอยู่แล้ว

จากนั้นพระองค์จึงต่อยอดด้วยการสอนธรรมะเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป
เช่น บุญกรรมที่ช่วยให้เข้าถึงสวรรค์ และบาปกรรมที่กระชากลงสู่นรก
ตลอดจนธรรมอันนำคนมาเกิดเป็นผู้มีความแตกต่างนานา
เพราะคนทั่วไปมีคลื่นความคิดแบบอยากรู้อยากเห็นความจริงที่น่าสนใจเหล่านั้น

เรื่องของคลื่นความคิดที่ตรงกัน ทำให้เป็นพวกเดียวกัน
หรือทำให้คู่รักครองกันตลอดรอดฝั่ง
ก็คือเรื่องของการมีศรัทธาที่ตรงกัน
อย่างที่เรียกว่า เห็นดีเห็นงามตามกัน
ผูกใจให้รักกันแน่นแฟ้นได้
เป็นเรื่องไม่จำกัดกาล
เพราะอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงแสดงไว้ว่า
เมื่อศรัทธาตรงกัน เดินทางไปในทิศเดียวกัน
ย่อมมีศีล มีน้ำใจ มีปัญญาใกล้เคียงกันได้ไม่ยาก
และย่อมอยู่ด้วยกันตลอดรอดฝั่งในชาตินี้
กับทั้งจะได้พบกันโดยดีในชาติหน้าด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น