++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ปีทองของสตรี

ปีทองของสตรี นับวันผู้หญิงที่ว่ากันว่าเป็นเพศอ่อนแอ กำลังมีบทบาทสำคัญในเชิงธุรกิจและการเมืองมากขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้หญิงสองคนซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสังคม ได้ดำรงตำแหน่งใหญ่โต คนหนึ่งเป็นผู้นำองค์กรสำคัญอย่างเจเนอรัล มอเตอร์ส ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกจากสหรัฐ ส่วนอีกคนคุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถือเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับการดำรงตำแหน่งผู้นำองค์กรสองแห่งของสตรี นอกเหนือจากแมรี บาร์รา คุมเจเนอรัล มอเตอร์ส และเจเน็ต เยลเลน นั่งประธานคนใหม่ของเฟดแล้ว ปี 2556 ยังเป็นปีทองของสตรีอีกคนอย่าง มาริลีน ฮิวสัน ได้รับเลือกให้เป็นซีอีโอของล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทค้าอาวุธรายใหญ่ของอเมริกา ส่วนในยุโรปก็ไม่น้อยหน้า อิงกา บีล ซีอีโอแห่งลอยด์ แอนด์ แดเนียล นอย บริษัทประกันภัยของอังกฤษ เป็นผู้นำการควบคุมดูแลการธนาคารของเขตยูโร มาเรียน คูเปอร์ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดบอกว่า ทุกครั้งที่ผู้หญิงได้ดำรงตำแหน่งใหญ่โตเช่นนี้ ถือเป็นชัยชนะเพราะมีเพียงไม่กี่คนที่ทำได้ ทุกวันนี้ ผู้หญิงจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่าผู้ชาย ดังนั้น จึงมีผู้หญิงราวครึ่งหนึ่งดำรงตำแหน่งในระดับกลางของบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่การดำรงตำแหน่งระดับสูงของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 15 นอกจากนั้น ตำแหน่งหัวหน้าในบริษัท 1,000 แห่งของฟอร์จูน มีผู้หญิงขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าใหญ่แค่ร้อยละ 4.5 รวมทั้งเม็ก วิทแมน ซีอีโอของบริษัทคอมพิวเตอร์ฮิวเล็ตต์-แพ็คการ์ด, เวอร์จิเนีย โรเม็ตตี้ แห่งไอบีเอ็ม, อินทรา นูยี แห่งเป็ปซี โค. และเอลเลน คูลแมน แห่งดูปองต์ แคทเธอลีน ฟิลลิปส์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า เรายังได้เห็นผู้หญิงมากมายเป็นซีอีโอ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนหัวหน้าที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่เป็นไปอย่างช้า ๆ เมื่อปี 2538 ไม่มีผู้หญิงคนใด ผงาดขึ้นเป็นซีอีโอในบริษัท 1,000 แห่งของฟอร์จูน จนกระทั่งปี 2548 หรืออีก 10 ปีต่อมา มีผู้หญิงนั่งแท่นซีอีโอแค่ร้อยละ 2 ขณะที่รายงานของจีเอ็มไอระบุว่า ทั่วโลกมีผู้หญิงนั่งผู้บริหารร้อยละ 11 แต่บางประเทศก็ส่งเสริมให้ผู้หญิงขึ้นเป็นหัวหน้า โดยเฉพาะในฟินแลนด์ นอร์เวย์และสวีเดน ผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารถึงร้อยละ 30 ส่วนอิตาลีและฝรั่งเศสได้เห็นตัวแทนของผู้หญิงมากขึ้น หลังมีการผ่านกฎหมายว่าด้วยความหลากหลายของคณะกรรมการ สำหรับนอกยุโรป กระบวนการให้ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำยังล่าช้า โดยเฉพาะในสหรัฐกับแคนาดา และประเทศพัฒนาแล้วที่มีสถิติผู้หญิงนั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดน้อยที่สุดคือญี่ปุ่น โดยมีเพียงร้อยละ 1 ของผู้หญิงได้เข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการบริหารของภาคเอกชน ปัจจัยหลักต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่เบื้องหลังการส่งเสริมผู้หญิงให้ก้าวหน้าถึงขั้นเป็นซีอีโอ รวมทั้งการเงิน กำลังลดระดับลง ผู้เชี่ยวชาญพบความยุ่งยากที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย คือการขาดแรงสนับสนุนจากการจัดการ และการไม่มีเวลาดูแลบุตรอย่างเพียงพอ ความไม่เชื่อใจในความสามารถ และความมีอคติต่อผู้หญิง คูเปอร์บอกว่า ผู้หญิงน่าจะได้รับโอกาสให้เป็นผู้นำในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ พร้อมยกตัวอย่าง เช่น ฮิวสัน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นซีอีโอของล็อกฮีด มาร์ติน ในขณะที่บริษัทเผชิญการตัดงบประมาณครั้งใหญ่จากกระทรวงกลาโหมสหรัฐ และผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้ดำรงตำแหน่งสูงน้อยกว่าผู้ชาย จากการศึกษาใน 130 ประเทศเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางด้านเงินเดือนโดยเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม พบว่า ประเทศที่มีสถิติในด้านนี้ดีที่สุดคือ มาเลเซียกับสิงคโปร์ ส่วนสหรัฐอยู่ในระดับกลาง ๆ ขณะที่ฝรั่งเศส ผู้หญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 27 ในภาคเอกชน รั้งอันดับ 2 จากท้ายตารางเป็นรองแค่มอริเตเนียเท่านั้น ซึ่งฟิลลิปส์บอกว่า ผู้หญิงมีรายได้น้อยตราบใดที่พวกเธอมีลูก เพราะถูกมองว่าไม่คุ้มทุน. คอลัมน์ สังคมโลก/เลนซ์ซูม เดลินิวส์ออนไลน์, พุธ 25 ธันวาคม 2556
โดย: โลกทรรศนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น