++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

‘เล่นอิสระ’ (Free Play) อิฐก้อนแรกของความฉลาด ความผูกพัน และความสำเร็จ

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 31 มกราคม 2554 16:14 น.
‘เล่น’ เป็นห้วงอิสระปราศจากพันธนาการร้อยรัด เป็นพรสวรรค์ที่เด็กเท่านั้นเข้าถึง ทั้งการเล่นใช่เรื่องเล่นๆ ไร้สาระอย่างผู้ใหญ่หลายคนมอง เพราะถ่องแท้แล้วการเล่นเป็นต้นธารพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย ที่ ‘สมอง’ ของเด็กช่วงวัยนี้จะทำงานสูงสุดขณะเล่น ด้วยเป็นสภาวะที่สมองพร้อมเรียนรู้ ไม่ตึงเครียด (Relax) มีภาวะตื่นตัว (Alert) มีแรงจูงใจ (Motivated) และรู้สึกดี (Positive)

อัตราเปลี่ยนแปลงในพัฒนาการด้านต่างๆ อันเป็นผลมาจากการพัฒนาของสมองที่พุ่งสูงสุดในช่วงเด็กปฐมวัยแรกเกิดถึง 6 ขวบจะเป็นดั่ง ‘อิฐก้อนแรก’ ที่แข็งแกร่งของผู้ใหญ่ในวันหน้า เนื่องเพราะสมองที่เจริญเติบโตต่อเนื่องและมีการสร้างเครือข่ายอย่างดีใน ช่วงวัยนี้จะส่งผลเชิงบวกต่อพัฒนาการในช่วงวัยต่อๆ มา เสมือนอิฐก้อนแรกที่วางรากฐานหนักแน่นมั่นคงก่อนก่อร่างสร้างบ้านที่แข็ง แรงอบอุ่น

ทั้งนี้การเล่นช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพการทำงานของ สมองที่พร้อมจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ขณะเล่นกระตุ้นเซลล์สมองและสารสื่อนำประสาทต่างๆ ช่วยให้สมองเกิดความยืดหยุ่น เชื่อมร้อยสมองที่ทำหน้าที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน แรงจูงใจ อารมณ์ การรับรู้ ความคิดอ่าน

จากการรวบรวมผลการศึกษาวิจัยจำนวนมากของ นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลมนารมย์ ยืนยันว่าการเล่นสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ด้านสมองที่การศึกษา Brain Scan โดย Dr.Kathlern Alfano ซึ่งเป็น Child and Play Psychologist พบว่าเด็กที่มีโอกาสเล่น มีการเชื่อมโยงของระบบประสาท (Neutral Pathway) สมบูรณ์กว่าเด็กด้อยโอกาส และมีโอกาสเล่นมากกว่าจะมีความสุขมากกว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตโรงเรียนกว่าเด็กที่ขาดโอกาสเล่น

ด้านความสามารถ การศึกษาโดย Baylor College of Medicine in Houston, Texas พบว่าเด็กที่ได้เล่นของเล่นเหมาะสมจะมี IQ สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นของเล่น งานวิจัย Language Development Study 2007 ในเด็กอายุ 18-30 เดือน พบว่าเด็กที่เล่นจินตนาการกับบล็อกไม้เมื่อเทียบกับทำกิจกรรมอื่นจะมี พัฒนาการทางภาษาที่ดีกว่า อีกหนึ่งงานวิจัยยังพบว่าเด็กที่เล่นกับเด็กอื่นวัยเดียวกันจะมีโอกาสพัฒนา ภาษาที่ซับซ้อนกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นกับเด็กอื่น ทั้งยังปูพื้นฐานความเข้าใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย

ด้านพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ก็พบว่าเด็กที่เล่นอิสระต่อเนื่องจะ ยับยั้งชั่งใจ มีพัฒนาการทางสังคมดี และประสบความสำเร็จกว่า ดังผลวิจัยโดย High/ Scope Education Research Foundation in Ypsilanti, Minch ที่ศึกษาเด็กกลุ่มเศรษฐานะต่ำระหว่างโรงเรียนอนุบาลที่เน้นเรียนรู้ ผ่านกระบวนการเล่น และได้เล่นอิสระในโรงเรียน กับเด็กในโรงเรียนที่เน้นวิชาการ พบว่าเมื่อเด็กเหล่านี้อายุ 23 ปี เด็กจากโรงเรียนเน้นวิชาการมากกว่า 1 ใน 3 ถูกจับกุมจากการทำผิด และมากกว่าร้อยละ 10 ถูกไล่ออกจากงาน ขณะที่เด็กจากโรงเรียนเน้นการเล่นถูกจับกุมน้อยกว่า 1 ใน 10 และน้อยกว่าร้อยละ 7 ถูกไล่ออกจากงาน

การเล่นจึงไม่ใช่แค่วิธีเรียนรู้ดีที่สุด แต่เป็นเครื่องมือปรับตัวของเด็กด้านอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพด้วย แต่ทว่าต้องเป็น ‘การเล่นอย่างอิสระ’ (Free Play) ที่มีคุณสมบัติเด่น 7 ประการ ดังนี้

1) เล่นอย่างมีเป้าหมายที่จะเล่น ไม่ได้ตั้งใจเล่นเพื่อพ่อแม่ชื่นชมหรือได้ขนม 2) เล่นด้วยความเต็มใจไม่ใช่เพราะหน้าที่หรือถูกบังคับ 3) เล่นเพราะสนุก รู้สึกดี ตื่นเต้น คลายเหงา 4) เล่นแล้วไม่คำนึงถึงเวลา

5) เล่นแล้วไม่คำนึงถึงภาพลักษณ์จะดีหรือแย่ โลกจินตนาการเด็กปราศจากตัวตน เป็นโน่นนี่ง่ายดาย 6) เกิดขึ้นทันที เด็กปรับเปลี่ยนลื่นไหลตามความคิดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ และ 7) ต้องการเล่นต่อเนื่อง หากเบื่อหรือมีอุปสรรคก็ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เงื่อนไขเองเพื่อให้ได้เล่นต่อ เนื่อง

เหตุนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ชุมชน และสังคมจึงต้องสนับสนุน ‘เด็กเล่นอย่างอิสระ’ โดยจัดเตรียมของเล่นจินตนาการปลายเปิดที่เหมาะสมกับวัย เช่น ไม้บล็อก ตัวต่อ หรือชุดของเล่นต่างๆ แม้เล่นลำพังได้ แต่เด็กก็ต้องการให้พ่อแม่เล่นด้วย ยิ่งอายุน้อยยิ่งต้องการ ทั้งควรเล่นตามเด็ก ไม่เช่นนั้นกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นจะทำให้เด็กกลายเป็นผู้ดูพ่อแม่เล่นไปแทน หรือไม่ก็เอ่ยถามวิธีเล่นตลอด จึงควรให้ลูกเป็นผู้นำการเล่น อย่าสอน ตัดสิน หรือแก้ไข แต่ติดตามเรื่องราวในจินตนาการเพื่อพัฒนาความสามารถในการรู้จักคิดของลูก

นอกจากนั้นพ่อแม่ควรพากย์มากกว่าถาม เพราะการพากย์การเล่นของลูกจะไม่ขัดขวางกระแสความคิดของเด็ก รวมถึงชื่นชมทักษะความสร้างสรรค์ของลูกด้วยภาษาง่ายๆ เพื่อเด็กจะรู้สึกดีที่พ่อแม่สนใจ ไม่เท่านั้นระหว่างเล่นต้องกระตุ้นให้เด็กคิดคลี่คลายอุปสรรคปัญหาเองด้วย ช่วยบางส่วน ไม่ทั้งหมด ตลอดจนหลีกเลี่ยงการแข่งขัน เกมหรือกีฬาควรปรับเป้าหมายการเล่นมาอยู่ที่การได้สนุกสนานด้วยกัน

คุณลักษณะการเล่นอิสระที่ปรับเปลี่ยนตลอดสนับสนุนให้เด็กมีความ ยืดหยุ่นและปรับอารมณ์ได้ดี เด็กที่มีโอกาสเล่นมากทั้งกับคนอื่นและตามลำพังจึงมีอารมณ์และประสบการณ์ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงกระทบชีวิตจึงไม่ตอบสนองรุนแรงเกินไป ในขณะเดียวกันก็สามารถจัดการความเครียดได้ดี ด้วยขณะที่เล่นสนุกมักเกิดปัญหา เด็กจึงมีโอกาสฝึกฝนคลี่คลายปัญหากระทั่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้มั่นใจ ไม่เครียด

จินตนาการสร้างสรรค์ของเด็กมักเกิดท่ามกลางสถานการณ์ใหม่ที่ ไม่ถูกคุกคามหรือจริงจังจนเกินไป ในเวลาเดียวกันความสนุกขณะเล่นก็กระตุ้นให้เด็กเล่นต่อหรือต้องการออกสำรวจ โลกใหม่ได้มากเท่าๆ กับถักทอสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น (Strong Attachment) ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่และเด็กกับเด็กที่เล่นด้วยกันได้ ดังนั้น การเล่นอิสระ (Free Play) จึงเป็นอิฐก้อนแรกของพัฒนาการทางความฉลาด ความผูกพัน และความสำเร็จในชีวิตที่ต้องช่วยกันวางอย่างเหมาะสม

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น