++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อันตราย! โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

ผศ.นพ.วรวงศ์ ศลิษฏ์อรรถกร ภาควิชาศัลยศาสตร์
นิษฐ์ภัสสร ห่อเนาวรัตน์ เรียบเรียง

ถ้าเอ่ยถึงโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลายคนอาจไม่คุ้นหู หากแต่โรคนี้เป็นอันตรายถึงชีวิต

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ และอาจพบในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายระบบ เช่น กลุ่มอาการ Marfan ซึ่งมักมีความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่วัยหนุ่มสาว จะสังเกตได้ว่าคนกลุ่มนี้มีรูปร่างสูงผอม แขนขาและนิ้วยาว เพดานปากสูง สายตาผิดปกติ และอาจมีโรคลิ้นหัวใจรั่วร่วมด้วย

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองพบได้ทั้งในทรวงอก หรือช่องท้อง ถ้าเป็นในทรวงอก อาจมีหรือไม่มีอาการ อาการที่พบคือ แน่นหน้าอก ปวดหลัง หน้ามืดหมดสติ หรือไอเป็นเลือด ซึ่งเกิดจากการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ บางครั้งมีอาการจากการกดเบียดของหลอดเลือดต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กดหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก กดเบียดหลอดอาหาร ทำให้กลืนลำบาก กดเบียดเส้นประสาทที่เลี้ยงกล่องเสียง ทำให้เสียงแหบ เป็นต้น

ถ้าเป็นในช่องท้อง อาจคลำพบก้อนเต้นได้ในช่องท้อง หรือมีอาการปวดท้อง ปวดหลังร่วมด้วย

จะรู้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือไม่ แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติ ตรวจอาการ เอกซเรย์ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

สำหรับการรักษา จะเริ่มตั้งแต่การควบคุมความดันโลหิตและปัจจัยเสี่ยง การตรวจติดตามเฝ้าระวังเป็นระยะๆ รวมถึงการผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ขนาดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โตจนเสี่ยงต่อการปริแตก หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โตเร็วผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาและประเมินเพื่อให้ผู้ป่วยได้ทราบและร่วมในการวางแผนการ รักษาที่เหมาะสมต่อไป

ท้ายนี้เรามีวิธี ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในผู้สูงอายุมาฝาก เริ่มตั้งแต่การหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ รักษาโรคความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง งดสูบบุหรี่ ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เพื่อจะได้ห่างไกลจากโรคครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น