พระประธานวัดเล่งเน่ยยี่
ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ สวัสดีปีใหม่ ชาวไทยเชื้อสายจีนในวันนี้วันตรุษจีน หากดูย้อนไปในอดีต คนไทยกับคนจีนมีการติดต่อค้าขายกันมาช้านานเหมือนเป็นพี่น้องกัน จึงทำให้คนไทยกับคนจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ทำให้ในเมืองไทยของเรามีทั้งคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
และเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน จึงขอรวมวัดจีนยอดฮิตซึ่งเป็นที่นิยมไหว้พระขอพรเสริมความเป็นสิริมงคลเพิ่ม ความเฮง เฮง เฮง ที่แรกคือ “วัดเล่งเน่ยยี่” หรือ “วัดมังกรกมลาวาส” ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้เลือกชัยภูมิก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2414 และให้ชื่อว่า "วัดเล่งเน่ยยี่" อันมีความหมายคือ เล่ง แปลว่ามังกร เน่ย แปลว่าดอกบัว ยี่แปลว่าวัด ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ 5 พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดมังกรกมลาวาส"
วัดเล่งเน่ยยี่
สถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ก็โดดเด่นด้วยการวางผังแบบวังหลวงแต้จิ๋ว โบราณ คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า ใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญในการสร้าง โดยภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประธาน 3 องค์ด้วยกัน คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าในปัจจุบันกาล (เจ้าชายสิทธัตถะ), พระอมิตาภพุทธเจ้า เชื่อว่าเป็นอดีตพระพุทธเจ้าอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรที่เรียกว่าแดนสุขาวดี, พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีตเช่นกัน เชื่อกันว่าท่านอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรทางฝั่งทิศตะวันออก ตรงข้ามกับแดนสุขาวดี โดยพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ เปรียบเหมือนไตรรัตน์ของฝ่ายมหายานนั้นเอง
พูดถึงวัดเล่งเน่ยยี่แห่งแรกไปแล้ว ไป “วัดเล่งเน่ยยี่ 2” กันบ้าง โดยวัดแห่งนี้ได้รับพระราชานุญาติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้สร้างวัดและพระราชทานนามในปี พ.ศ.2540 ว่า “วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์” ตำบลโสนน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
วัดเล่งเน่ยยี่2
แต่เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นโรงเจขนาดเล็ก ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีปณิธานจะพัฒนาที่ส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทิตาถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระมหากษัตริย์ไทยทุกๆพระองค์ที่คณะสงฆ์จีนนิกาย ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ภายในพระอารามแห่งนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนตามแบบวัดหลวง โดยลักษณะตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้น คือชั้นแรกเป็นหอฉันและกุฏิของสงฆ์ ชั้นที่ 2 ตรงกลางของชั้นนี้ มีวิหารจตุโลกบาลที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดอย่างโดดเด่นแลเห็นตั้งแต่หน้าประตู วัด ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานผู้ปกปักษ์รักษาพระพุทธสาสนา อันได้แก่ พระศรีอริยะเมตไตรยโพธิสัตว์ และธรรมบาลทั้งหลายคือ ท้าววิรุฬหกมหาราช ท้าวธตรัฐมหาราช ท้าวกุเวรมหาราช (เวชสุวรรณ) ท้าววิรูปักษ์มหาราช และเทพต่างๆอีก 8 องค์
พระพุทธเจ้า3พระองค์วัดเล่งเน่ยยี่2
ด้านข้างของวิหารจตุโลกบาล มีหอเล็กๆ 2 หลัง ขนาบทั้งทางด้านซ้ายคือ หอกลอง ภายในมีกลองใบใหญ่สีแดง ด้านข้างประดับด้วยลวดลายมังกร และทางด้านขวาของวิหารได้แก่ หอระฆัง ภายในมีระฆังสำริดขนาด 195 เซนติเมตร ถือเป็นระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทั้งกลองและระฆังนี้นำมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีน
ส่วนชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของ พระอุโบสถ ภายในตรงกลางประดิษฐานพระประธานคือพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า และด้านข้างทั้งสองพระองค์ได้แก่ พระอมิตาภพุทธเจ้า และ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า ถัดจากพระอุโบสถไปยังด้านหลังเป็น วิหารอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ ภายในประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรสหัสกรสหัสเนตรมหาโพธิสัตว์ หรือพระกวนอิมมหาโพธิสัตว์ปางพันมือพันตา แกะสลักจากไม้สักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนชั้นที่ 4 มีวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ ที่ผนังรายล้อมด้วยพระพุทธรูปองค์เล็กๆ หนึ่งหมื่นพระองค์สีทองอร่าม
พระเปเปอร์มาเช่ วัดเล่งฮกยี่
วัดต่อไปคือ “วัดเล่งฮกยี่” วัดจีนเพียงแห่งเดียว ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับแบบแปลนของวัดนี้จะเป็นแบบเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ วัดเล่งฮกยี่ สร้างขึ้นราว พ.ศ.2449 ซึ่งคำว่า ฮก แปลว่าโชคลาภ วาสนา จึงมักมีคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา ต่อมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อทรงเปิดทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา ก็ได้พระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ และทรงมีจิตศรัทธาพระราชทานเงินเพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า "วัดจีนประชาสโมสร"อันมีความหมายถึงว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนจีน
ระฆังใบยักษ์วัดเล่งฮกยี่
ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่พระประธาน คือ พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ เหมือนที่วัดเล่งเน่ยยี่ แต่พิเศษตรงที่พระประธานทั้ง 3 พระองค์นี้นำเข้ามาจากเมืองจีนและสร้างขึ้นจากกระดาษทั้งสิ้น หรือที่เรียกว่า "เปเปอร์มาเช่" แล้วปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อ 18 อรหันต์ ก็ยังทำด้วยกระดาษเช่นกัน และยังเก่าแก่ราว 200 ปีอีกด้วย
ภายในวัดยังมีรูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่เซ่งเอี้ย องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่มากราบไหว้ที่วัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ยังนิยมขอโชคลาภ และยังต้องตีระฆังใบยักษ์หล่อจากแต่จิ๋วหนักกว่า 1 ตัน 3 ครั้ง ด้วย
พระเปเปอร์มาเช่วัดบำเพ็ญจีนพรต
อีกวัดที่มีพระเปเปอร์มาเช่คือ “วัดย่งฮกยี่” ตั้งอยู่ในตรอกวัดกันมาตุยาราม ถนนเยาวราช แต่เดิมนั้นเป็นเพียงวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง กล่าวกันว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และต่อมาพระอาจารย์สกเห็งจาริกมาจากประเทศจีน และได้มาอาศัยอยู่ที่นี่ ท่านได้ปฏิสังขรณ์พร้อมกับเปลี่ยนชื่อวัดเป็นย่งฮกยี่ในปี พ.ศ.2430 และได้รับพระราชทานนามวัดจากรัชกาลที่ 5 ว่า "วัดบำเพ็ญจีนพรต"
พระอรหันต์วัดบำเพ็ญจีนพรต
ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 3 องค์ เช่นกัน ซึ่งแต่ละองค์นั้นทำจากกระดาษ หรือที่เรียกว่าเปเปอร์มาเช่ แล้วลงรักปิดทองจนดูเหมือนเป็นพระพุทธรูปหล่อ นอกจากนั้นแล้ว หากลองมองทางด้านข้างทั้งสองข้างของพระประธาน ก็จะเห็นพระอรหันต์ 18 องค์ในอิริยาบถต่างๆ กัน ซึ่งก็ทำจากกระดาษเปเปอร์มาเช่ด้วยเช่นกัน
นอกจากจะไหว้พระและเทพเจ้าในพระอุโบสถแล้ว ที่ชั้นสามจะมีรูปปั้นขนาดเล็กของเทพเจ้าจีนต่างๆ ส่วนชั้นสี่ประดิษฐานพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ และป้ายวิญญาณของบูรพาจารย์อดีตเจ้าอาวาส ในชั้นห้าประดิษฐานพระอวโลกิเตศวร และพระพุทธรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้า
วัดโพธิ์แมน อันซีนบางกอก
และวัดสุดท้ายมีดรีกรีเป็นถึงวัดอันซีนบางกอก นั้นก็คือ “วัดโพธิ์แมนคุณาราม“ ตั้งอยู่ ในซอยสาธุประดิษฐ์ 19 วัดแห่งนี้เป็นวัดจีนที่มีการผสมผสานของศิลปะแบบจีน-ไทย-ธิเบต ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในวัดอื่นๆ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 โดยพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) พร้อมด้วยประชาชนที่ศรัทธา
ภายในวิหารหน้าซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ด้านหน้าวิหารมีจารึกอักขระภาษาธิเบต ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์ และพระเวทโพธิสัตว์ที่อยู่ด้านหลัง อีกทั้งยังมีท้าวจตุโลกบาลอยู่ประจำ 4 มุมของวิหาร ถัดไปเป็นพระอุโบสถที่ภายในประดิษฐานประธานองค์ใหญ่มีชื่อว่า "พระพุทธวัชรโพธิคุณ" ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระพุทธรูปวัดโพธิ์แมน
ด้านบนหลังคาประดิษฐานหมู่พระพุทธรูป 1,000 องค์ ส่วนผนังด้านข้างของอุโบสถทั้งสองด้านยังประดับตกแต่งด้วยภาพโมเสกขนาดใหญ่ สีสันสดใสรูปพระอรหันต์ 500 รูป นอกจากนี้ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์ ทั้งยังมีศาลาที่เก็บสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์แมนคุณาราม และผู้ออกแบบวัดให้สักการะด้วย
ในวาระขึ้นปีใหม่จีนนี้ขอให้ชาวไทยเชื้อสายจีนทุกท่านสมหวัง ร่ำรวย ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น