++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วัดดอน

วัดดอน เป็นวัดโบราณสร้างมานาน ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่หนึ่งกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏความตามหลักฐานดั้งเดิมว่า ?มังจันจ่าพระยาทวาย? เป็นผู้มีศรัทธาสร้างขึ้น ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวทวายในสมัยนั้น

มังจันจ่าผู้ เป็นหัวหน้าสร้างวัดนี้ เดิมทีเป็นขุนนางแห่งพุกามประเทศ มีราชทินนามตามตำแหน่งที่เนมะโยกะยอดินกินเมืองทวาย ภายหลังต่อมาได้เกิดขัดใจกันขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าปดุงกรุงอังวะผู้ ดุร้าย ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่าอีกต่อไป จึงแต่งทูตให้ถือท้องตรามาขอสวามิภักดิ์ขึ้นกับไทย พร้อมกันนั้นได้ชักชวนเกลี้ยกล่อมพระยามะริด และพระยาตะนาวศรีซึ่งว่าราชการเมืองมะริดเมืองตะนาวศรีให้มาร่วมสวามิภักดิ์ กับไทย เจ้าเมืองทั้งสองก็เห็นดีเห็นงาม ร่วมกันมีท้องตราทูลความมาขอเป็นข้าขอบขันฑสีมาของไทยสยามประเทศ

พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่หนึ่ง ทรงอนุสรณ์ถึงความดีความชอบของมังจันจ่าพระยาทวาย ในกรณีที่ยกเมืองทวายและชักชวนเจ้าเมืองมะริด เมืองตะนาวศรีซึ่งเป็นฝ่ายพม่าข้าศึก ให้มาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยนั้นประการหนึ่งกับอีกประการหนึ่งมังจันจ่าพระยาทวายผู้นี้มีความดีความชอบเป็นพิเศษ โดยได้พาเอาสมเด็จพระราชภาคิไนยที่จากไปนานให้มาเฝ้าได้พบกัน ครั้งหลานพระหลานเธอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนรามินทรสุดาราชภาคิไนย ซึ่งเป็นธิดาของเจ้ารามณรงค์พระเชษฐาธิบดี ผู้ถึงแก่ชีพิตักษัยไปนานแล้ว ณ กรุงเก่าคราวศึกพม่า เมื่อได้มาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกับสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าอาทั้งสองก็นองน้ำตาเล่าถวายถึงความทุกข์ยากลำบาก ตั้งแต่บ้านแตกสาแหรกขาดคราวศรีอยุธยาพ่าย พลัดพรากตกไปอยู่เมืองพม่าแล้วหลบหนีมาบวชเป็นรูปชีอยู่ที่เมืองทวาย ได้มังจันจ่าพระยาทวายให้ความอุปถัมภ์บำรุงคราวตกยากและพรรณนาถึงคุณความดีของมังจันจ่าที่ อุตส่าห์ซ่อนเร้นคอยบำรุงรักษาอย่างเข้มงวดกวดขัน ปิดบังความมิให้พม่ารู้ด้วยเกรงจะเกิดอันตราย พระหลานเธอรำพันไปถึงความทุกข์ยากต่างๆ นานาแล้วก็ทรงพระกรรแสง สมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาธิราช ทั้งสองพระองค์ทรงสดับความแล้วก็กลั้นน้ำพระเนตรไว้มิได้ ด้วยความสงสารในพระภาคิไนย ซึ่งเป็นธิดาองค์เดียวของพระเจ้ารามณรงค์พระเชษฐา เมื่อทรงพิจารณาไปความดีของมังจันจ่าพระยาทวาย ก็ปรากฏประจักษ์ชัดขึ้น

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้มังจันจ่าพระยาทวายผู้ มีความชอบ พาครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหาย ข้าไทบริวารอพยพมารับราชการที่กรุงเทพพระมหานคร โปรดพระราชทานที่หลวงซึ่งมีอยู่ ณ ตำบลคอกกระบือ ให้เป็นที่อยู่ของเหล่าชาวทวายที่อพยพมา เมื่อปีชวด พระพุทธศักราช 2335 แล้วทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เนมะโยกะยอดินหรือมังจันจ่าพระยาทวาย เป็นหัวหน้าปกครองดูแลบรรดาชาวทวายเหล่านั้น เมื่อได้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักฐานแล้ว มังจันจ่าพระยาทวายผู้เป็นหัวหน้าจึงชักชวนผู้มีจิตศรัทธาชาวทวาย ให้ช่วยกันขวนขวายสร้างวัดขึ้นในราวปีพุทธศักราช 2340

วัดที่มังจันจ่าพระยาทวายสร้างขึ้นนี้ โดยเหตุที่เป็นวัดสร้างขึ้นบนภูมิภาคอันเป็นที่ดอน รอบบริเวณเป็นที่ลุ่มราบ ดังนั้นจึงปรากฏนามว่า "วัดดอน" และโดยที่วัดนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยศรัทธาของ พระยาทวาย พร้อมกับญาติมิตรสหายชาวทวายทั้งปวง ณ สถานที่หลวงพระราชทานหลังบ้านทวาย ดังนั้นผู้คนทั้งหลายจึงนิยมเรียกกันง่ายๆว่า วัดดอนทวาย จะอย่างไรก็ดีพอตกมาถึงปีพุทธศักราช ๒๔๐๐ ครั้งรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงเป็นมหา ปราชญ์ในเชิงอักษรศาสตรภาษา ได้ทรงพระกรุณาเปลี่ยนนามวัดที่พระยาทวายสร้างขึ้นนี้ว่า ?วัดบรมสถล? แต่มหาชนก็ยังนิยมเรียกว่า วัดดอนทวาย อยู่อีกตามเดิมด้วยความเคยชิน


วัด ดอนหรือวัดที่ทรงพระกรุณาเปลี่ยนนามให้ใหม่ว่าวัดบรมสถลนี้ มีบริเวณแผ่ตลอดไปตามภูมิภาคที่ดอน มีจำนวนเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 28 วา โดยมีคูเป็นเขตวัดล้อมรอบทุกด้าน กล่าวคือ คูด้านเหนือและด้านตะวันออกเป็นเครื่องปันเขตวัดดอนกับป่าช้าจีน ส่วนคูด้านใต้และด้านตะวันตกเป็นเครื่องปันเขตวัดดอนกับชาวบ้าน

วัด ดอนนี้ เดิมทีมีแต่พระสงฆ์ชาวทวายจำพรรษาอยู่เป็นส่วนมาก โดยมีพระสงฆ์อาวุโสทำหน้าปกครองดูแลสืบต่อกันมา จนถึงสมัยพระอุปัชฌาย์จั่น รูปนี้ก็เป็นชาวทวายอีกเหมือนกัน ทำหน้าที่ปกครองวัดเป็นสมภารมานานช้า บรรดาศิษย์และชาวบ้านเรียกท่านว่าท่านใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทกุลบุตรทั้งชาวทวายและชาวไทย มีผู้เคารพเลื่อมใสมาก ถึงมรณภาพเมื่อปีพุทธศักราช 2462

ครั้นพระ อุปัชฌาย์จั่นหรือท่านใหญ่ถึงมรณภาพล่วงลับไป พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมภารเจ้าวัดสืบมา พระครูกัลยาณวิสุทธิ์หรือหลวงพ่อกึ๋นนี้ ก็มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาแต่ชาว ทวาย เกิดที่บ้านทวาย เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นสมภารเจ้าวัดดอนมาหลายสิบปี มีเกียรติคุณในทางสมาธิ ภาวนาและขลังในคาถาอาคม โดยได้เล่าเรียนสืบต่อมาจากพระอุปัชฌาย์ โดยได้เล่าเรียนสืบต่อมาจากพระอุปัชฌาย์จั่นท่านใหญ่ และอาจารย์เปี่ยมซึ่งเป็นอาจารย์วิชาอาคมขลังเรืองนาม เป็นที่เคารพนับถือของคนในสมัยนั้น จึงทำให้ท่านฝักใฝ่อยู่แต่ในทางนี้ จนมีชื่อว่าเป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งในบรรดาเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลัง ทั้งหลาย

อนุสรณ์ยิ่งใหญ่ที่ท่านพระครูกัลยาณวิสุทธิ์สร้างไว้ ในฐานะที่เป็นเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยามนต์อันสูงยิ่ง ก็คือพระกริ่งฟ้าผ่า สาเหตุที่พระกริ่งของท่านจะได้ชื่อ ว่า พระกริ่งฟ้าผ่านั้น เล่ากันว่าเมื่อปีพุทธศักราช 2480 สมัยที่ยังเป็นพระครูกึ๋น ผู้มีวัยสี่สิบเศษ ปรารภเหตุไทยจะเข้าทำสงครามอินโดจีน ในฐานะทีท่านเคยเป็นทหารมาก่อน จึงมีความปรารถนาอย่างแรงร้อนที่จะช่วยประเทศชาติตามวิสัยสมณะจะพึงกระทำได้ จึงคิดสร้างพระกริ่งนิรันตราย เพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ลูกบ้านทวายที่ลาไปทัพกับทหารไทยทั่วไป ในการสร้างพระกริ่งครั้งนี้ได้จัดเป็นพิธีใหญ่ โดยตัวท่านเองไปทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสสเทวมหาเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นที่เคารพอย่างสูงสุดให้มาทรงเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย และกำกับการบวงสรวงอันเชิญปวงเทพเจ้ามาเข้าร่วมพิธีศักดิ์ศิษย์นั้น พลันอสุนีบาตจากฟากฟ้าก็ฟาดตกลงมาในท่ามกลางพิธี ให้เป็นที่อัศจรรย์หวั่นไหวโกลาหล ผู้คนทั้งหลายต่างตื่นตะลึงวุ่นวายประหลาดใจเป็นหนักหนา จึงพากันเรียกชื่อพระกริ่งที่สร้างครั้งนี้ว่า พระกริ่งฟ้าผ่า

พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และเกจิอาจารย์ชื่อก้อง ครองวัดดอนมาจนถึงอายุขัยมรณภาพล่วงลับไป เมื่อปีพุทธศักราช 2507

ครั้น การพระราชทานเพลิงศพ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว ทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ พระมหาวิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9 เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนสืบแทนต่อมา พระมหาวิลาศ ญาณวโร นี้ ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิโสภณ แล้วรับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวิสุทธิโสภณ ตามลำดับ สมัยที่พระราชวิสุทธิโสภณได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสนี้ วัดดอนเริ่มมีการพัฒนาปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพราะกุฏิและเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายไม่ว่าจะมองไปทางไหนล้วนแต่เซทรุด คร่ำคร่าทำท่าว่าจะหักพังไปทั้งวัด มีลักษณาการเหมือนคนแก่แลเป็นไข้หนัก ใกล้จะตายด้วยถึงอายุขัยเหตุว่าเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายมีอายุมาแต่ สมัยพระอุปัชฌาย์จั่นหรือนานกว่านั้นโดยมาก เมื่อตกมาถึงสมัยนี้จึงมีสภาพชำรุดร่อแร่เต็มทีเป็นที่สังเวชใจแก่ผู้พบเห็น แทนที่จะเกิดศรัทธา ทางวัดจึงวางโครงการพัฒนาใหม่หมดทั้งเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตวัดประโยชน์แล้วดำเนินการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ตาม โครงการที่วางไว้ โดยเริ่มสร้างกำแพงวัด กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และเสนาสนะที่จำเป็นอื่นๆ ยกเว้นอุโบสถวิหาร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2510 เป็นต้นมาจนถึง วันที่ 1 ธันวาคม 2522 สิ้นเงินไปแล้วจำนวน 6,050,022.- บาท (หกล้านห้าหมื่นยี่สิบสองบาท)

เมื่อได้จัดสร้างสิ่งที่จำเป็นในเขต สังฆาวาสเสร็จสิ้นไปพอสมควรแล้ว จึงได้เริ่มงานก่อสร้างอุโบสถวิหารอันเป็นเขคพุทธาวาสต่อไป โดยทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518 เวลา 16.55 น. แล้วการก่อสร้างก็ดำเนินเรื่อยมา จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2522 สิ้นค่าใช้จ่าย 5,638,210.- บาท (ห้าล้านหกแสนสามหมื่นแปดพันสองร้อยสิบบาท) และประกอบพิธีฝังลูกนิมิต 20 มีนาคม 2523 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีตัดลูกนิมิต นับเป็นพิธีมหามงคลและเป็นเกียรติประวัติสูงส่งสืบไปชั่วกาลนาน.

คัดลอกจากหนังสือ อนุสรณ์งานฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา วัดดอน ยานนาวา กรุงเทพฯ 2523

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น