++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

“ความฝัน” กับ “ความจริง”

ในมุมมองพระพุทธศาสนา


พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ)
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย



นิยาม:

“ความฝัน” คืออะไร ? “ความจริง” คืออะไร ?



“ฝัน” หมายถึง การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับ นี่เป็นความหมายโดยตรง นอกจากนี้ยังมีความหมายโดยอ้อมอีก ๒ ประการ คือ การนึกเห็นในขณะที่ตื่นอยู่ซึ่งไม่อาจจะเป็นจริงได้ การคิดเรื่อง/สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แบบนี้เรียกว่า ฝันกลางวัน กับการคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ แบบนี้เรียกว่า ฝันเฟื่อง ในที่นี้จะกล่าวถึง “ฝัน” ที่หมายถึง การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับ

ทีนี้มาพูดถึงเรื่อง “ความจริง”

“จริง” หมายถึง แท้แน่นอน เป็นอย่างนั้นจริง(อย่างที่เราประสบ) มี ๓ ลักษณะคือ ปรากฏการณ์ที่ประจักษ์แก่ตัวเราเองและผ่านมาแล้ว ปรากฏการณ์ที่ประจักษ์แก่เราในปัจจุบัน และปรากฏการณ์ที่ยังไม่ประจักษ์แก่เราซึ่งเราคิด(วางแผน/คาดการหรืออะไรก็แล้วแต่)อาจจะเกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่เกิดขึ้นแต่มาประจักษ์แก่เราในภายหลัง สรุปก็คือจริงอย่างที่ประจักษ์/ปรากฏ

“ความจริง” ในที่นี้จะขอพูดถึง การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อตื่น เพื่อให้มีนัยตรงกันข้ามกับคำว่า “ความฝัน” เพราะส่วนมากเรามอง “ความฝัน” ว่าเป็นเรื่องไม่จริง แม้เวลาต่อมาจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามที่ฝันหรือไม่นั้น เราก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรแล้ว หรือบางทีก็ลืมไปแล้วว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตรงกับที่ฝัน



สาเหตุแห่งความฝันกับสาเหตุแห่งความจริง

พระพุทธศาสนามองอย่างไร ?



ในคัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิเทศ(เป็นคัมภีร์อรรถกถาของพระพุทธศาสนาเถรวาท) มีข้อความว่าด้วยสาเหตุแห่งความฝันไว้ ๔ อย่าง คือ

๑. เจ็บป่วย ร่างกายไม่ปกติ ทำให้ฝันไปต่างๆ ภาษาพระว่า ธาตุกโขภะ แปลว่า ธาตุกำเริบ

๒. จิตวิตกกังวล คิดมาก ทำให้ฝันไปตามที่วิตกกังวล ภาษาพระว่า อนุภูตปุพพะ แปลว่า หวนระลึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว

๓. เทวดาดลใจ ทำให้ฝันไป ภาษาพระว่า เทวโตปสังหรณะ แปลว่า เทวดาหาเรื่องมาให้

๔. มีลางบอกเหตุ (มีเหตุปัจจัยกระตุ้น) ทำให้ฝัน ภาษาพระว่า ปุพพนิมิต แปลว่า สัญลักษณ์/เครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้า



ปุถุชน(คนที่ยังหนาด้วยกิเลส)นอนหลับ หรือกึ่งตื่นกึ่งหลับก็จะฝันเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือหลายสาเหตุรวมกัน ดังที่กล่าวนี้ แม้แต่คนที่บรรลุธรรมขั้นโสดาบันก็ยังฝัน สกทาคามีและอนาคามีก็ยังฝัน สรุปก็คือ ตราบใดที่ยังละกิเลสได้ไม่หมด หลับเมื่อใดเป็นฝันเมื่อนั้น กิเลสมากฝันมากตั้งแต่วินาทีแรกไปจนถึงวินาทีสุดท้ายที่นอนหลับ ฝันแบบสัพเพเหระ กิเลสน้อยฝันน้อย อาจมีช่วงหลับสนิทไม่ฝันเข้ามาแทรกบ้าง มนุษย์ที่ยังมีกิเลสหลับไม่ฝันก็ต่อเมื่อจิตตกภวังค์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หรือช่วงเวลาที่หาได้ยาก เช่น รอยต่อระหว่างตื่นกับหลับและหลับกับตื่น เวลาจิตที่เข้าอัปปนาสมาธิ(จิตเป็นสมาธิแนบแน่น) และเวลาเข้านิโรธสมาบัติ(คงหมายถึงพระอนาคามี)

ทีนี้มาพูดถึงสาเหตุแห่งความจริง ลองดูให้ดีก็แล้วกัน การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อตื่น บางทีก็เกิดจากความเจ็บป่วย เช่น ป่วยหนักแล้วรู้สึกหว้าเหว่กลัวถูกทอดทิ้ง ทั้งๆที่ไม่มีใครคิดจะทอดทิ้ง บางทีเกิดจากจิตวิตกกังวล เช่น ทำงานผิดพลาดหลายเรื่อง เจ้านายต้องดุด่าแน่ เพื่อนร่วมงานต้องหัวเราะเยาะแน่ ทั้งๆที่ไม่มีใครคิดจะทำอย่างนั้น ความจริงอย่างที่ว่านี้มีสาเหตุไม่ต่างจากความฝันเลย

การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อตื่นที่น่าเชื่อถือ/ที่เป็นงานเป็นการมากกว่านี้ เช่น การทำงานประจำวัน หรือวิถีชีวิตประจำวัน ชีวิตมันดำเนินไปเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่ดำเนินไปลอยๆ “เหตุปัจจัย” ที่ว่านี้มีนัยเหมือนกับลางบอกเหตุนั่นแหละ คนมีความรู้สึกอย่างนั้นจึงทำ พูด คิดอย่างนี้ออกมา หรือจะทำโครงการอะไรสักอย่างก็ต้องมีข้อมูลมาประกอบ ข้อมูลเหล่านั้นก็มีลักษณะเป็นลางบอกเหตุเหมือนกัน จะบอกว่าเป็น “ปุพพนิมิต” ก็ได้



ความฝัน:

ความเป็นไปได้ที่จะจริงหรือไม่จริง



ถามว่า “ความฝันมีโอกาสเป็นความจริงหรือเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ?”

คัมภีร์พระพุทธศาสนาบอกว่า ฝันเพราะถูกเทวดาดลใจ และฝันเพราะมีลางบอกเหตุ มีโอกาสที่จะเป็นความจริงหรือเกิดขึ้นจริง คำว่า “เป็นความจริงหรือเกิดขึ้นจริง” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตรงตามที่ฝัน เช่น เมื่อคืนที่ผ่านมาฝันว่า “ถูกงูกัด” ไม่ได้หมายถึงว่า วันนี้พรุ่งนี้จะถูกงูกัด แต่อาจจะตรงกับที่เขาทำนายไว้ว่า “ฝันว่าถูกงูกัด ทำนายว่าจะมีโชคดี ชายโสดจะมีคู่ครอง ชายมีภรรยาอยู่แล้วก็จะมีลูก”

โอกาสที่ความฝันจะเป็นความจริงหรือเกิดขึ้นจริงอย่างที่ว่านี้ก็มีอยู่ แต่ไม่ได้ตรงกับเรื่องที่ฝันทุกฉากทุกตอน เช่น กรณีความฝันของพระโพธิสัตว์ ๕ เรื่องเช่นข้อที่ ๑ ฝันว่า “พระองค์ทรงบรรทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้” ความฝันนี้ทำนายว่า พระโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓

กรณีความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงฝัน(๑ ในมหาสุบินนิมิต ๑๖ ข้อ)ว่า ทรงเห็นโคล่ำสัน ๔ ตัว มีอาการเกรี้ยวกราด วิ่งมาจากทิศทั้ง ๔ ทะยานเข้าหากัน ดุจจะชนกันกลางพระลานหลวง พอเข้าใกล้กันก็ถอยหนีกลับไปเสีย ไม่ชนกัน

พระพุทธเจ้าทรงทำนายฝันว่า โลกจะวิปริตแปรปรวยไปต่างๆ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะเหี่ยวแห้ง ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกมีแต่ฟ้าร้องคำราม เหมือนกับว่าจะตกแต่ไม่ตก

ความฝันบางกรณีก็เป็นลางบอกเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนมากไม่ตรงกับเหตุการณ์ในฝัน แต่มีนัย/ลักษณะบางอย่างที่ตรงกันหรือคล้ายคลึงกัน สามาถเชื่อมโยงหรือสื่อถึงกันได้



อะไรจริง ? อะไรไม่จริง ?

ความเข้าใจโดยทั่วไปกับมุมมองของพระพุทธศาสนา





ถามว่า “อะไรจริง ?” ความเข้าใจโดยทั่วไปก็คือ สิ่งที่รับรู้ในขณะตื่น เป็นเรื่อง/ความจริง ปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เราได้เห็น ได้ยิน/ได้ฟัง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส หรือแม้กระทั่งได้นึกคิดในขณะที่ตื่นอยู่ เป็นความ “จริง” ทั้งนั้น แม้ปรากฏการณ์บางอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในขณะตื่นอย่างที่ว่านั้นไม่จริงอย่างที่ปรากฏ เราส่วนมากก็ยังถือว่า “จริง” คือ “จริงอย่างที่ไม่จริง” นั่นแหละ ลองคิดดูก็ได้ เป็นความแปลกที่เราคิดว่าไม่แปลก

ถามว่า “อะไรไม่จริง ?” เหตุการณ์/สิ่งที่รับรู้ในขณะหลับ ไม่จริง(เป็นความฝัน)คือไม่เกิดขึ้นจริงเหมือนอย่างที่เห็น/รับรู้ในความฝัน หรือแม้บางทีมีเหตุการณ์/สิ่งเกิดขึ้นจริงตรงกับที่ที่ฝันหรือรับรู้ในขณะหลับ เราส่วนมากก็ยังถือว่า “เป็นเรื่องบังเอิญเสียมากกว่า” เรื่องจะเกิดอยู่แล้วตามเหตุปัจจัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฝัน

คำว่า “จริง” ในที่นี้ตรงกับคำในพระพุทธศาสนาว่า “สัจจะ” และมีคำที่ใช้แทน “สัจจะ” อีกหลายคำ เช่น ตถตา(ความเป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ความไม่คลาดเคลื่อน) พระพุทธศาสนาแบ่งความจริงออกเป็น ๒ ระดับคือ

ระดับสมมติ หมายถึงเรื่องที่คนกำหนดกะเกณฑ์ขึ้นแล้วก็ตกลงกัน โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริง เรียกว่า สมมติสัจจะ เช่น นาย ก. นาย ข. คนสัตว์สิ่งของทั้งหลาย ถ้ามีชีวิตก็เรียกว่า “อุปาทินนกสังขาร” ไม่มีชีวิตก็เรียกว่า “อนุปาทินนกสังขาร” พวกนี้เป็นสมมติสัจจะทั้งนั้น

ระดับปรมัตถ์ หมายถึงความจริงอันเป็นที่สุด โดยไม่ขึ้นกับข้อกำหนดกะเกณฑ์ของคน เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ เป็นความจริงแท้แน่นอน แต่อย่าลืมว่า “ตัว” ความจริงแท้แน่นอนที่ว่านี้ที่แยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากไม่มี ปรมัตถสัจจะก็อิงอยู่กับสมมติสัจจะนั่นแหละ เช่น บอกว่า “ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่ประจักษ์อยู่ทุกวัน ไม่จริง ไม่แท้ เป็นสิ่งสมมติทั้งนั้น ไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงบอกว่า สมมติสัจจะ” แล้วถามต่อว่า “ปรมัตถสัจจะ คืออะไร ?” ปรมัตถสัจจะก็คือ “ความไม่จริง ไม่แท้ ความเป็นสิ่งสมมติ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของปรากฏการณ์” นั่นแหละ อย่างที่เราชอบพูดกันว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน หรือความไม่แน่นอนก็คือความแน่นอน”

ภาษาอภิธรรมบอกว่า “จิต เจตสิก รูป นิพพาน” คือ ปรมัตถสัจจะ เป็นความจริงแท้แน่นอน

ท่านนารทะ มหาเถระพระนักปราชญ์ชาวลังกาบอกว่า “ปรากฏการณ์ทั้งหมดเป็นสมมติสัจจะ และในปรากฏการณ์ทั้งหมดนั้นมีปรมัตถสัจจะอยู่ ก็คือส่วนที่มันเป็นแก่นของปรากฏการณ์” ท่านบอกว่า “ปรมัตถสัจจะ/ส่วนที่เป็นแก่นคือ ปฐวี(ธาตุดิน) อาโป(ธาตุน้ำ) เตโช(ธาตุไฟ) วาโย(ธาตุลม)” ท่านให้นัยต่อไปว่า ปรมัตถะก็คือปรมาณู(อะตอม) ถ้าวิทยาศาสตร์บอกว่า “ส่วนประกอบพื้นฐานของสรรพสิ่งคือปรมาณู” พูดตามหลักพระพุทธศาสนาก็ต้องบอกว่า “ส่วนประกอบพื้นฐานของสรรพสิ่งก็คือปฐวี อาโป เตโช วาโย”

จากโลกทัศน์ทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้ บอกยากเหมือนกันว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง เพราะที่บอกว่าเป็นสิ่งสมมติ(สมมติสัจจะ)ก็ยังมีความจริง(ปรมัตถสัจจะ)ซ่อนอยู่ข้างใน และที่บอกว่าจริงแท้แน่นอน(ปรมัตถสัจจะ)ก็ยังมีสิ่งสมมติ(สมมติสัจจะ)เป็นเปลือกนอก ประเด็นที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างนี้ น่าจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า Illusion in Reality in Illusion

พระพุทธศาสนาเถรวาทสายสันกฤตนิกายเสาตรานติกะและพระพุทธศาสนามหายานนิกายโยคาจารก็พูดอย่างนี้ นิกายมาธยมิกะยิ่งพูดเหมือนกับว่า ในโลกนี้ไม่มีจริงแท้พอจะกำหนดกะเกณฑ์ได้เลย “มีอะไรบงอย่างอยู่ แต่อะไรบางอย่างที่ว่านี้อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร บอกไม่ได้” ที่เราบอกว่า “นี่” หรือ “นั่น” ก็สักแต่ว่าบอกไปตามความรู้สึก



อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก

องค์ประกอบกระบวนการรับรู้เสวยโลก



ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ ๕ เมื่อผ่านกระบวนการประกอบกันเป็นรูปร่างมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว กระบวนการของชีวิตดำเนินต่อไปด้วยการรับรู้เสวยโลกภายนอกหรืออายตนะภายนอก(หรืออารมณ์ภายนอก)คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านช่องทาง ๖ หรืออายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

การรับรู้เสวยโลกโดยตาเห็นรูป หูฟังเสีย จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส เป็นการรับรู้เสวยโลขณะตื่นอย่างเดียว ส่วนใจคิดธัมมารมณ์ เป็นการรับรู้เสวยโลกขณะตื่นก็มี ขณะหลับก็มี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อยากจะให้รู้เป็นการเฉพาะก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้เสวยโลกขณะตื่นหรือขณะหลับ ล้วนผ่านช่องทางการทำงานของจิตหรือกระบวนการทำงานของจิตทั้งสิ้น กล่าวคือ ขณะตื่น จิตทำงานผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า ปัญจทวาร ขณะหลับ จิตทำงานผ่านทางใจ เรียกว่า มโนทวาร

เห็นได้ชัดแล้วใช่ไหมว่า “ฝัน” ซึ่งหมายถึง การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับนั้น เป็นผลจากการทำงานของจิตในขณะหลับผ่านทางมโนทวาร

ทีนี้ย้อนกลับไปหาคำถามว่า “ความฝัน” พอจะจัดเป็นความจริงได้หรือไม่ ? ถ้าจัดได้ จะเป็นความจริงระดับไหน ? และ “ความจริง” (ที่ถือกันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ประสบในขณะตื่น) )เป็นความจริงระดับไหน ?” บอกไม่ได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริง จัดระดับความจริงก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความฝัน” หรือ “ความจริง” เพราะแท้ที่จริงแล้ว มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการรับรู้เสวยโลกของมนุษย์เท่านั้นเอง



บทสรุป

และท่าทีที่พึงประสงค์ต่อความฝันกับความจริง



น่าคิดเหมือนกันถ้าจะบอกว่า “มนุษย์มี ๒ โลก” คือ โลกในขณะตื่นกับโลกในขณะหลับ ขณะตื่นอายตนะภายใน ๖ รับรู้(วิญญาณ)อายตนะภายนอก ๖ ขณะหลับอายตนะภายใน ๑ คือ ใจ(มนายตนะ)รับรู้ธัมมารมณ์(สิ่งที่ใจคิด) แม้เราส่วนมากจะบอกว่า โลกในขณะหลับเป็นโลกแห่งความฝัน(ซึ่งไม่จริง) โลกในขณะตื่นเป็นโลกแห่งความจริง แต่ในความเป็นจริง เราบอกอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ปรากฏการณ์ที่ประสบในขณะหลับ(ที่เรียกว่าฝัน)กับปรากฏการณ์ที่ประสบในขณะตื่น มีทั้งความจริงและไม่จริงเหมือนกัน ในเมื่อมันเป็นผลจากการทำงานของจิต เราจะปฏิเสธความจริงในความฝันได้อย่างไร หรือจะปฏิเสธความฝันในความจริงก็ไม่ได้เหมือนกัน

ชีวิตมีเส้นทางเป็นวัฏจักร หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยอาศัยจิตนำพา ขณะตื่น จิตก็นำพาชีวิตย้อนไปในเส้นทางที่ผ่านมาบ้าง นำพาล่วงหน้าไปในเส้นทางที่ยังมาไม่ถึงบ้าง น้อยครั้งที่จิตจะนำพาชีวิตให้อยู่ในกาละและเทศะที่เรียกว่า “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” ขณะหลับ จิตก็นำพาชีวิตย้อนไปในเส้นทางที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ฝัน”

อาจมีข้อสงสัยเหมือนกันว่า เมื่อความฝันเกิดจากการที่จิตนำพาชีวิตย้อยในไปในเส้นทางที่ผ่านมาแล้ว(อดีต) และมีการทำนายฝัน เช่น

ฝันว่าได้ขี่ช้าง ทำนายว่า เกียรติยศชื่อเสียงจะปรากฏในทางใดทางหนึ่ง

ฝันว่าฟันหัก ทำนายว่า โรคภัยจะเบีดเบียนคนใกล้ชิด

บางกรณีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามคำทำนาย เช่น กรณีที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล หรือกรณีความฝัน ๕ เรื่องของพระโพธิสัตว์ ถ้าเป็นอย่างนี้ “ความฝัน” ควรถือเป็นว่าเป็นเรื่องอดีตหรือนาคต ? ความจริง เหตุการณ์ในอนาคตมีพื้นฐานอยู่กับเหตุการณ์ในอดีตบวกกับปัจจุบัน มีเหตุปัจจัยในอดีตและปัจจุบันอยู่แล้วมามาดลใจให้ครุ่นคิด เมื่อหลับก็ฝันไป หรือแม้กระทั่งเวลาตื่นก็ครุ่นคิดคำนึงถึงหลายเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด และต่อมาก็เกิดจริง ๆ อย่างนี้ก็มีไม่น้อย

เรื่องความฝัน(หลับ)กับความจริง(ตื่น)ก็มีส่วนทำให้โลกทัศน์เปลี่ยนไปเหมือนกัน เช่น เรื่องการพักผ่อน เราส่วนมากเห็นถือว่า “การนอนหลับ” เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด จริงหรือที่บอกว่าการนอนหลับคือการพักผ่อน เพราะจะหลับจะตื่นจิตก็ยังทำงาน บางทีขณะนอนหลับจิตทำงานหนักยิ่งกว่าขณะตื่นเสียอีก ยกเว้นเสียแต่ว่าหลับสนิทโดยไม่ฝัน นั่นถือว่าเป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริง ซึ่งหาได้ยากในชีวิตมนุษย์ปุถุชน ส่วนพระอรหันต์ท่านมีคุณภาพชีวิตดีเยี่ยม เพราะเมื่อต้องการพักผ่อน ท่านได้พักผ่อนอย่างแท้จริง นอนหลับท่านก็ไม่ฝัน

สิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส คิดคำนึงในขณะตื่นเกิดจากกระบวนการทำงานของจิตที่ทำงานครบกระบวนการ ๑๗ ขณะ เรียกว่า มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมครบ

สิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส คิดคำนึ่งในขณะหลับเกิดจากกระบวนการทำงานของจิตที่ทำงานครบกระบวนการ ๑๗ ขณะเหมือนกัน แต่จะหนักทางมโนกรรม อาจจะมีกายกรรม วจีกรรมแทรกบ้าง เช่น บ่นเพ้อออกมา ร้องออกมาในขณะหลับ หรือเตะต่อยถีบในขณะหลับ

ชีวิตจึงมีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริงรวมอยู่ด้วยตลอดเวลา สมมติสัจจะมีปรมัตถสัจจะอยู่ข้างใน ปรมัตถสัจจะมีสมมติสัจจะอยู่ข้างนอก ความฝัน(การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับ)มีความจริง(การเห็นเป็นเรื่องราวเมื่อตื่น)รวมอยู่ด้วย และความจริงก็มีความฝันรวมอยู่ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น