++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

"อยู่ก่อนแต่ง - แต่งก่อนอยู่” ประเด็นฮิตคู่วัยโจ๋มหา’ลัย

ยุคสมัยนี้ คนจะรักกันไม่ใช่เรื่องยากเหมือนสมัยก่อน โดยเฉพาะวัยโจ๋ทั้งหลายเมื่อมีโอกาสได้ไปเรียนไกลบ้าน ไกลหูไกลตาผู้ปกครอง ก็มีโอกาสพบเจอคนมากมาย ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้เจอกันง่าย รักกันง่าย แล้วก็ "อยู่ก่อนแต่ง" กันง่ายขึ้น จนมีให้เห็นชินตาตามหอพักนักศึกษา บางคู่อยู่ด้วยกันแล้วดูแลเอาใจใส่กันดีเสมอต้นเสมอปลายจนเป็นฝั่งเป็นฝาแต่งงานกันไปในที่สุด ก็นับว่าโชคดีไป แต่ก็ใช่จะเป็นอย่างนั้นทุกคู่ ทุกคน

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าการอยู่ก่อนแต่งในวัยเรียนส่งผลเสียต่อบางคู่ เช่น การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เพราะยังต้องเรียนหนังสือ ตามมาด้วยปัญหาการทำแท้ง เป็นต้น คำกล่าวที่ว่า "รักง่าย หน่ายเร็ว" จึงเสมือนสัญลักษณ์ของวัยโจ๋สมัยนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การอยู่ก่อนแต่ง หรือ แต่งก่อนอยู่ จึงมีเหตุผลแตกต่างกันไป

ในมุมมองของต่างชาติ โดยเฉพาะโลกตะวันตก ถือว่าการอยู่ก่อนแต่งเป็นเรื่องปกติ เพราะไหนจะประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายซึ่งมีผลเกี่ยวข้องกับการจ่ายภาษี หรือส่วนลดหย่อนภาษี ยังมีเรื่องข้อผูกพันตามกฎหมาย เพราะบางคนแต่งงานไปแล้วไปด้วยกันไม่ได้ หากต้องการหย่า จำเป็นต้องรออีกเป็นเวลา 2 ปี จึงสามารถเซ็นใบหย่าได้ (สำหรับประเทศในกลุ่ม EU) เพราะรัฐบาลต้องการให้คน 2 คนมั่นใจจริง ๆ ว่าเลิกกัน ไม่ใช่เลิกกันวันนี้ แล้วสัปดาห์ถัดไปกลับมาดีกันอีก หรือหากมีลูกก็ต้องมีผลบังคับในเรื่องเงินเลี้ยงดูด้วย ฉะนั้นต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเขาและเธอ สามารถใช้ชีวิตอยู่กับคนอีกคนหนึ่งได้โดยไม่มีปัญหาตามมาในอนาคต



แต่สำหรับ โลกตะวันออกอย่างเมืองไทย ซึ่งในปัจจุบันก็มีการนำวัฒนธรรมแนวคิดของตะวันตกมาปรับใช้ในชีวิตไม่น้อย จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าความคิดเห็นของนักศึกษานั้น "คิดเห็นอย่างไร กับการอยู่ก่อนแต่ง ?"

เริ่มที่ "แก้ม" นักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง มองว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ถ้าความคิดความอ่านโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ รู้ว่าสิ่งไหนผิดหรือถูก ควรป้องกันอย่างไร

“ถ้าเราอยู่กับแฟนแล้วชวนกันเรียน ไม่ได้พากันโดดเรียน หรือกินเหล้าเมายา ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสื่อมเสียอะไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวของเราด้วยว่ารับกับเรื่องแบบนี้ได้หรือเปล่า การให้เหตุผลกับครอบครัวว่า จำเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของเรา ว่ามีจุดประสงค์อย่างนั้นจริงหรือเปล่า หรือแค่โกหกให้ครอบครัวสบายใจ ถ้าครอบครัวเราเข้าใจในสภาวะโลกที่เปลี่ยนไปทุกๆวันได้แล้ว คิดว่าพ่อแม่ก็น่าจะเข้าใจ แล้วเปิดประตูให้เราปรึกษาเรื่องต่างๆกับเขาเพิ่มขึ้นด้วย เพราะการอยู่ก่อนแต่ง สามารถทำให้เรารู้จักคนที่เรารักมากขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้ในตัวของเขามากขึ้น เราจะได้เห็นมุมมองความคิดเขาอย่างแท้จริง ว่าเขาให้เกียรติเราขนาดไหน เขาดูแลเราได้จริงๆหรือเปล่า เขาเป็นคนสม่ำเสมอขนาดไหน” แก้ม กล่าว

นักศึกษารายนี้ กล่าวต่อไปว่า หากรู้ว่าคนที่เราอยู่ด้วยเป็นอย่างไรแล้ว บางครั้งก็ทำให้เราหยุดคิดได้ว่า ความรักที่จะให้กับคนคนหนึ่ง ควรให้มากหรือน้อยขนาดไหน ควรรักเขา หรือรักตัวเองแค่ไหน แล้วให้น้ำหนักกับคำว่ารักมากแค่ไหน สำหรับช่วงเวลานั้น

ด้าน "ทาทา" นักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ คิดว่าการที่นักศึกษาหญิง-ชายอยู่ด้วยกันก่อนแต่ง อาจเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมไทยไปแล้ว แต่ก็แล้วแต่มุมมองของคน เพราะผู้ใหญ่อาจไม่เห็นด้วย แต่ถ้าสังคมในเมืองหลวงอาจเป็นเรื่องธรรมดา เพราะการที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่ง เหมือนการลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ว่าจะอยู่ด้วยกันได้หรือเปล่า

“ถ้าแต่งงาน แต่ไม่เคยอยู่ด้วยกัน บางครั้งก็อาจจะเบื่อกันได้ เพราะต่างคนต่างไม่เคยรู้นิสัยของแต่ละคนมาก่อน เพราะการแต่งงานไม่ได้เป็นเครื่องวัดว่าจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้ตลอดหรือไม่ เหมือนเป็นเพียงข้อตกลงอย่างเป็นทางการให้คนอื่นรับรู้ตามประเพณีที่ถูกต้อง แน่นอนว่าถ้ายึดตามหลักประเพณีก็ต้องแต่งก่อนอยู่ถึงจะเหมาะสม แต่ถ้ามองตามหลักความเป็นจริง จะอยู่ก่อนหรือจะแต่งก่อนไม่ใช่เรื่องสำคัญ มันอยู่ที่การใช้ชีวิตด้วยกันระหว่างคนสองคนมากกว่า” นักศึกษาสาว แสดงความเห็น



ส่วนความเห็นของหนุ่มๆอย่าง "จิ๊บ" นักศึกษาชายชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง คิดว่าการอยู่ก่อนแต่งในวัยเรียน เป็นเรื่องธรรมดาของคนยุคนี้ไปแล้ว

“เป็นการทำให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้รู้นิสัยใจคอที่แท้จริงของอีกฝ่าย และเราก็มีเวลาทบทวนว่าจะไปกับเขาได้ไหม ดีกว่าแต่งแล้วค่อยอยู่ เพราะถ้าแต่งแล้วอยู่ด้วยกัน เมื่อมีปัญหาต่างคนต่างเข้ากันไม่ได้ มารู้อะไรอีกหลายๆอย่างของอีกฝ่ายแล้วรับไม่ได้ ก็อาจสายไปที่จะเลิกคบ แล้วถ้าถึงขั้นต้องหย่าร้างกันจะกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านอีก” จิ๊บให้ความเห็น

แต่สำหรับ "โอม" นักศึกษาชายชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเดียวกัน เห็นว่า คำว่าแต่งงาน ความหมายก็บอกอยู่แล้วว่า จะต้องมีงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว

“เราต้องรับผิดชอบกับอนาคตที่จะเกิดขึ้นภายหน้า วัยรุ่นสมัยนี้อยู่ก่อนแต่งทั้งๆที่บางคนยังต้องแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่เลย ผมคิดว่าเรียนให้จบ มีงานทำก่อน แล้วค่อยคิดจะมีชีวิตคู่ร่วมกัน มันก็ไม่สาย ถ้าสถานะตัวเราเองยังไม่มั่นคง แล้วครอบครัวจะมั่นคงได้ยังไง ส่วนคนที่เห็นว่าการแต่งงานเป็นแค่การอุปโลกน์ ผมคิดว่าเป็นการคิดแบบมักง่ายมากกว่า เป็นการสอนให้คนทำอะไรมักง่าย"

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงด้านหนึ่งจากการสำรวจของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่สำรวจพฤติกรรมเยาวชน ของเด็กและเยาวชน ในรอบปี 2551-2552 โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 150,000 คน ครอบคลุมทั้ง 5 ช่วงวัย คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และ อุดมศึกษา พบว่าในเด็กอาชีวศึกษาและอุดมศึกษายอมรับว่าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วเฉลี่ยร้อยละ 37 และยอมรับการอยู่ก่อนแต่งร้อยละ 50 โดยยังพบวัยรุ่นหญิงอายุต่ำกว่า 19 ปีมาทำคลอดจำนวน 69,387 รายหรือเฉลี่ยวันละ 190 ราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น