++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ลับเด็กให้คม กับประสบการณ์โดนๆ ที่มหา'ลัย ไม่ได้สอน

ถ้าอยากให้มีดคม เราต้องหมั่นลับคมมีดอย่างสม่ำเสมอ วัยโจ๋วัยมันส์ยุคใหม่ ถ้าอยากมีกึ๋นเฉียบคม ต้องหมั่นหาความรู้ตลอดเวลาเช่นกัน ไม่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่ต้องไขว้คว้าเอาประสบการณ์จากนอกห้องเรียนด้วย การฟังประสบการณ์จากคนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในชีวิต กับหัวข้อ "วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน..." ก็เป็นการลับสมองที่ดีไม่น้อย

จตุรงค์ มกจ๊ก นัก แสดงตลกชื่อดัง ผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์กว่า 20 ปีได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การเรียนในห้องเรียนกับประสบการณ์ที่ได้จากนอกห้องมันต่างกัน อย่างสมัยเราเรียนคอมพิวเตอร์ก็ไม่มี สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไม่มี ความรู้ต่างๆก็ได้มาจากการประสบการณ์การทำงานทั้งนั้น แต่เด็กปัจจุบันนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เปิดกว้างในการเรียนรู้ได้มากขึ้น มีเทคโนโลยีต่างๆที่เอื้อให้หาความรู้ได้ง่ายขึ้น

"ผมว่าผมยังไม่ประสบความ สำเร็จนะ แต่ถือว่ามีงานเข้ามามากขึ้น ยังต้องทำงานเก็บสั่งสมประสบการณ์ต่อไปเรื่อยๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนด้านภาพยนตร์มาโดยตรง ผมเรียนจบมส.3 โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี แต่ก็เขียนบทภาพยนตร์มาหลายเรื่อง กำกับมาก็หลายเรื่อง ยิ่งเล่นเองก็หลายเรื่อง ที่ตัวเองสามารถทำได้ เพราะว่าตัวเองอยากจะทำ และตั้งใจ และฝึกมัน อย่างเขียนบทเนี่ย เราก็ฝึกๆ เขียนไปเรื่อยๆ ขี้เกียจก็หยุด จากการการเล่นหนังมาหลายเรื่อง เราก็เอาบทที่ได้เล่นหนังมารวมๆ แล้วเราก็มานั่งดูว่ามันเริ่มต้นยังไง จบยังไง ฉากนี้มันจบยังไง แล้วหนังเรื่องหนึ่งๆ ต้องใช้กี่ฉาก เราก็สะสมไปแล้วเราก็ทำไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ก็ภูมิใจอย่างหนึ่งว่าหนังที่เราเขียนบทออกสู่สายตาคนดูประมาณ 5- 6 เรื่องแล้ว"

ส่วนเรื่องอุปสรรคในการทำงาน ตลกชื่อดังบอกว่า คนทุกคนต้องเจออุปสรรคทั้งนั้น แต่เขาแนะนำว่าให้มองข้ามไป แล้วเอาความพยายาม เข้ามาแทนที่ หากเจออุปสรรคแล้วก้าวถอยหลัง ก็จะไม่มีวันทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ และยังเสนอมุมมองถึงสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนว่า คือการใช้ชีวิต ทำอย่างไรให้เด็กยุคนี้สามารถเอาตัวรอดในสภาวะสังคมไทยในปัจจุบันได้ เพราะมีการแข่งขันกันสูง

ด้าน "หนึ่ง" จักรวาร เสาธงยุติธรรม นัก เปียโนมือหนึ่งของเมืองไทย ร่วมแชร์ประสบการณ์ ว่า ส่วนตัวเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นวงลูกทุ่ง แต่ส่วนตัวอยากเรียนเปียโนมาก ก็พยายามขวนขวายหาวิธีเรียนเอง สิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนสำหรับตัวเองก็คือ การเล่นเปียโน อาศัยครูพักลักจำและความอยากรู้อยากเรียนมาเป็นพลังกระตุ้นให้ตัวเองทำได้ สำเร็จ แต่ทั้งนี้ต้องหมั่นฝึกฝนและเรียนรู้การเล่นเพลงให้หลากหลายที่สุด ใฝ่หาที่ที่มีความรู้ให้เรา เมื่อผ่านประสบการณ์มาหลายเวทีความชำนาญก็เกิดขึ้นได้ในที่สุด

"ผมเคยตั้งเป้าว่า ถ้าเราไม่ได้เรียนเปียโนมาโดยตรง เราจะเล่นเปียโนและทำเพลงได้หรือเปล่า แล้ววันนี้มีคำตอบว่าได้ครับ ผมใช้วิธีแอบดูครูซ้อมเปียโน เห็นเขาดูโน้ตจากหนังสือ เราก็แอบจดชื่อหนังสือเล่มนั้น แล้วไปซื้อมาหัดเล่นเอง จากนั้นก็ลองวิชา ก็ออกไปเล่นดนตรีตามคาเฟ่ - สวนอาหารต่างๆ นั่นมันคือการค่อยๆก้าวทีละก้าว ไปเล่นสุนทราภรณ์ก็ได้เพลงเก่า ไปเล่นกับคนแก่ ก็ได้เพลงยุค 60's 70's มันผ่านมาหมด อย่างหนึ่งที่เห็นคือมหาวิทยาลัยสอนแค่หลักสูตร สูตรการคิดการทำ แต่มหาวิทยาลัยลืมสอนวิธีการใช้งานจริง หรือวิธีการใช้ชีวิต"

ในขณะที่ "เต๋อ" ฉันทวิชช์ ธนะเสวี พระเอกร้อยล้านจากเรื่อง กวน มึน โฮ และนักเขียนบทฝีมือดี กล่าวว่า สิ่งที่นึกถึงคือ การสังเกต มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนให้เราฝึกสังเกต ว่ารอบๆตัวเรา เกิดอะไรขึ้น ใคร ทำอะไร ที่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้และจำเป็นในการทำงานในอนาคต

"การสังเกตมันสำคัญมากในการ เขียนบทภาพยนตร์ เพราะ การเขียนบทภาพยนตร์ตัวละครแต่ละตัวต้องมีมิติ มีความรู้สึก อยากให้น้องๆ ลองมองคนข้างๆ ดูว่าเขารู้สึกยังไง คิดอะไรอยู่ ฝึกไว้เรื่อยๆ มันจะทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้ง่าย มันจะส่งผลต่อการทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะในอาชีพใดก็แล้วแต่ จะฝึกให้เรามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ถ้าเราอารมณ์ดี คุยง่าย ใครๆก็อยากร่วมงานกับเรา และสิ่งที่หาไม่ได้ในห้องเรียนอีกอย่าง คือ การฝึกทำ อย่างน้องๆเรียนอะไรมาก็แล้วแต่ เรียนเก่งมากได้เกรด 4 ตลอด แต่น้องไม่เคยฝึกลงมือทำงานนั้นจริงๆ เลย น้องออกมาข้างนอกน้องก็ไม่มีทางทำได้ดี เพราะฉะนั้น ลองทำไปก่อน น้องยังอยู่ในวัยที่ทำผิดได้ เพราะว่าไม่ได้ทำเพื่อเงิน ไม่มีใครมาจ้างให้เราทำ เราทำเพื่อความสุข ทำเพื่อค้นหาตัวเองพยายามทำให้ดีที่สุด"

ในมุมมองของนักศึกษาอย่าง "อุ๋ย" ขวัญเรือน ไชยตาแสง นัก ศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาภาษาจีน คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร มองว่า วิชาที่ไม่ได้จากห้องเรียน คือ การใช้ชีวิต เนื่องจากสาขาที่เรียน เน้นการเรียนแบบวิชาการล้วนๆ ไม่มีวิชาที่บอกเกี่ยงกับการใช้งานจริง

"อย่างตอนนี้เรียนภาษาจีน เรียนเพื่อเป็นครู ที่มหาวิทยาลัยก็ไม่มีบอกเรื่องการใช้ชีวิต อย่างเราเรียนภาษาจีนในห้อง กับการที่เรามาเยวราชแล้วฟังคนจีนพูด มันต่างกัน คือ ในห้องมันเป็นพื้นฐานไปเลย เรียนแบบตรงๆ พอมาเจอคนจีนเขาพูดกันจริงๆสำเนียงมันต่างไปเลย บางทีเราพูดเขาก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจว่าเราพูดอะไร ประสบการณ์ข้างนอกกับที่เรียนในห้องมันต่างกัน ดังนั้นประสบการณ์นอกห้องเรียนก็สำคัญไม่น้อย เราจำเป็นต้องรู้จักขวนขวายเองบ้าง"

ส่วน "บลู" ศศิวิภา ศรีจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ ม.กรุงเทพ ก็มีความเห็นคล้ายกันว่า วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน คือ การปรับตัว การใช้ชีวิตในสังคม ที่เรียนรู้จากในห้องเป็นเพียงทฤษฎี แต่ไม่มีสอนว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ในห้องเราเรียนรู้มาว่าเราควรปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ แต่ไม่ได้บอกว่าปรับตัวอย่างไร อย่างเช่นในการเรียนสาขาภาษาอังกฤษ ที่นี่จะเน้นเรื่องการเขียนมาก แต่ในชีวิตประจำวันกลับพบว่าการสื่อสารทั้งหมดเบ็ดเสร็จอยู่ที่การพูด หากพูดไม่ได้ก็สื่อสารไม่ได้ ถึงแม้ว่าคุณจะเขียนได้เลิศหรู แต่ไม่กล้าพูดก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงหลักสูตรตรงนี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น