++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สธ. ห้ามขายน้ำเมาวันมาฆบูชา “พรรณสิริ” ชี้ ฝ่าฝืนโทษคุก6เดือนปรับ1หมื่น

by สำนักสารนิเทศ
เผยภาคเหนือครองแชมป์จำนวนนักดื่มมากสุด ภาคกลางดื่มหนักสุด ใต้เมาแล้วขับพรึ่บ

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2554)ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ “วันพระใหญ่ไม่ขายเหล้าเบียร์” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยมี เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และนักเรียนจากโรงเรียนวัดโพธิ์เรียง ร่วมเดินรณรงค์ แจกสื่อ ติดสติกเกอร์ โดยดร.พรรณสิริ ได้ปักป้าย“ห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่” ที่หน้าร้านขายเหล้า และติดสติกเกอร์ บนรถแท็กซี่
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็น 1ใน 4 ของวันพระใหญ่ ที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 ซึ่งประกอบด้วยวันมาฆะบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา โดยยกเว้นให้ขายได้เฉพาะในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2552 เป็นต้นมา ซึ่งในวันพระดังกล่าวสถานบันเทิงเช่นร้านเหล้า ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนใหญ่จะถือโอกาสปิดร้าน ส่วนร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ ให้ความร่วมมือจะไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางแห่งใช้วิธีการติดป้ายบอกลูกค้า ก็ถือเป็นความร่วมมือที่ดี
ที่น่าเป็นห่วงคือร้านค้าปลีกในชุมชน หรือประเภทร้านชำตามหมู่บ้าน ยังพบว่าไม่ค่อยปฎิบัติตามเท่าที่ควร ซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ ช่วยสอดส่องดูแลพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายด้วย ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 จนถึงเวลา 24.00 ของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554
“ขอเชิญชวนชาวพุทธทุกคน งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ เพราะปีหนึ่งมีแค่ 4 วัน เนื่องจากเป็นวันที่มีความสำคัญกับชาวพุทธ นอกจากจะชวนกันเข้าวัดทำบุญแล้ว ก็ควรทำให้ 4 วันดังกล่าวเป็นวันที่งดดื่มและไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งมึนเมาด้วย อย่างไรก็ตามต่อไปในอนาคต หากมีการรณรงค์งดดื่มเหล้าเบียร์ทุกวันพระ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกว่านี้ คาดว่าจะทำให้ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงได้ เพราะวันอันตรายที่เกิดจากคนดื่มเหล้าเบียร์ลดลง” ดร.พรรณสิริ กล่าว
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 14.9 ล้านคน หรือร้อยละ 29.3 ลดลงจากปี 2549 ทีมีจำนวน 15.9 ล้านคน หรือร้อยละ 31 อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ที่ดื่มประจำเพิ่มจากร้อยละ 18.5 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 20.2 ในปี 2550 เมื่อวิเคราะห์รายภาคพบว่า ภาคเหนือมีจำนวนของนักดื่มสูงสุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ภาคกลาง มีพฤติกรรมการดื่มประจำและมีการดื่มหนักสูงสุด ส่วนภาคใต้ซึ่งมีประชากรนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมากจึงทำให้ดื่มน้อยกว่าภาคอื่นๆ แต่พบว่ายังมีสัดส่วนของผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่ยานพาหนะเป็นอันดับที่สองรองจากภาคเหนือ
จากผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึงโทษ พิษภัย และผลกระทบจากที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น รวมถึงเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับสังคมไทยของเราในอนาคต นอกจากนี้จากการประชุมยุทธศาสตร์โลกเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมาซึ่งมีประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมประชุม ประเทศไทยนำโดย นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงให้เป็นประธานของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด และเป็นประธานร่วมในคณะกรรมการผลักดันนโยบายและสร้างเสริมภาคีเครือข่าย เพื่อควบคุมอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการกลางของโลกในการจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งเกียรติยศและความไว้วางใจอย่างสูงที่ประเทศไทยได้รับในครั้งนี้ น่าจะมาจากการผลักดันนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมาย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในช่วงตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น