++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ม.มหิดลจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีบรมราชาภิเษก

ม.มหิดลจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีบรมราชาภิเษก เปิดเวทีเผยแพร่องค์ความรู้พระอัจฉริยภาพรัชกาลที่ 6 ในด้านการดนตรีที่คนไทยไม่ค่อยรู้ เผยมีงานพระราชนิพนธ์ 853 เรื่องที่ต้องใช้ดนตรีบรรเลงประกอบ
ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล อาจารย์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เนื่องในวโรกาสปี 2554 ครบรอบ 100 ปีบรมราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์จัดงานประชุมวิชาการเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะการดนตรีให้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์ พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นเอกอัครมหาศิลปินผู้เชี่ยวชาญทั้งเรื่องอักษรศาสตร์ งานพระราชนิพนธ์บทละคร บทขับร้องประเภทร้อยกรอง มีจำนวน 853 เรื่อง ซึ่งต้องมีดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ ระบุว่า ตามพระราชประวัตินั้นทรงบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงชำนาญในเรื่องของเพลงดนตรีอย่างลึกซึ้ง จนถึงทรงพระราชนิพนธ์บทละครไปพร้อมกับการบรรจุทำนองเพลงลงไว้ทันทีในเวลาเดียวกัน มีหลักฐานแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ โดย ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้รวบรวมไว้ว่า ทรงเริ่มงานวิจารณ์ละครตั้งแต่พระชนมายุ 13 พรรษา เริ่มนิพนธ์บทละครเมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ทรงจัดการแสดงละครและทรงร่วมแสดงละครเมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา มีบทพระราชนิพนธ์ละครทั้งภาษาไทยและอังกฤษมากกว่า 167 เรื่อง บางครั้งเรื่องเดียวกันทรงสร้างไว้หลากหลายแบบ เช่น บทสำหรับละครนอกละครพูด และละครร้องแบบดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
"แม้แต่ละครโอเปราภาษาต่างประเทศก็มีงานที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้ด้วย พระราชประวัติและงานที่ทรงไว้ล้วนมีค่าในงานด้านดนตรีวิทยาอย่างมหาศาล ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ทรงครองราชย์ งานที่ทรงก่อตั้งทั้งดนตรีไทย ดนตรีฝรั่งและงานมหรสพ ทำให้เกิดศิลปินทุกสาขาจำนวนมากที่มีฝีมือและความรอบรู้สามารถในงานศิลปะ เป็นแบบอย่างให้ศิลปะการแสดงของชาติมั่นคงอยู่ได้ รวมทั้งตกทอดมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเกินกว่าจะบรรยายได้หมด" ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศกล่าว และว่า ที่ผ่านมาคนไทยรับรู้พระราชประวัติรัชกาลที่ 6 กับงานการละครเท่านั้น แต่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ว่าพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีทั้งขับร้องและเล่นดนตรีไทยและฝรั่ง
ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีการเสนอบทความวิชาการเรื่องดนตรีและการแสดงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่คนรุ่นปัจจุบันอาจไม่รู้จัก เช่น พระราชนิพนธ์เสภาเรื่องพญาราชวังสัน ประกอบการขับเสภาและบรรเลงปี่พาทย์เสภา ซึ่งประวัติบอกว่าใช้บรรเลงในช่วงพระองค์ทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม), เสวนาเรื่องละครร้อง 6 เรื่องในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 แสดงตัวอย่างละครรำเรื่องศกุนตลา, เสนอผลงานวิจัยเพลงตับเรื่องพระนาละ งานพระราชนิพนธ์อายุกว่า 100 ปีที่ค้นพบจากแผ่นเสียงโบราณ, งานพระราชนิพนธ์เบิกโรง 3 เรื่อง คือ พระคเณศวร์เสียงา รามสูรย์ชิงแก้ว และฤษีเลี้ยงลูก, วงเครื่องสายผสมเปียโนฝ่ายในราชสำนักรัชกาลที่ 6 พร้อมรับฟังการขับร้องและบรรเลงเพลงไทยสากลบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO)
ส่วนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เป็นการบรรยายประวัติศาสตร์กำเนิดเพลงดนตรีครั้งรัชกาลที่ 6 เริ่มต้นด้วยบรรยายประวัติครูผู้สอนดนตรีฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างหมื่นคำรณพิฆาต หมื่นอำนาจไพรี ขุนดนตรีบรรเลง หลวงวาทิตบรเทศ พระประดิษฐ์ไพเราะ พระเจนดุริยางค์ เป็นต้น, เสวนาโรงเรียนพรานหลวงและกำเนิดวงเครื่องสายฝรั่งหลวง, มหาอุปรากรในสมัยรัชกาลที่ 6, วิเคราะห์เพลงฝรั่งที่เกิดใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเสวนาดัมบ์แครมโบ พระราชนิยมการละเล่นในราชสำนักรัชกาลที่ 6
กิจกรรมดังกล่าวจึงขึ้น ณ หอแสดงดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ผู้สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น