++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

รำลึกวัยเด็กที่ "พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 พฤศจิกายน 2552 18:08 น.
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง


ธนบัตรแบบต่างๆในแต่ละยุคสมัย
จำกันได้มั้ยว่าในสมัยก่อนตอนที่เรายังเป็นเด็กน้อยเรามีวิธีเก็บ
เงินอย่างไร? ใช่การหยอดกระปุกรึป่าว?
ฉันจำได้ว่าเมื่อยังเป็นเด็กทุกๆวันฉันจะต้องเก็บเหรียญไว้เพื่อจะมาหยอด
กระปุกแข่งกับญาติพี่น้องรุ่นๆเดียวกันว่าใครจะหยอดได้เต็มก่อนกัน
แล้วเมื่อกระปุกเต็ม
พ่อแม่ก็พาฉันไปแคะกระปุกเอาเหรียญออกเพื่อฝากเงินนั้นไว้ที่ธนาคาร

สมุดบัญชีและกระปุกออมสินสมัยโบราณ
ความทรงจำตอนนั้นได้ย้อนกลับมาตอนที่ฉันได้ไปเยือนยัง
"พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน"
ซึ่งตั้งอยู่ในธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่สะพานควาย
และที่ธนาคารออมสินสำนักราชดำเนิน
โดยฉันจะเริ่มจากพิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ก่อน
เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีมาก่อนที่สำนักราชดำเนิน

เมื่อเข้ามาถึงธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่
ฉันได้ทำความเคารพพระรูปรัชกาลที่ 6
ผู้มีพระกรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงแก่ปวงชนชาวไทยของเราในเรื่องการออม
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร
ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ
ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นการดำเนินงานคลังออมสินของประเทศอังกฤษ
ซึ่งทำหน้าที่ระดมเงินออมจากประชาชนมาให้รัฐบาลใช้เป็นเงินทุนในการประกอบ
กิจกรรมต่างๆ เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย จึงทรงทดลองตั้ง "แบงค์ลีฟอเทีย"
ขึ้น ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
เพื่อฝึกมหาดเล็กให้รู้จักเก็บออมเงินตั้งแต่ยังเด็ก
ตลอดจนรู้วิธีการติอต่อธนาคารเพื่อทำธุรกรรมต่างๆกับธนาคาร

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ออมสินสำนักราชดำเนิน
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงมีพระราชประสงค์ดำเนินกิจการออมสินขึ้นใน
ประเทศ จึงได้พระราชทานเงินทุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1 แสนบาท
พร้อมทั้งได้ทรงจัดตั้ง "คลังออมสิน" ใน พ.ศ.2456
ให้ดำเนินงานภายใต้การควบคุมของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7
ทรงโอนงานคลังออมสินไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมไปรษณีย์โทรเลข ในปี
พ.ศ.2472ต่อมาในปี พ.ศ.2489 ได้เปลี่ยนชื่อจาก "คลังออมสิน" มาเป็น
"ธนาคารออมสิน" ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
และเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่ 1 เมษายน 2490 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน

อุปกรณ์นับเหรียญสมัยเก่าที่ปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่
และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระผู้พระราชทาน
กำเนิดธนาคารออมสิน
แนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสินจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี
พ.ศ.2533 ในสมัยหม่อมราชวงศ์จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต
เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
โดยเริ่มต้นจากการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย
รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ
ซึ่งได้นำสิ่งของและเอกสารที่มีคุณค่าและมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับธนาคาร
ออมสิน จนสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน
พ.ศ.2535 ณ ชั้น 7อาคาร 72 ปี ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ สะพานควาย
เป็นต้นมา

เมื่อเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์
ฉันกวาดสายตาไปโดยรอบแล้วก็ไปสะดุดกับเหล่า "กระปุกออมสิน" หลากหลายแบบ
ทำให้ฉันนึกย้อนเวลากลับไปในความทรงจำวัยเด็ก
กระปุกออมสินมากหน้าหลายตาที่ทั้งคุ้นเคยเพราะเคยมี
และที่ไม่เคยเห็นอีกหลากหลายแบบ
กระปุกออมสินสังกะสีทรงกระบอกสีแดงดูเก่าแก่โบราณเป็นของที่ระลึกชิ้นแรกที่
ได้จัดทำขึ้นในยุคคลังออมสิน เผยแพร่แก่ประชาชนเมื่อวันที่11 พฤษภาคม
พ.ศ.2478

ตู้แสดงสมุดบัญชีของพระบรมวงศานุวงศ์
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนใช้สำหรับเก็บสะสมทรัพย์แล้วนำมาฝากกับคลังออมสิน
เรียกการรับฝากเงินประเภทนี้ว่า "คลังออมสินสำหรับบ้าน" (Home Savings
Bank) ลักษณะที่ดูๆไปก็คล้ายตู้รับจดหมายนั้น
เนื่องจากในสมัยนั้นคลังออมสินอยู่ในการดูแลของกรมไปรษณีย์โทรเลขนั้นเอง

นอกจากนี้ยังมีกระปุกออมสินอีกหลากหลายแบบทั้งรูปกระบอกไม้ไผ่
ที่คนในสมัยก่อนจะเอากระบอกไม้ไผ่มาเจาะช่องหยอดเหรียญ
ต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นนำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปกล่องบ้าง
รูปสัตว์บ้างและมีช่องสำหรับหยอดเหรียญอยู่ด้านบน
ต่อมาก็พัฒนามาเป็นปูนปลาสเตอร์ และพัฒนามาเรื่อยๆจนปัจจุบัน

ตัวอย่างภาพแจกเด็กและปฏิทินไทยในสมัยก่อน
ใกล้กับตู้โชว์กระปุกออมสิน เป็นตู้จัดแสดง
"สมุดบัญชีเงินฝากของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์" อาทิ
สมุดเงินฝากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ,
สมุดเงินฝากของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ทรงฝากให้รัชกาลที่ 8
และรัชกาลปัจจุบัน, สมุดบัญชีเงินฝากของสมเด็จพระพี่นางฯ,
สมุดเงินฝากของสมเด็จพระเทพฯ เป็นต้น
ซึ่งธนาคารออมสินได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท
โดยคลังออมสินได้ถวายรับฝากพระราชทรัพย์จากพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ทั้ง
ทางตรงและทางอ้อม

และในปีพ.ศ.2505 เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาธนาคารออมสินครบ 49 ปี
ได้ขอพระบรมราชานุญาติเข้าเฝ้าถวายการรับฝากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระ
บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
และต่อมาภายหลังได้เข้าเฝ้าถวายการรับฝากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นประจำ
ทุกปีเสมอมา

อาคารธนาคารออมสินสำนักราชดำเนินที่ดูแล้วคลาสสิค
อีกหนึ่งอย่างที่ฉันเห็นแล้วก็กระตุ้นความทรงจำก็คือ
"การ์ดภาพแจกเด็ก" ที่มีเป็นชุดๆ มากมายหลายแบบ อาทิ รูปบุคคลสำคัญในอดีต
เช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระนางจามเทวี พ่อขุนเม็งราย นางนพมาศ
สมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นต้น
เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กรู้จักการออมทรัพย์
ด้วยการแจกรูปภาพแก่เด็กทุกคนที่นำเงินไปฝากธนาคารออมสินด้วยตนเองเป็นประจำ
ทุกวันพฤหัส หรือวันเสาร์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2504 ถึงปีพ.ศ.2548
เมื่อแจกภาพครบชุดแล้ว
ธนาคารจะดำเนินการออกเลขหมายรางวัลเพื่อมอบทุนช่วยการศึกษาแก่เด็กที่มีเลข
หมายหลังภาพตรงกับเลขหมายรางวัล
และมีคุณสมบัติในการฝากเงินครบตามเงื่อนไข

เครื่องใช้สำนักงานที่เคยใช้ในอดีต
นอกจากนี้ยังมี เครื่องมือเครื่องใช้สำนักงานรุ่นเก่า
เครื่องออกสลากออมสิน ปฏิทินสงกรานต์ที่ออกแบบโดยธนาคารออมสิน
สมุดฝากในอดีตจนถึงปัจจุบัน กระปุกออมสินของชาติต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น
อิตาลี จีน ซาอุดิอาระเบีย ศรีลังกา เดนมาร์ก ฯลฯ
รวมทั้งสื่อที่ใช้รณรงค์เรื่องการออมทรัพย์ เช่น โปสเตอร์
เครื่องฉายภาพยนตร์ ธนบัตรและเหรียญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ซึ่งแบงค์ในสมัยก่อนมี แบงค์ 50 สตางค์ แบงค์ 1 บาท แบงค์ 2 บาท แบงค์ 5
บาท แบงค์ 10 บาทด้วย

เมื่อเพลิดเพลินกับพิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสินที่สำนักงานใหญ่แล้ว
ฉันก็ไปต่อที่อดีตสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสินในระหว่างปี พ.ศ.2493-2508
หรือที่ "พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน สำนักราชดำเนิน"
ที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2552
ที่ผ่านมา เนื่องจากที่สำนักราชดำเนินมีพื้นที่กว้างพอสำหรับจัดแสดงพิพิธภัณฑ์
ทำเลมีการคมนาคมที่สะดวกมีประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติสัญจรผ่าน
จึงเหมาะสมจะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์

ภาพธนาคารออมสินในอดีตและเรือ-รถเคลื่อนที่ของธนาคาร
พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 ภายในจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ อาทิ
พระมหากษัตริย์กับการออม
ประธานกรรมการและผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนแรก-ปัจจุบัน
ประวัติธนาคารออมสินสำนักงานราชดำเนิน
กระปุกออมสินในยุคต่างๆทั้งของในประเทศไทยและต่างชาติ
และยังมีกระปุกออมสินทองคำจำลอง
ซึ่งกระปุกออมสินทองคำของจริงนั้นได้ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติครองราชย์ครบ 60 ปี

ตู้แสดงรูปแบบของกระปุกออมสินแบบต่างๆทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมี สมุดเงินฝากต่างๆ
ความหมายของตราสัญลักษณ์ธนาคารออมสิน เครื่องออกสลากในสมัยก่อน
เครื่องมือเครื่องใช้สำนักงานในอดีต สลากออกสินพิเศษ
เครื่องฉายหนังกลางแปลงเพื่อฉายโฆษณาของธนาคารในอดีต
จำลองสาขาของธนาคารในปัจจุบัน ตู้ATMแบบเก่าและใหม่
จำลองห้องทำงานของผู้บริหารธนาคารในอดีต
รถเคลื่อนที่-เรือเคลื่อนที่ของธนาคารเพื่อให้เข้าถึงประชาชน
อีกทั้งเรือเคลื่อนที่นี้ยังเป็นธนาคารลอยน้ำแห่งแรกของโลกและแห่งเดียวใน
ไทยอีกด้วย

เมื่อเดินชมพิพิธภัณฑ์หวนนึกถึงความทรงจำวัยเด็กแล้ว
ก็ทำให้ฉันนึกอยากจะกลับมาหยอดกระปุกอีกครั้งหลังจากลืมเลือนไปนาน
เพราะความน่าสนุกและเป็นประโยชน์ของการหยอดกระปุกเช่นนี้ไม่ว่าวัยไหนๆก็
หยอดได้


พิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่
เปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะโดยต้องทำหนังสือถึง
ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อขออนุญาตล่วงหน้า
สำหรับพิพิธภัณฑ์ธนาคารออมสิน สำนักราชดำเนิน
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่ต้องทำหนังสือและไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดยเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันจันทร์ , พุธ ศุกร์ เวลา 9.00 - 15.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 02-2998000 ต่อ 040334-5

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000131888

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น