++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สารคดีสั้น กำเนิดพลอยเมืองจันท์

โดย รังสรรค์ ประทุมวงศ์

เขาพลอยแหวน ใกล้กับจังหวัดจันทบุรี เมื่อหลายสิบปีก่อน มีพลอยล้ำค่ามหาศาล ทำเงินให้กับชาวจันท์ ได้อยู่ดีกินดีกันมากมาย จนเมืองจันท์เจริญรุ่งเรือง


เขาพลอยแหวนในอดีตน่าเกรงกลัวยิ่งนัก ที่นั่นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาถรรพถ์ปกปักรักษาไว้ และมีศาลเก่าพระเจ้าตากสินสถิต อีกทั้งยังมีค่ายคู่เก่าพร้อมทั้งปืนใหญ่มากมาย มีลูกปืนฝังกระจัดกระจายทั่วไปทั้งในและนอกค่าย อาจเกิดจากการยิงต่อสู้กันระหว่างสัตรูผู้รุกราน และฝ่ายป้องกันตัวเอง แน่นอนว่า ต้องมีผู้เสียชีวิตมากมาย จึงกลายเป็นแดนอาถรรพถ์อย่างที่ว่า


ครั้งนั้นยังเป็นป่าดงดิบเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น และมีสัตว์ป่าอสศัยอยู่มากมาย แต่สัตว์ร้ายชื่อดังคือ เสือใหญ่เสียงคำรามดังก้องป่า และมันเคยลงจากเขามาล่าคนเอาตวัดพาดหลัง แล้วกระโจนหายลับไป ชาวบ้านกลัวต้องหนีหาที่อยู่ใหม่กันมาก


พอเรื่องเสือร้ายเงียบไป ก็มีพรานหาของป่าเข้าไปหากินในนั้น ได้นกและสัตว์เล้กๆพร้อมทั้งพืชผัก หาบคอนใส่บ่าเดินลิ่วกลับบ้าน แต่หาทางออกไม่เจอ เดินวนไปเวียนมาถึง ๒ วันอยู่ในป่า ผลสุดท้ายออกมาตายที่ตีนเขา ชาวบ้านแถบนั้นพูดกันว่า "ถูกเจ้าที่เจ้าทางทำเอา" เพราะที่แรงนั่นเอง


ไม่นานเท่าไหร่ ชาวบ้านยังไม่ลืมเหตุการณ์ ก็มีคนอยากได้ไม้บนเขานี้มาปลูกเรือนอยู่อาศัย พาพรรคพวก ๕ คนจะเข้าไปตัดไม้ตะเคียนซึ่งมีมากมาย คนแถบนี้ช่วยกันห้ามปรามด้วยความปรารถนาดี แต่เขาไม่เชื่อ ดื้อเข้าไปจนได้ ถึงที่หมายต่างช่วยกันตัดโค่นอย่างจริงจัง จนได้หลายต้น คิดว่าจะพอแล้ว เอาต้นสุดท้ายอีกต้นเดียว ขณะกำลังตัดใกล้จะล้ม ไม่รู้อีท่าไหนเดินไปให้ต้นไม้ล้มทับซะงั้นแหละ ตัวแบนแต๋ดแต๋จมดินเลย แบบไม่ต้องได้สั่งเสีย ชาวบ้านพูดกันทั่วว่า ถูกเจ้าที่เจ้าทางทำเอา-เฮี้ยนนั่นเอง


บนเขาพลอยแหวนในอดีตนั้นมีทรัพยากรมากมาย จำพวกไม้เนื้อแข็งชั้นดีมีราคาแพง น่าเชื่อว่าเมื่อพระเจ้าตากสินทรงต่อเรือรบด้วยไม้ได้ถึง ๒๐๐ ลำยกทัพไปกู้กรุงศรีอยุธยาที่พม่ายึดไว้ได้สำเร็จ น่าจะเอาไม้ที่แห่งนี้ไปต่อเรือ เพราะอู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินอยู่หมู่บ้านเสม็ดงามใกล้ทะเล ห่างจากเขาพลอยแหวนไม่ถึง ๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น


ที่ดินบนเขาพลอยแหวนนับเป็นที่ชั้นดีมีต้นไม้ขึ้นเขียวขจีไปทั่ว ต่อมาชาวบ้านจึงไปจับจองกันไว้ โดยไม่เกรงกลัวเหมือนก่อน ต่างโค้นไม้ถางที่ทำสวนกันอย่างสนุกมือ สวนเงาะและทุเรียนจึงขึ้นมาแทนป่าไม้บนเขานี้


ณ ที่แห่งนี้ ไม่ไกลจากศาลพระเจ้าตากสินนัก มีพลอยล้ำค่าในดินมากมาย ไม่มีใครรู้ ปีนั้นฝนตกใหญ่เหมือนฟ้ารั่ว ๑๐ วัน ๑๐ คืน น้ำป่าบนเขาไหลทะลักสู่เบื้องล่างรุนแรง เซาะแซะหินดินทรายร่วงลงไปกลายเป็นลำธาร พอฝนแล้งน้ำแห้ง มองเห็นหินเล็กหินน้อยเกลื่อนร่วงกับพลอย มีชาวสวนถือคันกระสุน (ธนู) ไปยิงนก มองเห็นลำธารลึก ๒-๓ วาและน้ำแห้ง จึงเดินลงไปหวังจะข้ามไปอีกฝั่ง ขณะเดินมองเห็นก้อนหินเม็ดกำลังเหมาะที่จะทำเป็นเม็ดกระสุนยิงนก จึงเก็บอย่างสนุกมือ ใส่ย่ามไว้ไปยิงนก


เมื่อกลับมาถึงบ้าน นายพรานยิงนกผู้นั้นจึงเทก้อนหินออกมาดู มองเห็นหินสีสวยแปลกตาจึงเก็บไว้ต่างหาก เอาเฉพาะที่ไม่สวยไว้ยิงนก พอมีเพื่อนบ้านผ่านมาเขาจึงเอาออกมาอวด เพื่อนบ้านเห็นสวยเลยไปเก็บบ้าง เมื่อได้มาก็อวดต่อๆกัน จึงไปหาเก็บกันใหญ่ ต่างได้ทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง


ที่รู้ว่าเป็นพลอยก็เพราะคนในเมืองขึ้นไปหาญาติพี่น้องบนเขา มองเห็นสวยดีจึงขอมาทำหัวแหวนใส่นิ้วให้โก้เก๋ หลายคนไปจ้างช่างทำเป็นหัวแหวน ช่างถึงกับสั่นหัวไม่อยากทำ เพราะพลอยเนื้อแข็งมาก กว่าจะทำได้แต่ละเม็ดนานหลายวัน นั่งโกลนแต่งอยู่นั่นแล้วไม่เป็นรูปร่างง่ายๆ เพราะเครื่องมือสมัยนั้นไม่ดีพอ เหมาะกับทำพลอยเนื้ออ่อนจำพวกเพทาย และโกเมนเท่านั้น


ที่คนนิยมมากขึ้นก็เพราะมีเครื่องมือชั้นดีมาจากต่างประเทศ เป็นหินกากเพชรชนิดคม สามารถโกลนพลอยได้ดีเหมือนดังใจและช่างก็พัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นตาม จึงทำให้ถูกส่วนสวยงามยิ่งขึ้น เมื่อพลอยสวยก็ทำให้มีคนอยากได้กันมาก จึงเฮโลไปหากันมากมายตามลำธาร ต่างก้ได้กันคนละเล็กคนละน้อยจนหาไม่ได้อีก


มีคนหัวดี คิดว่าพลอยที่หาได้ตามลำธารนั้นต้องไหลตามน้ำมาจากในดินแน่ ก็เลยลงมือขุดในลำธารก่อน เพียงลึกลงไปไม่ถึงวาก็เจออย่างจังเป็นพลอยบุษราคัม สีสวยมาก


ผู้คนที่คอยลุ้นอยู่รอบๆจึงกลับบ้านชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงไปขุดหาพลอยกันอย่างคึกคัก ในลำธารยาวจึงเต็มไปด้วยนักแสวงโชค เหล่าแม่ค้าก็เลยได้โอกาสหาบขนมและของกินต่างๆไปขาย กลายเป็นตลาดกลางป่าในนั้น คนในเมืองก็ไปซื้อหาอีกด้วย ช่วยให้คนขุดได้มีเงินไว้จับจ่ายกันอีกต่อ ถึงพลอยจะยังมีราคาถูกเพียง ๑๐-๒๐ บาท สวยมากๆ และเม็ดใหญ่ๆมีราคาแค่ร้อยเท่านั้น


นักขุดหลายคนได้ที่น้อย ขุดไม่นานวันก็หมด เพราะลำธารกว้างแค่ ๒-๓ วา ยาวเพียง ๑๐๐ กว่าวา เท่านั้น และจังหวะนั้นพลอยขายดีพอสมควร เพราะมีชาวกรุงเทพฯ มาซื้อกันมาก ทำให้พลอยไม่พอขาย จึงมีคนหัวดีเปิดที่ให้เช่าขุดเป็นหลุมเป็นบ่อ นักขุดต่างแย่งกันจองรายละ ๕ หลุม ๑๐ หลุม เจ้าของที่ดินสบายไป ชาวสวนใกล้กันเห็นดีจึงเอาอย่างบ้าง รวมกันนับร้อยไร่ ข่าวนี้รู้ไปถึงชาวนาชาวไร่ที่อยู่ไกลออกไป อยากได้เงินใช้จึงเฮโลขึ้นไปหาเช่าขุดบ้าง ผู้คนก็เลยคึกคักยังกับมดปลวก เมื่อมีนักขุดมาก คนซื้อก็มาก ที่นั่นจึงเหมือนมีงานมหกรรมทีเดียว


จนมีเรื่องราวพิสดารร้อยแปดเกิดขึ้นเป็นตำนานที่เล่าขานกันจนบัดนี้ แม้ว่ามหกรรมขุดพลอยจะจบสิ้นไปนานแล้วก็ตาม

โดย รังสรรค์ ประทุมวงศ์
ในต่วย' ตูน ปีที่ ๓๑ เล่มที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น