++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552

ลายไทยบนมอเตอร์ไซด์ จากเด็กเพาะช่าง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    

มอเตอร์ไซด์นอกจากจะเป็นพาหนะอย่างหนึ่งที่ใช้ในการเดินทางแล้ว ยังมีอีกหลายๆ คนที่มีมอเตอร์ไซด์คันใหญ่ยักษ์อย่างฮาร์เล่ย์ – เดวิดสันไว้ในครอบครอง แต่ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซด์คันเล็กที่เราได้เห็นตามท้องถนนทั่วๆ ไป หรือจะเป็นมอเตอร์ไซด์คันยักษ์ หากเป็นรุ่นเดียวกันย่อมต้องมีสีสันลวดลายเหมือนๆ กัน ดังนั้นเพื่อสร้างเอกลักษณ์และลวดลายที่เป็นตัวของตัวเอง
      
       “วรรณิภา ภูมิสาคู” นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี จึงคิดที่จะทำลวดลายบนโลหะของรถมอเตอร์ไซด์ขึ้นมา และทำเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายส่งอาจารย์ผู้สอน พร้อมกับนำไปเข้าร่วมนิทรรศการศิลปะนิพนธ์เครื่องโลหะ – อัญมณี เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
      
       ที่มาที่ไปของการคิดที่จะทำลวดลายบนมอเตอร์ไซด์นั้น วรรณิภาเล่าว่าเกิดจากการที่เธอได้เห็นรถของคนในประเทศอเมริกามีการแต่งรถ กันมาก แต่ไม่ค่อยมีการใส่ลวดลายลงไป
      
       “มีคนอเมริกันคนหนึ่งเขาชื่ออินเดียน ลารี เขาเอามอเตอร์ไซด์ชอปเปอร์มาทำให้สวยขึ้น ด้วยการทำลายลงไปทำให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แล้วก็มาศึกษาหาข้อมูลต่อก็พบว่ามีคนไทยคนหนึ่งชื่อมอริส เขาก็ทำลายโดยแกะเป็นลายหลุยส์ เราเห็นแบบนี้แล้วเราก็มีรถอยู่แล้วลองทำดูบ้างว่าจะออกมาเป็นอย่างไร”
      
       วรรณิภาบอกว่าลวดลายที่เธอเลือกทำบนรถมอเตอร์ไซด์นั้น เธอใช้ลายไทยเป็นดอกพุฒตาลมาทำทั้งหมด
      
       “ขั้นแรกก็ใช้ปากกาเขียนซีดีมาเขียนลายลงไปบนชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ ต้องการทำลายลงไปก่อน ที่ใช้ปากกาเขียนซีดีเขียนลาย เพราะไม่ต้องการให้ลายหลุดไปก่อน จากนั้นใช้เครื่องมือในการแกะลาย แกะเป็นลายตามเส้นลายที่เราวาดไว้ เครื่องมือแกะที่ใช้ทางช่างเรียกว่าเม็ดมะยมนะคะ มีลักษณะคล้ายๆ สว่านเล็กๆ ที่เราถือได้แล้วก็เปลี่ยนหัวได้หลายขนาดมีทั้งหัวเล็ก หัวใหญ่
      
       พอเราแกะเป็นลายเส้นแล้ว ตรงส่วนไหนที่เราไม่เอาก็ค่อยๆ เอาเม็ดมะยมนี่ล่ะค่อยๆ แกะเอาพื้นออกไปทีละนิดๆ แล้วเราก็ทำให้เรียบด้วยเม็ดมะยมนี่ล่ะ ก็เปลี่ยนหัวเม็ดมะยมใช้ขนาดตามเหมาะสมกับพื้นที่ที่เราทำลาย”
      
       ระยะเวลาในการทำลายลงบนรถมอเตอร์ไซด์นั้นวรรณิภาบอกว่าถ้าทำลวดลายทั้งคันต้องใช้เวลาเป็นเดือน เพราะมีหลายชิ้นมาก
      
       “เวลาทำลวดลายแบบแกะลายลงไปบนเครื่องก็ต้องถอดชิ้นส่วนนั้นออกมาก่อน ถ้าเป็นชิ้นใหญ่ๆ 1 ชิ้นก็ใช้เวลาทำ 4 – 5 วันต่อหนึ่งชิ้น ทั้งคันก็หลายชิ้นก็ใช้เวลานาน เพราะกว่าจะเขียนร่างเป็นเส้นเสร็จ กว่าจะแกะเอาพื้นเครื่องออกได้ต้องใช้เวลานานมากเพราะชิ้นส่วนเครื่องยนต์ มันแข็ง กว่าจะปรับผิวที่แกะออกไปให้เรียบอีกก็เลยต้องใช้เวลาเป็นเดือน ดังนั้นระหว่างที่ทำลายลงไปรถก็วิ่งไม่ได้ เพราะต้องถอดชิ้นส่วนออกมาทำ”
      
       ส่วนลวดลายบนถังน้ำมันนั้นวรรณิภาบอกว่าใช้เทคนิคการกัดกรด โดยส่วนใดที่ไม่ต้องการให้กรดกัดก็จะใช้วานิชดำ เขียนเหมือนถมไปทั้งหมดแล้วก็ลงสีทองอีกทีหนึ่งก็จะได้ลายตามต้องการแล้ว
      
       “ถ้ามีคนอยากทำลายแบบนี้ เอามาให้หนูทำก็ได้ ค่าฝีมือในการทำนี่คิดเป็นชิ้นก็ได้ค่ะ เพราะบางคนเขาก็ไม่ได้อยากทำลายทั้งคัน ก็ต้องมาคุยกันค่ะว่าจะทำชิ้นไหน เพราะแต่ละชิ้น แต่ละลายก็ใช้เวลา กับความยากในการทำไม่เหมือนกันค่ะ....”


http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000039129

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น