++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

เที่ยว"ร้อยเอ็ด"...เจ็ดย่านวัด

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์\\\


"ไปเที่ยวจังหวัดเกินร้อยกัน"

อ๊ะ..งง!!งง....หลายคนเริ่มเกิดอาการสงสัยว่าประเทศไทยมีแค่ 76 จังหวัดเอง ยังไม่ถึง 100 เสียหน่อย แล้วจะมีจังหวัดที่เกินร้อยมาได้ยังไง??

มีสิจะไม่มีได้ยังไง เพราะจังหวัดเกินร้อยที่ "ตะลอนเที่ยว" กำลังพูดถึงและจะพาไปเที่ยวกันก็คือ "จังหวัดร้อยเอ็ด" (101) นั่นยังไง

จ.ร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ตอนกลางของภาคอีสาน มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี อดีตเคยเป็นเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองมาก ชื่อว่า สาเกตนคร มีเมืองขึ้นถึงสิบเอ็ดเมือง และมีทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดประตู (ในสมัยโบราณนิยมเขียนสิบเอ็ดเป็น 101 คือสิบกับหนึ่ง)

เจดีย์หินทรายที่วัดป่ากุงที่จำลองแบบมาจากบุโรพุทโธ
ทุกวันนี้จ.ร้อยเอ็ดถือว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคอีสานที่มีความ น่าสนใจให้ไปเที่ยวชมไม่น้อยเลย ถึงจะไม่เด่นเรื่องธรรมชาติป่าเขา ลำเนาไพร แต่ว่าจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนสถานมากมาย หากใครที่ชอบเที่ยววัด เดินทางมาเที่ยวร้อยเอ็ดเป็นต้องชื่นชอบ เพราะมีวัดเก่าแก่สวยงามให้เลือกเที่ยวชมมากมาย ซึ่งในทริปนี้เพื่อนสาวก็มาชักชวนให้เราไปตระเวนทัวร์วัดร้อยเอ็ด แบบไม่ถือเคล็ดเลขสวย เอาแค่ขอเที่ยวเจ็ดวัดในเมืองและนอกเมืองที่น่าสนใจก็แล้วกัน

โดยพวกเราเลือกที่จะขอเปิดทริปแสวงบุญกันที่ "วัดป่ากุง" อ.ศรีสมเด็จ ซึ่งเป็นวัดของเกจิพระชื่อดัง คือ พระเทพวิสุทธิมงคล หรือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดแห่งนี้มีอาณาบริเวณที่กว้างขวางมาก ร่มรื่น และสงบเงียบ เหตุที่เรามาที่วัดนี้ก็เพื่อมากราบนมัสการหลวงปู่ศรีเพื่อความเป็นสิริมงคล และเที่ยวชมเจดีย์หินทราย อันยิ่งใหญ่และตระการตาที่ก่อสร้างตามแบบเจดีย์บุโรพุทโธ บรมพุทโธ ประเทศอินโดนีเซียที่หลวงปู่ศรีประทับใจเป็นอย่างมากเมื่อครั้งที่หลวงปู่ ศรีมีโอกาสไปจำพรรษาที่นั่น และผสมผสานกับความเป็นไทย ซึ่งเมื่อมาเห็นแล้วต้องถึงกับอ้าปากร้องว่า โอ้โห ช่างสวยงามอะไรเช่นนี้

พระมหาเจดีย์ชัยมงคลอันยิ่งใหญ่งามตา
เจดีย์แห่งนี้มีฐานกว้าง 40 x 40 ม.สูง 19 ม. ปลียอดพระเจดีย์หุ้มทองคำหนัก 101 บาท การประดับตกแต่งพระเจดีย์ มีภาพแกะสลักนูนต่ำหินทรายสีเหลือง แบ่งเนื้อที่ใช้สอยออกเป็น 5 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 ภายนอก เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมี และภายในสลักประวัติและเรื่องราวต่าง ๆ ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร) และภาพบูรพาจารย์ 8 องค์ ชั้นที่ 2 ภายนอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติจนถึงทรงตรัสรู้บรรลุอนุตรสัมโพธิญาณ ส่วนชั้นที่ 3 ภายนอก เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่พระพรหมอาราธนาโปรดสรรพสัตว์ จนถึงเสด็จขับขันธปรินิพพาน และชั้นที่ 4 ภายนอกเล่าเรื่องราวชัยมงคลคาถา (พาหุง 8) สุดท้ายชั้นที่ 5 ภายนอกสลักภาพสังเวชนีสถาน 4 ตำบล

เราใช้เวลาชื่นชมความวิจิตรงดงามของเจดีย์อยู่พอสมควร จากนั้นก็ออกจากวัดป่ากุง เดินหน้ามุ่งสู่ตัวเมืองร้อยเอ็ด เพื่อตรงมายังวัดที่สอง คือ "วัดสระทอง" ถ.หายโศรก ในตัวเมือง เพื่อสักการะองค์หลวงพ่อพระสังกัจจายน์ ที่ชาวร้อยเอ็ดให้ความเคารพสักการะกันเป็นอย่างมาก

สิมคู่ วัดสระเกตุ
หลวงพ่อพระสังกัจจายน์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่เมื่อปี พ.ศ. 2325 พระยาขัตติยะวงษา (ท้าวธน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ได้พบพระองค์นี้เห็นว่ามีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก จึงได้นำมาประดิษฐานที่วัดสระทองและยกให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่ ศักดิ์สิทธิ์มาก

หลังกราบไหว้ขอพรจากองค์พระเราเดินทางไปต่อที่ "วัดเหนือ" ถ. ผดุงพานิช วัดเก่าแก่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2163 ภายในวัดนั้นมีโบราณสถานอันน่าชมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เสาหินแปดเหลี่ยมที่สูงประมาณ 1.50 ม. ลักษณะคล้ายศิวลึงค์ของทางศาสนาพรหม ตรงฐานมีจารึกอักษรปัลลวะ เป็นอักษรของอินเดียโบราณ ถอดความได้ว่า "สถานที่ศักดิ์ผู้ไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้า" สันนิษฐานว่าเสาหินแปดเหลี่ยมนี้มีหน้าที่คล้ายใบเสมา คือใช้ปักบอกอาณาเขต

นอกจากนี้ยังมี สถูปทรงบัวเหลี่ยม หรือ พระธาตุยาคู สถูปเก่าแก่คู่วัดมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญอันโดดเด่น รวมถึงใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่สมัยทวาราวดีอายุประมาณ 1,200 ปี ขนาด 2 เมตรเศษ ที่ฝังลึกรายรอบซึ่งหาชมไม่ได้ง่ายๆ

พระสังกัจจายน์ วัดสระทอง
เมื่อเราได้สักการะพระธาตุยาคูกันเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางออกจากวัดเหนือตรงไปยัง "วัดกลางมิ่งเมือง" ถ.เจริญพานิชย์ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งเมืองร้อยเอ็ดเสียอีก ส่วนโบสถ์สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย

สำหรับความน่าสนใจของวัดนี้เห็นจะอยู่ที่สิม หรือพระอุโบสถของวัด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างอันงดงาม และภายในบริเวณผนังรอบพระอุโบสถยังมีภาพวาดจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติอัน สวยงามและมีค่าทางศิลปะเป็นอย่างมาก ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

หลังจากที่ได้ดูของดีมากมายจากวัดกลางมิ่งเมือง เราเดินทางเข้ามาในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เพื่อมายังวันที่ห้า นั่นคือ "วัดบูรพาภิราม" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเดิมชื่อ วัดหัวรอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดบูรพาภิราม ที่มี พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือ หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทยเป็นไฮไลท์

หลวงพ่อใหญ่ วัดบูรพาภิราม
หลวงพ่อใหญ่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้านนอกองค์พระบุด้วยกระเบื้องโมเสกสีเนื้อ เฉพาะองค์พระมีความสูง 59.20 ม. ความสูงรวมฐานประมาณ 67 ม. ชนิดที่ที่ว่าต้องแหงนคอตั้งบ่าชมกันเลยทีเดียว

เราใช้เวลาอยู่ที่วัดบูรพาฯ สักพัก ก่อนที่จะออกทัวร์แสวงบุญกันต่อ คราวนี้เราเดินทางออกนอกเมืองกันเพื่อตรงมาที่บ้านน้ำคำ อ.สุวรรณภูมิ เพื่อมายัง "วัดสระเกตุ" เป็นวัดที่ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย วัดแห่งนี้ไม่ได้ใหญ่โตมากมายนัก แต่มีความเงียบสงบ และมีโบราณสถานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่มีที่ไหนเหมือน คือ ภายในวัดมีสิมคู่ ซึ่งตามปกติแล้วแต่ละวัดจะมีสิม หรือ โบสถ์เดียว แต่ที่วัดนี้มีสิมคู่ที่สร้างเหมือนกัน คือ หลังหนึ่งเป็นโบสถ์ อีกหลังเป็นวิหาร

สิมคู่นี้มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมอีสานเป็นอย่างมาก มุขหน้าทำเป็นเครื่องไม้ประดับแกะสลักลวดลายราหูอมจันทร์ และลายพรรณพฤษาอย่างวิจิตรงดงาม ภายในสิมที่เป็นวิหารมีพระเจ้าใหญ่รูปแบบศิลปะล้านช้างอันงดงามให้ได้กราบ สักการะขอพรกันจนอิ่มใจ ก่อนที่จะเดินทางตรงไปยังอ.หนองพอก เพื่อไปยังวัดที่เป็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายของทริปนี้ คือ "วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม"อันเป็นที่ตั้งของ "พระมหาเจดีย์ชัยมงคล" อันสวยงามสุดอลังการ ซึ่งถือเป็นเจดีย์เชิดหน้าชูตาของจังหวัดร้อยเอ็ดกันเลยทีเดียว

เจดีย์ชัยมงคล ดำเนินการก่อสร้างโดย พระอาจารย์ศรีมหาวิโร ลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นเจดีย์ที่ใหญ่มากองค์หนึ่งของเมืองไทย สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นเจดีย์สีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ กว้าง 101 ม. ยาว 101 ม.ความสูง 101 เมตร เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุค ใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก

พระธาตุยาคู วัดเหนือ
ภายในพระมหาเจดีย์มีทั้งหมด 6 ชั้นให้ได้เดินเที่ยวชมกัน คือ ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ ใช้เป็นห้อง เอนกประสงค์ และประชุมบำเพ็ญบุญ ชั้นที่ 2 เป็นศาลาประชุมสงฆ์ ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ชั้นที่ 3 เป็นชั้นอุโบสถ ประดิษฐานรูปพระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีต เป็นรูปเหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโน 101 องค์ ส่วนชั้นที่ 4 เป็นชั้นชมวิว ที่จะได้ชื่นชมกับทัศนียภาพรอบภูเขาเขียวอันงดงาม ชั้นที่ 5จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ และชั้นที่ 6 เป็นชั้นสูงสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้ได้กราบสักการะขอพรเสริมสิริมงคล ให้กับชีวิต เรียกว่าพวกเราปิดทริปทัวร์วัดเที่ยวจังหวัดเกินร้อย ด้วยความอิ่มเอิบใจแบบเกินร้อย บอกได้เลยว่า "เราชอบจังหวัดเกินร้อย (ร้อยเอ็ด) กับการได้มาตะลอนเที่ยววัดทั้งเจ็ดย่านวัด"

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การ เดินทางไปจ.ร้อยเอ็ดโดยรถยนต์ ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ -สระบุรี-นครราชสีมา(ทางหลวงหมายเลข 2) ถึงอ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 23 มหาสารคาม -ร้อยเอ็ด รวมระยะทางประมาณ 512 กม.

สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวร้อยเอ็ด เพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานขอนแก่น(ดูแล พื้นที่ ขอนแก่น,มหาสารคาม,ร้อยเอ็ด,กาฬสินธุ์) โทร.0-4324-4498-9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น