++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552

กำเนิด"ครีเอทีฟคอมมอนส์"เพื่อคนไทย สุดยอดทางเลือกสำหรับโชว์งานบนเน็ต

เลิกเซ็งกับการถูกคนอื่นแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ ข้อเขียน เพลง ภาพถ่าย วิดีโอ และอื่นๆ ที่เราในฐานะผู้สร้างอุตส่าห์ใจดีอัปโหลดไว้ให้ชมฟรีบนอินเทอร์เน็ต เพราะวันนี้ คนไทยทุกคนสามารถใช้ "สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์สำหรับประเทศไทย" เพื่อสงวนลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ของตัวเองได้โดยที่ ยังเปิดเสรีให้ผู้ใช้รายอื่นสามารถหยิบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปใช้ได้ตาม ปกติ ทางสายกลางนี้เชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรม"คอนเทนต์เสรี"ของไทยในยุค ดิจิตอล ซึ่งเป็นยุคที่การเผยแพร่-ดัดแปลงชิ้นงานสร้างสรรค์ ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเหลือเกิน
      
       สิ่งที่เกิดขึ้นในสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์สำหรับประเทศไทยที่ เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 2 เมษายน 2552 คือการแปลสัญญาบางส่วนเป็นภาษาไทย และปรับแก้ให้สอดคล้องกับกฏหมายของประเทศเพื่อให้สามารถมีผลบังคับใช้กับ กฏหมายไทยได้โดยสะดวก คณะทำงานเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทยระบุว่า สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการให้ความรู้ทั้งสองด้านอย่างจริงจัง ทั้งด้านผู้สร้างสรรค์งานเช่น บล็อกเกอร์ นักวิจัย นักเขียน หรือนักถ่ายภาพ และด้านประชาชนทั่วไปที่จะต้องรู้ว่าสามารถคัดลอกงานเหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อ อย่างเสรีในระดับใด
      
       สงวนสิทธิ์แต่ไม่ปิดกั้น
      
       " ก่อนนี้โลกของลิขสิทธิ์มีเพียง 2 ข้าง ไม่สาธารณะไปเลยก็สงวนลิขสิทธิ์ (Copyright) แต่ cc (CreativeCommons) จะอยู่ตรงกลาง ให้สิทธิ์เจ้าของงานกำหนดเงื่อนไขการเอาไปใช้ในสาธารณะ" ชิตพงษ์ กิตตินิรันดร ผู้ประสานงาน เครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทยอธิบาย
      
       ยกตัวอย่างช่างภาพมือสมัครเล่นที่อยากโชว์ฝีมือตัวเองด้วยการนำภาพ ถ่ายมาโพสต์ในเว็บล็อก จะสามารถกำหนดให้ผู้ที่นำภาพไปเผยแพร่ต่อต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบางข้อ เช่นต้องอ้างแหล่งที่มาและห้ามนำไปขายต่อ ด้วยการนำป้ายเงื่อนไข cc ซึ่งจะมีลักษณะเป็นตัวอักษรย่อในกรอบขนาดเล็ก มาติดไว้ในหน้าเว็บเพื่อบอกให้ผู้ที่ต้องการเผยแพร่งานต่อ รับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิใดและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใดบ้างตามที่เจ้าของงาน กำหนดไว้
      
       " คุณสามารถแปะสัญญา cc ใต้ผลงานโดยเข้าไปที่ cc.org กดที่ license your work เลือกที่ประเทศไทย เมื่อเลือกเงื่อนไขที่ต้องการได้แล้วจะได้รหัส HTML ในลิงก์ที่ระบบประมวลผลให้ นำรหัสนี้ไปติดในเว็บก็สามารถบอกสิทธิ์แก่ผู้อ่านทั่วไปว่าสามารถทำอะไรได้ บ้าง"
      
       อักษรย่อแสดงระดับของสิทธิ์ cc ที่ใช้กันมากในขณะนี้มี 4 ชื่อ ได้แก่ by ต้องแสดงแหล่งที่มา, nc ไม่ใช้เพื่อการค้า, nd ไม่แก้ไขต้นฉบับ และ sa ผู้ เผยแพร่ต่อต้องใช้สัญญาแบบเดียวกันต่อไปเรื่อยๆ อักษรเหล่านี้ถูกนำมาผสมและจัดชุดเป็น 6 ชุดให้ผู้สร้างงานเลือกได้โดยสะดวก ได้แก่ by, by-sa, by-nd, by-nc, by-nc-sa และ by-nc-nd
      
       "nd เหมาะสำหรับงานที่ผู้สร้างมองว่ามีความสมบูรณ์และไม่ต้องการให้ดัดแปลงใดๆ อีกแล้ว เช่นนักดนตรีอย่างโมซาร์ส ที่บอกว่าจะตัดโน้ตในเพลงของเขาไม่ได้สักตัวเดียว" โดยหากเงื่อนไขทั้ง 6 ชุดนี้ยังไม่สามารถตอบความต้องการของผู้สร้างงาน ก็สามารถเขียนเงื่อนไขขึ้นใหม่ได้เอง
      
       ชิตพงษ์ให้ข้อมูลว่า งานที่เผยแพร่โดยใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ทั่วโลกในปัจจุบันมีจำนวน ประมาณ 130 ล้านชิ้น เฉพาะในเว็บฝากภาพ Flickr นั้นมีมากกว่า 100 ล้านชิ้น สำหรับประเทศไทย เว็บไซต์สังคมความรู้ของสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอ, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, GotoKnow.org, ThaiGoodView.com, Fuse.in.th และนิตยสารโอเพ่นออนไลน์ล้วนใช้ cc ในการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นสาธารณประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างเสรีและเปิดกว้าง ยิ่งขึ้นกว่าเดิม
      
       " เว็บไซต์ไทยที่เชื่อว่าจะใช้ cc ในอนาคตนั้น ได้แก่ พันทิป เอ็กซทีน เอ็มไทยในส่วนวิดีโอ และเด็กดี ในเว็บเหล่านี้จะมีกล่องให้เลือกสัญญา cc เลยหลังสร้างเนื้อหา" โดยวันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิพดอทคอมยืนยันว่าจะนำ cc ที่ถูกแปลและปรับแก้ให้เข้ากับกฏหมายไทยไปใช้งานในเว็บไซต์แน่นอน แต่ต้องรอหลังจากการพัฒนาระบบแล้วเสร็จ
      
       สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์สำหรับประเทศไทยนี้เกิดบนความร่วมมือ ระหว่างสำนักกฎหมายธรรมนิติ, สถาบัน Change Fusion, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, แผนงาน ICT เพื่อสุขภาวะออนไลน์ และภาคีเครือข่าย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และครีเอทีฟคอมมอนส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศเยอรมันนี ดำเนินการแปลและปรับปรุงแก้ไขกว่า 1 ปี โดยประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 51 ของโลกที่สามารถคลอด cc ที่สอดคล้องกับกฎหมายท้องถิ่น ทำให้การคุ้มครองเนื้อหางานสร้างสรรค์อยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ประเทศไทย
      
       คุ้มครองผลงาน แต่ไม่คุ้มครองปากท้อง?
      
       ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมการเผยแพร่คอนเทนต์แบบเสรีที่กำลัง จะเกิดโดยมี cc เป็นเครื่องมือหลักนั้น ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ผู้สร้างคอนเทนต์สามารถสร้างเงินรายได้ และไม่ได้เพิ่มทางเลือกให้กับคนที่ต้องการทำเงินจากคอนเทนต์ จุดนี้พิชัย พืชมงคล ผู้นำคณะทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักกฎหมายธรรมนิติ เชื่อว่า cc สามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้จริง
      
       " ผมเชื่อว่าถ้าเว็บไซต์ที่ใช้ cc มีการสร้างสรรค์ขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดเป็นแรงเหนี่ยวนำให้คนสร้างสรรค์งานชาวไทยเกิดขึ้นมากกว่าเดิม ผลคือภาคธุรกิจจะตื่นตัวในการเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะประโยชน์ ที่สำคัญ cc จะเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ด้วย เช่น ภาพยนตร์ตัวอย่าง ที่ค่ายหนังจะสามารถเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตได้เร็วและไม่ต้องกังวล"
       

       ขณะที่ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรท์ตั้งข้อสังเกตว่า cc นั้นถูกสร้างมาเพื่อนักสร้างงานที่มีจิตใจพร้อมจะให้อยู่เป็นทุนเดิม อาจทำให้ cc ไม่ได้ช่วยลดจำนวนผู้ที่"ไม่ได้คิดถึงวัฒนธรรมเสรี"ในสังคมไทยลง จุดนี้วันฉัตรแห่งพันทิปเชื่อว่าอาจจะเกิดเป็นโมเดลธุรกิจมารองรับวัฒนธรรม เสรีก็ได้ เช่น การเปิดหมวกรับบริจาคเงินของบล็อกเกอร์ ซึ่งไม่ใช่เชิงการค้าเต็มตัว
      
       " ที่อยากจะบอกคือ cc ยังต้องไปอีกไกลมาก 10 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าจะทำให้ผู้สร้างและผู้ใช้คอนเทนต์รู้สิทธิของตัวเอง เชื่อว่าการให้ความเข้าใจเรื่อง cc กับสาธารณชนจะเป็นเรื่องสำคัญมากในอนาคต และในระยะยาว โลกของคอนเทนต์จะแบ่งออกเป็น 2 ซีก เหมือนโลกของวินโดวส์และลินุกซ์ ที่มีการจัดการ และข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน" วันฉัตรกล่าว
      
       ชิตพงษ์เสริมว่า กรณีศึกษาเรื่องความสำเร็จของวัฒนธรรมคอนเทนต์เสรีนั้นเริ่มมีให้เห็นแล้วใน ขณะนี้ เช่น ภาพถ่ายที่ถูกอัปโหลดให้ชาวอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ฟรีบนเงื่อนไข cc ก็ยังสามารถจำหน่ายในรูปเล่มได้อย่างน่าพอใจ หรือช่างภาพมือสมัครเล่นที่กลายเป็นมืออาชีพได้เพราะภาพถ่ายที่โพสต์ไว้บน อินเทอร์เน็ตนั้นไปโดนใจผู้จ้างงาน ทั้งหมดเชื่อว่า cc จะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจลูกผสม (Hybrid Economy) ที่เน้นทั้งการเผยแพร่ข้อมูลแบบเสรีควบคู่กับการค้าในเวลาเดียวกัน
      
       ไม่ทำให้ฟ้องร้องมากขึ้น
      
       พิชัยเชื่อว่า หากการใช้งาน cc และวัฒนธรรมคอนเทนต์เสรีแพร่หลายในสังคมไทย จะไม่ทำให้ตัวเลขการฟ้องร้องเพราะการทำผิดเงื่อนไขเพิ่มขึ้น โดยบอกว่าสัญญา cc จะช่วยระงับการฟ้องร้องด้วยการคุ้มครองทั้งสองฝ่าย
      
       ในงานเปิดตัวสัญญา cc เวอร์ชันภาษาไทยนั้นมีการตอบข้อสงสัยเรื่องการใช้งานสัญญา cc หลายจุด โดยพิชัยให้ข้อสรุปว่าการรีมิกซ์หรือการตัดต่องานที่มีการใช้สัญญา cc ต่างแบบกัน จะต้องใช้สัญญา cc ที่มีความเข้มสูงสุด และหากเจ้าของงานเปิดใช้สัญญา cc เพียงหนึ่งวันแล้วเปลี่ยนใจเลิกใช้ ผู้ที่เผยแพร่งานด้วยสัญญา cc ในวันนั้นพอดีจะมีสิทธิเผยแพร่งานตามสัญญานั้นตลอดไป
      
       หากไม่เลือกใช้สัญญา cc เวอร์ชันภาษาไทยก็สามารถใช้เวอร์ชันของชาติอื่นๆที่มีมาก่อนหน้านี้ได้ เช่น สัญญา cc ของเยอรมนี แต่จะยุ่งยากเนื่องจากต้องใช้สัญญาที่เป็นภาษาเยอรมัน ฟ้องร้องที่ศาลเยอรมัน และต้องบังคับใช้ตามกฏหมายเยอรมัน ขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์จะต้องติดตามเพื่ออ้างสิทธิ์ของตัวเองด้วยตน เอง เนื่องจากยังไม่มีระบบตรวจจับการเผยแพร่งานบนอินเทอร์เน็ตแบบอัตโนมัติ
      
       และนอกจากโลกออนไลน์ การเผยแพร่งานในสื่อออฟไลน์ก็สามารถใช้ cc ได้เช่นกัน
      
       " เป้าหมายหนึ่งของเราคืออยากให้เอกสารการสอนออนไลน์ทุกชิ้นของสถาบันการศึกษา ไทยเป็น cc และทำให้งานวรรณกรรม Flow (ไหลเวียน) ไปทั่วสังคมไทย" ซึ่งจะทำให้สังคมไทยได้รับประโยชน์จากวัฒนธรรมคอนเทนต์เสรีในที่สุด
      
       ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.flickr.com/photos/guopai/sets/72157616269000410/
      
       Company Related Links :
       Creative Commons

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น