++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552

จิตอาสา กับ ทุนสนับสนุน

จิตอาสา กับ ทุนสนับสนุน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

     ในช่วงปิดเทอม ใหญ่ราวๆ 3 เดือนเช่นนี้หากนิสิต นักศึกษาไม่ลงทะเบียนเรียนในช่วงฤดูร้อนแล้ว หลายๆ คนเลือกที่จะไปท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะเดียวกันยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกใช้ช่วงเวลาปิดเทอมเช่นนี้เข้าร่วม กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ด้วยการออกค่ายอาสาพัฒนา หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำประโยชน์ต่อสังคม
      
        ดังนั้นในช่วงก่อนปิดเทอมเราๆ ท่านๆ จะได้เห็นเหล่านิสิต นักศึกษา ออกเดินขอความร่วมมือในการบริจาคทั้งเงินทุน ข้าวของเครื่องใช้ เพื่อที่พวกเขาเหล่านี้จะได้นำไปใช้ในการออกค่ายอาสาพัฒนา รวมทั้งนำไปใช้ในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกเช่นนี้ การขอทุนจากบริษัทห้างร้านต่างๆ เริ่มที่จะหายากมากขึ้น..

       วชิรพล ดิษฐ์รักษ์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าร่วมชมรมค่ายอาสาพัฒนา เขาเล่าว่าค่ายอาสาพัฒนาที่เขาสังกัดอยู่นั้นในแต่ละปีจะมีการออกค่าย 2 ครั้ง ค่ายย่อยโดยมากแล้วจะเป็นการไปสร้างหรือปรับปรุงลานกีฬาตามโรงเรียนที่ขาด แคลน ส่วนค่ายใหญ่จะเป็นการไปสร้างอาคารเรียน สร้างห้องน้ำ ฯลฯ ให้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลความเจริญและขาดแคลน
      
       “ห้างร้านต่างๆ ที่เราไปขอการสนับสนุน โดยมากจะให้เป็นของที่จะต้องใช้ในการออกค่ายมากกว่าที่จะให้เป็นทุน ซึ่งหากให้เป็นวัสดุที่ใช้ในการออกค่ายเราก็เอาไปใช้เลยอย่างพวกปูนซิเมนต์ ประตู ไม้ พวกนี้เรามักจะได้รับเสมอๆ ซึ่งบางพื้นที่หากเราขนพวกวัสดุที่ได้มาอย่างปูนนี่ ขนจากกทม.ไปถึงพื้นที่บางทีค่าขนส่งสูงมากๆ ซึ่งก็ต้องแบ่งทุนที่หาได้ไปใช้ในการขนอีก”
      
       เฟิร์ส รุจิระธาดา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกชุมนุมเพื่อนโดมสัมพันธ์ กล่าวว่าชุมนุมนี้เป็นชุมนุมที่มีเพื่อช่วยเหลือผู้พิการและด้อยโอกาส และทุนสนับสนุนกิจกรรมของชุมนุมเพื่อนโดมสัมพันธ์โดยมากจะได้รับงบประมาณจาก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลัก
      
       “โดยมากแล้วพวกเราจะหาทุนกันโดยการเล่นดนตรีเปิดหมวกแถวๆ ท่าพระจันทร์ สนามหลวง ซึ่งได้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่วัน ซึ่งจะไปกำหนดแน่นอนคงไม่ได้ว่าจะต้องได้เท่าไหร่ เพราะทุนที่ได้มาพวกเราก็นำไปใช้ในกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อนผู้พิการและด้อย โอกาสในสังคม
      
       เวลาไปขอทุนสนับสนุนจากองค์กรเอกชนนี่มีทั้งให้และไม่ให้ครับ แต่ส่วนมากที่ไปแล้วเขาไม่ให้เขาก็จะไม่พูดตรงๆ หรอกว่าไม่ให้ เท่าที่เจอมาก็จะบอกประมาณว่าทำเรื่องไปแล้วรอการอนุมัติอยู่ คือการติดตามของเราก็จะเว้นระยะบางที 1 – 2 เดือนก็มี ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าเราไม่ได้แล้วล่ะทุน หรือบางที่ ที่ติดต่อไปเขาก็บอกว่าเราขอมาช้าเกินไปเพราะเขาปิดงบประจำปีไปแล้ว ต้องรอปีต่อไป ซึ่งก็ต้องทำใจครับ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้”
      
       ศตพรรษ ปูชนียกุล นายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องการขอทุนในการทำกิจกรรมของนิสิตนั้น โดยมากแล้วหากเป็นผู้ที่ไม่เคยทำกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน เวลาไปจะไปตัวเปล่าจะไม่มีการเตรียมตัวอะไรเลย ไปถึงองค์กรที่จะขอทุน ก็เดินเข้าไปบอกว่าจะมาขอทุนเพื่อทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แบบนี้ๆ ซึ่งการไปขอในลักษณะแบบนี้องค์กรเอกชนเขาก็ไม่ให้แน่นอน
      
       “เหตุผลแรกที่องค์กรเอกชนไม่ให้ทุนสนับสนุนเพราะเขาคงไม่เชื่อว่าผู้ ที่ไปขอนั้นจะนำไปใช้ประโยชน์จริงตามที่ร้องขอ เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าผู้ไปขอเป็นนักศึกษา เป็นนิสิตจริงหรือเปล่า แล้วจะเอาทุนไปใช้ทำกิจกรรมอย่างที่ขอจริงหรือ อย่างกิจกรรมของเรา ก็จะต้องมีหนังสือรับรองจากมหาวิทยาลัยว่าเราเป็นนิสิตจริง เป็นตัวแทนชมรมจริง มาขอรับทุนสนับสนุน ซึ่งทางองค์กรเอกชน เขาจะให้หรือไม่ให้ก็อยู่ที่เขาจะพิจารณา
      
       สำหรับผม ผมคิดว่าการที่เขาจะให้หรือไม่ให้ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ หากองค์กรเขาเคยสนับสนุนมาแล้วเมื่อครั้งที่ผ่านมา และเขาเห็นว่าพวกเราที่เป็นนิสิต นักศึกษาไปทำกันจริงๆ ปีต่อๆ มาเขาก็อาจจะให้อีกได้ แต่ในปีนี้ทุนสนับสนุนก็อาจจะลดน้อยลง ซึ่งเราเองอยากจะไปทำประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาสก็ต้องหาทางอื่นๆ เช่นหาองค์กรสนับสนุนเพิ่มเติม เล่นดนตรีเปิดหมวก ลักษณะแบบนี้ล่ะเพื่อให้ได้ทุนมากพอที่จะไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ได้”
      
       “สมศักดิ์” เจ้าของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกล่าว ว่า ทุกๆ ปีจะมีนิสิต นักศึกษามาขอทุนสนับสนุนไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เสมอ ซึ่งเท่าที่เขาเห็นโดยมากจะมีหนังสือมาขอความช่วยเหลือเรื่องทุน แต่หนังสือที่ทำมานั้น ก็บอกแต่เพียงว่าผู้ขอชื่ออะไร จะนำทุนที่ขอไปทำอะไร โดยไม่มีการรับรองจากสถาบันการศึกษาเลย
      
       “เคยเห็นนิสิต นักศึกษา ที่มาร้องเพลง แล้วก็ถือกล่องใบหนึ่ง แล้วก็มีภาพ สถานที่ ที่เขาจะออกค่ายฯ ก็จะตะโกนบอกว่าบาท สองบาทก็ช่วยได้ เขาจะนำไปใช้ในการออกค่ายฯ กันที่นั่น ที่นี่ ซึ่งโดยมากก็จะเป็นที่ห่างไกลความเจริญ และบางทีเราก็ไม่รู้จัก ที่มาขอที่บริษัทของผม ก็มาลักษณะนี้ล่ะ ไม่รู้หรอกว่าเขาเรียนที่สถาบันนั้นจริงหรือเปล่า ไม่มีใครรับรอง มาลักษณะแบบนี้ผมไม่ให้แน่ๆ
      
       บางทีผมเห็นเขามาแบบนี้ ผมบอกเลยน้องกลับไปเอาหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษามาให้ผม แล้วเดี๋ยวผมจะให้ทุนสนับสนุนไป เชื่อไหมสมมติมา 100 คน กลับมาพร้อมหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษาไม่ถึง 5 คนเลย แล้วไอ้ที่เอากลับมา 5 คนน่ะผมก็ถามนะทำไมไม่เตรียมมาเลยตั้งแต่แรก เขาบอกเขาเป็นน้องใหม่ เพิ่งเคยทำแบบนี้ เขาก็ไม่รู้ ไอ้แบบนี้ผมก็ยิ้มนะ เพราะเชื่อว่าเขาจะเอาไปใช้ประโยชน์จริงๆ อย่างที่เขาบอกแน่ๆ”
      
       สุดท้ายสมศักดิ์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การฝึกตัวเองให้มีจิตอาสาของนิสิต นักศึกษา เป็นเรื่องที่ดี แต่ตัวนิสิต นักศึกษา ที่ทำหน้าที่ในการหาทุนต้องเข้าใจด้วยว่าเงินไม่ใช่หามาได้ง่ายๆ หากขอทุนไปหนึ่งหมื่นบาท บางแห่งอาจจะให้ทั้งหมด บางแห่งอาจจะให้ไม่ถึงครึ่งก็เป็นไปได้
      
       “อยากให้น้องๆ ฝึกตัวเองจริงๆ หาทุนเพื่อไปทำประโยชน์ ไม่ใช่ หานายจ้างจ้างให้ไปทำงาน ดังนั้นต้องอดทนและหาช่องทางให้มากขึ้น”...


http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000035479

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น