โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ปัจจุบัน ผัก ผลไม้ และดอกไม้ เริ่มมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นที่นิยม ในการบริโภคในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย แต่ปัญหาเรื่องของคุณภาพผลผลิตที่ลดลง จากการขนส่ง ใช้เวลานานกว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภค ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านคุณภาพและด้านปริมาณ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ทั้งนี้ วรินธร ยิ้มย่อง และ ชูชีพ ผ่องพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรสภาพ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี จึงคิดค้น งานวิจัย “การออกแบบและสร้างการเก็บรักษาแบบควบคุมสภาพอากาศ” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อาจารย์วรินธร กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีการนำวิธีการหลายอย่าง มาใช้ลดความเสียหายดังกล่าว เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และอายุการวางจำหน่าย เช่น การใช้สารเคมี การเคลือบผิว การเก็บรักษาในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ
“ การออกแบบและสร้างเครื่องเก็บรักษา แบบควบคุมสภาพบรรยากาศ เป็นการลดต้นทุน การนำเข้าจากต่างประเทศ โดยศึกษาระดับความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษาผลิตผลในสภาพควบคุมบรรยากาศ”
ทั้งนี้ อาจารย์วรินธร อธิบายถึงหลักการทำงานของตู้ควบคุมสภาพอากาศ “การเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของบรรยากาศที่อยู่รอบๆ ผลิตผลด้วยการลดระดับความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจน หรือ เพิ่ม ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น แล้วควบคุมสัดส่วนของปริมาณก๊าซดังกล่าว ให้คงที่ตลอดระยะเวลาของการเก็บรักษา”
สำหรับ การออกแบบระบบควบคุมสภาพบรรยากาศมี ระบบการทำงานของเครื่อง 3 ส่วนหลักคือ ส่วนแรก ทำหน้าที่ตรวจวัดระดับความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งควบคุมการปิดเปิดวาล์วไฟฟ้า ให้จ่ายก๊าซออกซิเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจน จากถังพักให้กับห้องเก็บรักษา
ส่วนที่สอง ทำหน้าที่ควบคุม และประมาณผลการทำงานของส่วนแรก ให้ทำงานตามคำสั่งข้อมูลของการปรับสภาพบรรยากาศ และยังทำหน้าที่แจ้งเตือนเมื่อมีระดับก๊าซบางชนิดสูงเกินไป
ส่วนสาม แหล่งของก๊าซที่ใช้ในการปรับสภาพอากาศ อันประกอบด้วยก๊าซออกซิเจน จากอากาศปกติ ซึ่งมีระดับความเข้มข้นประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากถังบรรจุ ซึ่งมีความบริสุทธิ์ประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์, ก๊าซไนโตรเจน จากถังบรรจุ ซึ่งมีความบริสุทธิ์ประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์
ลักษณะของตู้ที่ใช้ในการเก็บรักษาผลิตผล ลักษณะเหมือนตู้แช่ของทั่วไป ตัวตู้ทำจากแผ่นพลาสติก อคริลิกมีความหนาประมาณ 10 มม. ประกอบยึดติดด้วยกาว epoxy แล้วอุดรอยประกบระหว่างแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันการรั่วซึมของก๊าซด้วยกาวซิล ิโคนและเทปพลาสติก
ประตูด้านหน้าของตู้สำหรับนำผลผลิตเข้า - ออก ซึ่งจะปิดไว้ด้วยการขันน๊อตให้ยึดติดกับตัวตู้ และใช้แถบยางรองรอบฝาปิด เพื่อป้องกันการรั่วซึมของก๊าซ ด้านหลังของตู้เจาะช่องใส่ข้อต่อทองเหลืองที่มีรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มม. จำนวน 4 ช่อง เพื่อใช้เป็นช่องนำก๊าซออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจน 1 ช่อง ช่องสุ่มก๊าซเพื่อตรวจสภาพบรรยากาศในตู้ 1 ช่อง ช่องส่งคืนก๊าซที่ผ่านการตรวจสอบ 1 ช่อง และช่องสำหรับถ่ายเทก๊าซออกจากตู้ 1 ช่อง โดยเมื่อประกอบเสร็จก็นำไปไว้ในห้องเย็น ที่สามารถปรับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ได้
จากนั้นนำผลผลิตทางการเกษตร พวกผัก ผลไม้ และดอกไม้ ที่คัดเลือกตามความสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ได้หลังจากการเก็บเกี่ยว บรรจุลงในตู้ควบคุมบรรยากาศที่ติดตั้งในห้องเย็น ปรับอุณหภูมิตามชนิดของผลิตผล จากนั้นเดินเครื่องควบคุมสภาพบรรยากาศตามค่าที่ตั้งไว้ แล้วจึงตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ ในทุกๆ 10 วัน
อาจารย์ชูชีพ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้ “ สามารถช่วยลดต้นทุน การนำเข้าระบบการเก็บผลิตผลจากต่างประเทศกว่าล้านบาท และยังช่วยชะลอการเสื่อมสลาย และยื้ดอายุของผลิตผลต่างๆให้นานขึ้น ทำให้สินค้าทางการเกษตรอันเป็นเศรษฐกิจหลักของไทย ได้ไปถึงมือผู้บริโภคต่างชาติในสภาพสด ใหม่ เหมือนเพิ่งเก็บเกี่ยวมาเลยทีเดียว”
สนใจส อบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรสภาพ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 081-8513382 , 02-549-3326 หรือ www.rmutt.ac.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น