++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552

“มีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย” เสียงจาก “โน้ต” หมออาสาด้วยใจ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

“สิ่งที่ ผมทำเป็นแค่เศษเสี้ยวของพระองค์ท่าน สิ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ คือพระองค์ท่านปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการช่วยเหลือผู้คนในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ท่านทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและไปในที่ที่ทุรกันดารกว่าที่ผมไปเสีย อีก สิ่งที่พระองค์ท่านทำเป็นการให้ความสุขแก่ผู้อื่น”

นั่นคือเสียงจากปากของนายแพทย์ “ธณัฐ วิทยานุลักษณ์” หรือ “หมอโน้ต” ผู้จบการศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อปี 2549 หลังจบการศึกษาได้ใบประกอบโรคศิลปะในเดือนมีนาคม และได้รับบรรจุเป็นแพทย์ตามโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ที่โรงพยาบาลในจังหวัดแพร่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พอเดือนสิงหาคมเขาตั้งใจว่าเขาจะไปเยี่ยมน้าของเขา (มาเซอร์ มารีอักแนส บัวทรัพย์) ที่บ้านดินขาว อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

“ความตั้งใจแรกก็คือไปเยี่ยมน้า ซึ่งน้าไปอยู่ที่นั่น สอนหนังสือให้ชาวเขา (บ้านสันตะมารีย์และศูนย์การเรียนรู้สรรพวิทยา โรงเรียนเซนต์โยเซฟแม่แจ่ม) ก็พอจะรู้ว่าชาวบ้านเขาไม่ไปหาหมอ เพราะต้องลงจากเขาไปเป็นระยะทางไกลๆ ก็เราเป็นหมอก็เอาเครื่องมือเท่าที่มี พวกไฟฉาย ไม้กดลิ้น หูฟัง ยาสามัญประจำบ้าน ก็พวกเครื่องมือธรรมดานี่ล่ะ ความตั้งใจคือไปตรวจให้เพราะไหนๆ เราก็ไปแล้ว ก็ไปเห็นปัญหาของชาวเขาที่ทำไมเขาถึงไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล”

หมอโน้ตกล่าวว่า ปัญหาที่ชาวเขาหรือชาวบ้านซึ่งเจ็บป่วยแล้วไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล สาเหตุหลักๆ ก็คือ การเดินทางซึ่งมีระยะทางไกลมาก หากไม่มีรถก็ไม่สามารถที่จะไปได้ ดังนั้น หลังจากครั้งแรกที่ไปที่อ.แม่แจ่มเพื่อเยี่ยมน้า กลายเป็นความตั้งใจที่จะไปเพื่อให้โอกาสในการรักษากับชาวเขา บวกรวมกับสิ่งที่เห็นจากในหลวงที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาตั้งแต่เขายังเด็ก เขาจึงรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร หากจะทำเพื่อคนอื่นบ้าง

“ผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำตรงนี้หรอกตอนแรก แต่พอไปเห็นชาวบ้านเขาขาดตรงนี้ ยาสามัญประจำบ้านก็กลายเป็นยารักษาโรค ก็ตั้งใจว่าจะไปเมื่อมีโอกาสทุกครั้ง ก็เตรียมอุปกรณ์เพิ่มขึ้น เตรียมยาเพิ่มขึ้นในครั้งต่อๆ มา

ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไร ก็ไปที่อำเภอแม่แจ่มในช่วงที่เป็นวันหยุดก็ไม่กระทบกับงานประจำ แล้วเวลาไปถึงแม้จะไปคนเดียวแต่กลับเป็นประโยชน์ต่อคนเป็นร้อยคน คือเราไปคนเดียวแต่รักษาคนได้เป็นร้อยคน ก็ดีกว่าคนร้อยคนต้องเดินทางไปโรงพยาบาลที่อยู่ไกลมากๆ ซึ่งคนร้อยคนต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากในการไปหาหมอแต่ละครั้ง

สิ่งที่ผมทำเหมือนเป็นการแบ่งปันโอกาสให้คนอื่นมากกว่า เรามีโอกาสมากกว่า เราให้คนอื่น เราช่วยเท่าที่เราทำได้ ทำไหว เรามีมากกว่าคนด้อยโอกาส ก็ช่วยในส่วนที่เราทำได้ ตัวผมเองก็รู้สึกมีความสุขไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรด้วย”

เมื่อตั้งใจที่จะให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสอย่างชาวเขาแล้ว จากการจดประวัติคนไข้ใส่แผ่นกระดาษ การออกตรวจชาวเขาครั้งต่อๆ มา หมอโน้ตตระเตรียมประวัติคนไข้ไว้อย่างเป็นระบบเพื่อติดตามอาการหลังได้รับ การรักษาไป

“หลังจากครั้งแรกที่ไปตรวจก็พบว่า โรคที่เขาเป็นกันมากมีอยู่ 2 โรค คือ โรคหู และโรคข้อเสื่อม ไปครั้งต่อมาก็มีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุปกรณ์ในการรักษาโรคหู เพราะบนนั้นเด็กเป็นหนองในหูบ่อย เพราะบนนั้นอากาศจะเย็นตลอดปี เขาก็เป็นหวัดเรื้อรัง พอเป็นหวัดเรื้อรังโรคหูก็ตามมาทันที

ผมเคยขึ้นไปทั้งเดือนพฤษภาคม สิงหาคม ธันวาคม อากาศเย็นตลอด ฤดูร้อนอุณหภูมิก็ประมาณ 20 องศา เรียกว่ายังเย็น เสื้อผ้าที่เขาใส่กัน เขาก็ซักตากแดดเหมือนเรา แต่มันไม่แห้ง เพราะอากาศบนนั้นเป็นอย่างนั้น ก็เลยเป็นหวัดเรื้อรังกัน

ส่วนโรคข้อเสื่อม ผมพบว่าเขาเป็นเร็วกว่าคนเมือง 10 ปีเลยนะ คือพอเขาอายุ 40 นิดก็เริ่มเป็นกันแล้ว โรคข้อเสื่อมของเขานี่เกิดจากการประกอบอาชีพ เพราะเขาปลูกผักตามสโลปเขา โรคก็คือปวดหลัง ปวดเอว เข่าเสื่อม เข่าเสื่อมนี่เร็วกว่าคนเมือง 10-20 ปี พอเขาอายุ 40 นิดๆ ก็เริ่มเข่าเสื่อมกันแล้ว เพราะใช้งานมากเดินขึ้นทางชันมาก

ตั้งแต่มารักษาที่นี่มีอยู่ 2 เคสนะครับที่ผมประทับใจ เคสแรกก็คือเด็กชาวเขาคนหนึ่งเขารอการวินิจฉัยอยู่ว่าจะเป็นดาวน์ซินโดรม หรือเปล่า รอตรวจโครโมโซมอยู่ซึ่งจะได้ตอนเดือนสิงหาคม เด็กคนนี้หมอเจอมาตั้งแต่ปีก่อน แม่เขาพามาตรวจเห็นว่ามีพัฒนาการช้า โตช้า แล้วลักษณะเขาคล้ายดาวซินโดรม แล้วจากการตรวจก็พบว่าลิ้นหัวใจรั่วก็ประสานส่งไปโรงพยาบาลข้างล่างให้เอา เขาไปตรวจ เพราะว่าจากการตรวจผมพบว่าเขามีปัญหาที่หู เหตุที่ทำให้เขาพูดไม่ได้ คือเขาไม่ได้ยินเสียงเลย เขาก็เลยไม่เรียนรู้ภาษา ก็เปล่งเสียงไม่ได้ แล้วตอนนี้เขารักษาแล้วด้วยการผ่าตัดระบายหนองออกจากหู ก็เรียกแม่ ยาย ของเขาได้แล้ว อันนี้ผมดีใจมากๆ อย่างน้อยคุณภาพชีวิตเขาก็ดีขึ้น

อีกคนหนึ่งเป็นโรคกระดูกงอกที่เข่าข้างซ้าย เขาเริ่มมีกระดูกงอกตั้งแต่อายุประมาณ 10 ปีได้ แรกๆ ก็ไม่เจ็บเดินได้ พอตอนที่ตรวจเนี่ยเขาอายุ 27 ปีกระดูกงอกก็ใหญ่ขึ้น จนเจ็บผมมาตรวจพบก็ส่งไป รพ.ผ่าตัดปัจจุบันก็เดินได้เป็นปกติไม่เจ็บแล้ว”

ส่วนเรื่องภาษาก็ถือเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการรักษา หมอโน้ตเล่าว่า ชาวเขาที่เป็นผู้ใหญ่โดยมากจะพูดภาษาไทยอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ได้ ส่วนผู้ที่อายุน้อยลงมาถึงแม้ปัจจุบันจะพูดได้บ้าง แต่โดยมากจะอาย

“ที่พูดได้ก็อายเหมือนเราที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่เวลาเจอกับฝรั่งก็ไม่กล้าพูด ซึ่งการรักษาผมก็จะมีล่ามคนหนึ่งไว้สื่อสารกับเขา เวลาตรวจก็จะพูดผ่านล่ามก็จะใช้ภาษาง่ายๆ ให้เข้าใจกัน ซึ่งก็ไม่ลำบากนัก”

การ ให้โอกาสกับคนที่ด้อยโอกาสกว่านั้น หมอโน้ตย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องยากเลย เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าเราอยากจะทำหรือเปล่า หากเรามีความสุขใจที่จะทำ ไม่โดนบังคับให้ทำ ไม่มีอะไรกดดันให้ทำ ทำด้วยตัวเองแล้วการให้ไม่ใช่เรื่องยาก

“คนที่อยากช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ผมอยากให้มีคนกลางเป็นสื่อกลางที่จะรับบริจาคให้ เพราะพอเป็นเรื่องเงินนี่ บางทีมีปัญหาว่ารับมา แล้วเอามาใช้จริงหรือเปล่าคือเป็นเสียงจากคนที่ว่าง คนที่ไม่ว่างเขาก็ทำงานของเขาไป แต่คนที่ว่างมานั่งจับผิดคนอื่นก็ไม่รู้จะยังไง ผมก็เลยอยากให้ผ่านคนกลางจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือผ่านตัวแทนสักคน แล้วผมขอเอาบิลค่ายาของจริงมาเบิกเป็นครั้งๆ ไปจะดีกว่า หรือซื้อยามาให้เลยก็ได้ ผมไม่อยากไปยุ่งกับตัวเงิน เกรงจะเกิดปัญหาจากคนว่างๆ น่ะ”

///////////////

กว่าจะเป็นหมอโน้ต

“ทีแรกก็เหมือนคนอื่นๆ ล่ะยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไร คุณลุงเป็นวิศวกรก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ตอนเด็กๆ ก็ได้พบกับคุณหมอคนหนึ่งเป็นหมอรักษาเด็กใจดี ท่านรักษาคนไข้แล้วหายทุกคน ผมเองไปหาหมอคนนี้ทีไรก็หายทุกครั้ง แล้วค่ารักษาก็คิดถูกมาก ก็เป็นความชอบอย่างหนึ่งที่คิดไว้ก่อนตอนนั้นถ้าเป็นหมอก็จะเป็นหมอรักษา เด็กอย่างท่าน

มารู้ว่าตัวเองชอบและอยากเป็นแพทย์ก็ตอนเรียนอยู่ ม.5 แล้ว มีเวลาเตรียมตัวแค่ 2 ปีเองตอนนั้นเรียนพิเศษด้วย แต่ความที่เป็นคนไม่ชอบท่องจำต้องเจอกับวิชาอย่างชีววิทยาอย่างนี้ คะแนนก็สู้คนที่เขาเตรียมตัวมานานไม่ได้ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ แต่ว่าเมื่อรู้ว่าอยากจะเป็นแพทย์แล้ว ก็สอบเข้าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวที่เปิดสอนแพทย์ ก็เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิตปี 1 ถึงปี 3 หลังจากนั้นก็ไปเรียนที่โรงพยาบาลราชวิถีต่อในปี 4 ถึงปี 6 แล้วก็สอบใบประกอบโรคศิลป์ ได้เป็นแพทย์นี่ล่ะ”

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000032484

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น