++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551

รัฐบาลรักษาการกับสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค กำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการกระทำความผิดอาญา

โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ 7 ธันวาคม 2551 19:36 น.







ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ผู้พิพากษาอาวุโส



ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเสนอข้อคิดเห็นทางวิชาการต่อสาธารณชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ฉุกคิด ในกรณีที่มีการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลรักษาการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง ในการปฏิบัติกิจการทางรัฐสภา เพราะการกระทำดังกล่าวอาจเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง ทั้งผู้กระทำและประเทศชาติได้อย่างไม่คาดคิด ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะให้ข้อคิดเห็นทางวิชาการนี้เกิดผลในการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ใดทั้งสิ้น



หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองไป 3 พรรค เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 และผลของการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยได้ยุบพรรคการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค มีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่มีคำสั่ง



จากคำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงก่อให้เกิดผลทำให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนคนหนึ่งได้ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสี่ อันมีผลทำให้นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในทันทีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (5) และมาตรา 174 (4) จึงมีผลทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 (1) เมื่อรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะทำหน้าที่รักษาการ หรือปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีใดๆ ได้อีกต่อไป



การกระทำหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับจะมีผลทำให้ผู้ที่กระทำการดังกล่าวนั้น ได้กระทำการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดอาญาอย่างยิ่ง รัฐบาลรักษาการโดยไม่มีอำนาจนั้นจะกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการไม่ยอมรับของรัฐต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้สถานะของประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง(Watchinglist หรือMonitoring) ของรัฐต่างประเทศได้ เพราะสถานะของรัฐบาลรักษาการเป็นรัฐบาลที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และต้องระมัดระวังในเรื่องการยอมรับในรัฐบาลของรัฐต่างประเทศด้วย ซึ่งจะมีผลในการทำนิติกรรม สัญญาต่างๆ ระหว่างประเทศ ไม่มีผลบังคับใช้ต่อกันได้เลย



เมื่อคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปแล้วแต่ความเป็น “รัฐ” หรือความเป็นประเทศยังคงมีอยู่ การพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีไม่ได้ทำให้ประเทศชาติต้องล่มสลาย หรือเป็นอัมพาตไปแต่อย่างใดไม่ เพราะ “รัฐ” ยังคงดำเนินการทั้งในทางตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้



เมื่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลสิ้นอำนาจลงแล้ว อำนาจในการตรากฎหมายและอำนาจในการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต้องกลับคืนมาสู่ “รัฐ” โดยปลัดกระทรวงต่างๆ มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดำเนินการใช้อำนาจดังกล่าวในฐานะของความเป็น “รัฐ” อันเป็นหลักทั่วไปของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นหลักรองรับไว้แล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรคแรก ดังนั้นการที่ปลัดกระทรวงต่างๆ ไม่เข้าไปดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงนี้นั้น ก็จะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการเข้าไปรับคำสั่งรัฐมนตรีรักษาการ มาดำเนินการก็สุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบได้ เพราะย่อมรู้ว่าเป็นคำสั่งของผู้ที่ไม่มีอำนาจสั่งการได้ตามกฎหมาย



การยุบพรรคการเมืองย่อมมีผลต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค (ส่วนจะมีผลกระทบต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทใดอย่างไร และจะมีผลในทางรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้น ยังมีข้อคิดอีกมากซึ่งผู้เขียนจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียดของปัญหา แต่ใคร่จะเสนอข้อคิดในภาพรวมของปัญหาเท่านั้น)



เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง พรรคการเมืองถูกยุบย่อมสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองทันที สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคก็ต้องสิ้นสุดลงทันทีด้วยเช่นกัน แต่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สิทธิการเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น ยังคงมีอยู่หรือดำรงอยู่ (Standstill) เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองนั้นได้มีโอกาสเข้าไปเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในหกสิบวันนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และถ้าไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในเวลาดังกล่าวแล้ว ก็ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น



ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (8) ช่วงเวลาหกสิบวันนั้นเป็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญให้การเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังคงมีอยู่ (Standstill) เพื่อให้เวลาสมาชิกพรรคการเมืองเข้าเป็นสมาชิกพรรคอื่นได้เท่านั้น หาใช่เป็นช่วงเวลาที่จะทำให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคนั้นทำหน้าที่ในรัฐสภา ในฐานะเป็นผู้แทนราษฎรหรือในฐานะเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหาได้ไม่ การดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐสภาที่มีอยู่ก่อนการยุบพรรค ไม่ว่าจะเป็นประธานหรือรองประธานได้สิ้นสุดลงเมื่อพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้ว ตำแหน่งต่างๆ หาได้มีอยู่ต่อไปในช่วงเวลาหกสิบวันดังกล่าวไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อพ้นเวลาหกสิบวันไปแล้ว ผู้นั้นจะยังคงเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ การเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะต้องจบสิ้นลงด้วย



ดังนั้น การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และที่มีตำแหน่งในสภาหากได้ดำเนินการใดๆ เพราะอาศัยอำนาจในตำแหน่งดังกล่าวนั้น ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำอันเป็นความผิดอาญาอย่างยิ่ง



การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา 106 (8) นั้น ด้วยความเคารพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องพึงระวัง เพราะอาจทำให้ตนเองหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ แม้จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันก็ตาม เพราะถ้าพรรคการเมืองอื่นที่ตนเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคนั้น ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิอยู่ในสภาอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้รับสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 และ/หรือไม่ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 แล้ว โดยที่พรรคการเมืองอื่นนั้นไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ผ่านการนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อนแต่อย่างใดเลย และไม่ใช่เป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิทำหน้าที่ของพรรคการเมืองในสภาอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจทำให้ผู้ที่เข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นสิ้นสมาชิกภาพของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ แม้จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นในหกสิบวันก็ตาม



เพราะพื้นฐานของการเลือกตั้งในระบบพรรคการเมืองมีพื้นฐานของการเข้าเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นอยู่บนพื้นฐานที่พรรคการเมืองเป็นผู้นำเข้าสภาฯ หรือพรรคเป็นผู้นำมาให้ซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หาใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะอาศัยความเป็นสมาชิกภาพของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำพรรคการเมืองเข้าสู่สภาหาได้ไม่ เพราะขัดต่อหลักการเป็นผู้แทนของประชาชนในระบบพรรคการเมือง ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสิทธิที่จะนำพรรคการเมืองเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ไม่ว่าในกรณีใด การเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (8) นั้น จึงหมายถึงพรรคการเมืองที่มีสิทธิดำเนินกิจกรรมในฐานะเป็นพรรคการเมืองอยู่ในสภาอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น









http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000144309

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น