โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 กรกฎาคม 2551 07:05 น.
อานันท์” ปาฐกถางาน 35 ปี 14 ตุลา เสียใจคนเดือนตุลาค่อยๆ จางหายไปจากสังคม แต่เชื่ออุดมการณ์เพื่อ ปชต.ที่แท้จริงยังอยู่ แต่วันนี้ยังยึดติด “แบบฟอร์ม” มากเกินไป ชี้ 2 เสาหลักที่จะทำให้สังคมอยู่รอด คือ นิติรัฐ มีตุลาการ ที่แน่วแน่ในกระบวนการยุติธรรม และ สื่อเป็นอิสระ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง
วันที่ 26 ก.ค. เมื่อเวลา 18.30 น. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) มูลนิธิ 14 ตุลา จัดการปาฐกถาพิเศษวาระ 35 ปี 14 ตุลาวันสืบสานประชาธิปไตย เรื่อง “ทบทวนทิศทางประเทศไทย” โดยนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “ทบทวนทิศทางประเทศไทย” ถึงวิกฤติการเมืองไทย และมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิด ท่ามกลางผู้สนใจร่วมรับฟังกว่า 600 คนมีโดยมีบุคคลน่าสนใจเข้าร่วม เช่น ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ในนภาวะวิกฤตและประชาสัมพันธ์เชิงรุก (วอร์รูมรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เป็นต้น
นายอานันท์ กล่าวเปิดตอนหนึ่งว่า ตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตนยังเป็นทูตอยู่ที่องค์การสหประชาชาติ เลยไม่ได้ติดตามสถานการณ์เท่าไหร่นัก เพราะตอนนั้นยังไม่มีเอเอสทีวีให้ดู จากนั้นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บังเอิญตนกลายเป็นเหยื่อคนหนึ่งของเหตุการณ์อันน่าบัดสี ส่วนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นั้น ก็บังเอิญเกิดเหตุที่ตนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เหตุการณ์ 14 ตุลานั้น เป็นเหตุที่ตนได้เข้าไปสัมผัสคนเดือนตุลามาทีเดียว แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปยุ่งในเรื่องทางการเมือง เป็นแต่เพียงการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า รวมถึงการเดินดูป่าเขาในต่างจังหวัด
“แต่เรื่องที่น่าเสียใจ เสียดายที่ผมจะพูดถึงคนเดือนตุลา คือ คนเดือนตุลาค่อยๆ หายจางไปจากสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตามจิตวิญญาณของ 14 ตุลานั้นยังอยู่อย่างแข็งแกร่ง และ 14 ตุลาถือเป็นการเปลี่ยนฉากทางการเมืองใหม่เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ที่เป็นการเปิดฉากการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ทว่า 35 ปีผ่านมาอย่างไร อุดมการณ์ก็ยังเป็นอุดมการณ์อยู่ตรงนั้น วันนี้เรายึดติดกับแบบฟอร์มประชาธิปไตยมากเกินไป ทั้งรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง แต่จิตวิญญาณนั้น ยังต้องการความซึมซาบของสังคม เพราะวันนี้มีการซึมซาบ เพียงแค่บางแขนงเท่านั้น” นายอานันท์กล่าว
นายอานันท์ กล่าวว่า ตนอยากบอกว่า เสาหลัก 2 เสาที่มีความหมายมากในสังคมไทย คือ เสาหลักนิติรัฐ ไม่มีสังคมประชาธิปไตยใดที่ไม่ติดยึดและไม่ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ หลักนี้เป็นหลักเดียวที่ได้รับความยอมรับนับถือ เป็นกลไปเดียวที่ทำให้เกิดความเสมอภาค สำคัญที่สุด คือ ความเป็นอิสระ และความแน่วแน่ ยึดในหลักการของกระบวนการตุลาการเท่านั้นที่จะทำให้สังคมประชาธิปไตยนั้นๆ อยู่รอดไปได้
หลักที่สองที่มีความหมายมากโดยเฉพาะในสังคมไทย คือ ต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นสังคมที่เปิด ประชาชนเข้าถึงข่าวสาร ข้อมูลข้อเท็จจริง สื่อใช้อำนาจอิสระและความรับผิดชอบในการเสนอข่าว และข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย เป็นสังคมที่สื่อไม่ได้ควบคุมโดยรัฐ ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้รัฐ เป็นสังคมที่โปร่งใสในการเข้าถึงข่าวสาร สิทธิประชาชนที่จะเข้าถึงข่าวสารที่สมบูรณ์ถูกต้อง จะเป็นกลไกให้ประชาธิปไตยยืนหยัดต่อไปได้ สองเสาหลักนี้ถือเป็นหัวใจ แต่ถามว่าประเทศไทยมีเสาหลักอันนี้หรือไม่ โดยเฉพาะเสาหลักแรก คือ นิติรัฐ กระบวนการตุลาการที่อิสระ และยึดถือความถูกต้อง ซึ่งตนยังให้คำตอบกับคำถามนี้ไม่ได้ แต่หวังว่าจะได้รับคำตอบในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไป
นายอานันท์ กล่าวว่า หลักที่สอง เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อที่ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐ วันนี้เสรีภาพนั้นพอมีบ้างแล้ว แต่ที่มีบ้างแล้วนั้น ตนต้องยกเครดิตให้บรรดาสื่อทั้งหลาย อาจจะไม่ใช่สื่อทั้งหมด เพราะสื่อก็ขายตัวไปหลายคนแล้ว วันนี้สื่อใต้อาณัติก็มีมาก แต่สื่ออิสระเขายังยืนหยัดสู้ต่อไป ถ้าจะให้คะแนน ประเทศไทยอาจจะมีหลักการนี้ 40 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่พอ แต่อย่างน้อยยังเป็นเสาหลักที่มีการวางรากไว้แล้ว ริเริ่มเติบโตบ้างแล้ว
“ที่ทุกท่านมาวันนี้ เราไม่ได้มาเพื่อร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง หรือฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่มาร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมาด้วยความคารวะเพื่อเคารพหน้าหนึ่งของป ระวัติศาสตร์ ที่เราหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้และเป็นบทเรียนเพื่อให้คนที่เสียชีว ิตในเหตุการณ์ ทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้เสียชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์” นายอานันท์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น