Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
รมช. สธ เตือน เปิบลาบหลู้หมูดิบ ระวังโรคไข้หูดับ เชื้อขึ้นสมองโอกาสตายสูงถึงร้อยละ 20 - 30
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. ในภาคเหนือ ให้ความรู้ชาวบ้าน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินลาบหลู้หมูดิบ โดยเฉพาะในวงเหล้า ให้ปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน เพราะหากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20-30 และหากรักษาช้า จะมีโอกาสหูหนวกสูงถึงร้อยละ 50-80 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดรณรงค์ อสม.จอมทองรวมใจต้านภัย โรคไข้หูดับ ไข้เลือดออกและโรคอ้วน มีอสม.ในอ.จอมทองร่วมงานกว่า 1,000 คน และมอบประกาศเกียรติคุณดีเด่นให้อสม. ที่ปฏิบัติงานครบ 20,30 ปี และมีผลงานดีเด่น 10 สาขา ซึ่งจัดที่สนามที่ว่าการอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเช้าวันนี้(28 ก.ค.2551)ว่า ขณะนี้พบโรคไข้หูดับในภาคเหนือบ่อยขึ้น เนื่องจากบางกลุ่ม ยังนิยมกินลาบ หลู้ หมูดิบๆ มักกินกับแกล้มในวงเหล้า ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม – 30 มิถุนายน พบผู้ป่วย 51 ราย เสียชีวิต 2 ราย ในจำนวนนี้อยู่ใน อ.จอมทอง 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย หูหนวก 4 ราย ตลอดปีที่ผ่านมาทั่วประเทศพบผู้ป่วย 150 ราย เสียชีวิต 23 ราย ร้อยละ 99 อยู่ในภาคเหนือ โรคนี้มีอันตรายมาก เชื้อจะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายอาจทำให้เยื่อบุหัวใจ ปอด เกิดการอักเสบ มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20-30 และยังทำให้หูหนวกถาวรพบได้ร้อยละ 50-80 นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพคนไทยขณะนี้ ปัญหาใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินสุกๆดิบๆ กินอาหารที่มีไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด หรือกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย ได้มีนโยบายแก้ไขปัญหา ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน เลิกกินอาหารดิบๆสุกๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่อาจการกินสุกๆดิบๆตามผู้ปกครอง ให้หันมาบริโภคอาหารปรุงให้สุกทุกครั้ง ให้อสม. ช่วยกันเตือนประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลงานบุญ งานศพหรืองานสังสรรค์ ต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง และรณรงค์ประชาชนลดการกินอาหารรสหวาน เค็ม มันให้น้อยลง และกินผักผลไม้ให้มากขึ้น ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ สเตรปโตคอคคัส ซุอิส (Streptococcus Suis) เชื้อจะอยู่ในโพรงจมูกและในช่องปากของหมูโดยไม่แสดงอาการ แต่จะแพร่เชื้อมาสู่คน โดยการกินหมูดิบๆทั้งเนื้อ เครื่องใน เลือดหรือสัมผัสหมูที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้เลี้ยง ผู้ชำแหละ หลังได้รับเชื้อ 1-3 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน บางรายอาการโคม่า ชักกระตุก เป็นอัมพาต บางรายอาจมีอาการอักเสบที่เยื่อบุหัวใจ ปอด สายตาพร่ามัว หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และต้องแจ้งแพทย์ว่ากินหมูดิบมา หากพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและหูหนวก ตาบอดได้ วิธีป้องกันโรคไข้หูดับที่ดีที่สุดคือ กินหมูสุกเท่านั้น ไม่กินดิบๆสุกๆ คนที่สัมผัสจะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันคือ สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู้ท ล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง ทางด้านนายแพทย์วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โรคไข้หูดับ ไข้เลือดออกและโรคอ้วน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของอ.จอมทอง โดยพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 32 ราย และพบผู้มีรอบเอวเกินมาตรฐาน 120 คน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจตามมาได้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอจอมทอง ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน ทางวิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในส่วนของโรคไข้หูดับได้ร่วมกับปศุสัตว์ องค์การปกครองส่วนตำบลจอมทอง ดูแลเขียงหมูในตลาดสดและโรงฆ่าสัตว์ให้ได้มาตรฐาน ควบคุมการจำหน่ายและชำแหละหมู เพื่อป้องกันโรค
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น