Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
สธ. หนุนกว่า 60,000 ชมรมสร้างสุขภาพ ร่วมปลุกคนไทย 38 ล้านคน ตื่นตัวออกกำลังกาย
สาธารณสุข เผยขณะนี้คนไทยกว่า 38 ล้านคน ไม่ออกกำลังกาย ประสานงานชมรมสร้างสุขภาพกว่า 6 หมื่นชมรมทั่วประเทศ เร่งปลุกกระแสการออกกำลังกาย สร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยลดโรคที่ป้องกันได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน และลดพุง เช้าวันนี้ (27 กรกฎาคม 2551) ที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประกวดแข่งขันเต้นแอโรบิกของชมรมสร้างสุขภาพ ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ปี 2551 โดยแบ่งการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ชุด ๆ ละ 27 ทีม เพื่อปลุกกระแสให้ประชาชนตื่นตัว หันมาออกกำลังกาย ซึ่งการเต้นแอโรบิก เป็นการสร้างสุขภาพ ให้รางกายแข็งแรง มีภูมิต้านทาน ไม่เจ็บป่วย หรือไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นายวิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคได้วิเคราะห์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า โรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน จะกลายเป็นปัญหาหลักของอาเซียน สาเหตุสำคัญเกิดมาจากการขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้เป็นโรคอ้วน ที่น่าห่วงคือ กลุ่มเด็กไทยมีวิถีชีวิตที่ขาดการออกกำลังกายและกินอาหารไม่ถูกต้องมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภททอด ขนมกรุบกรอบที่ไม่มีประโยชน์ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2550พบผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไปจำนวน 55 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 30 หรือประมาณ 16 ล้านกว่าคนที่ออกกำลังกาย ซึ่งเพิ่มจากปี 2547 เล็กน้อย ที่เหลืออีก 38 ล้านกว่าคนไม่ออกกำลังกาย จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนการออกกำลังกายให้แพร่หลายยิ่งขึ้น นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเฝ้าระวังควบคุมภาวะอ้วนลงพุงในประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 48 ล้านคน โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศจัดกิจกรรมวัดรอบเอวปีละ 2 ครั้ง ให้ครอบคลุมประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เพื่อประเมินความอ้วน รวมถึงการให้คำแนะนำและให้ความรู้ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการสร้างเสริม สุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้ทุกหมู่บ้าน ตั้งชมรมออกกำลังกาย เพื่อเป็นศูนย์รวมของการจัดกิจกรรมทางสุขภาพต่างๆ ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 61,020 ชมรม “การสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ปราศจากสารปนเปื้อน ถูกหลักโภชนาการ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย และที่สำคัญ คือการลด ละ เลิกอบายมุขได้แก่ สุรา บุหรี่ ยาเสพติด ซึ่งเป็นตัวการทำลายสุขภาพ ได้ให้กรมอนามัยจัดทำเอกสารคู่มือคำแนะนำ เป็นข้อมูลให้ประชาชนใช้ดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับช่วงอายุ นายวิชาญ กล่าว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเต้นแอโรบิก มีประโยชน์ในการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ไม่ให้สะสมในร่างกาย ช่วยให้กระดูกกล้ามเนื้อแข็งแรง ในสัปดาห์หนึ่งควรออกกำลังกายให้ได้ 3 ครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 30 นาที มีผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2545 พบว่าคนอ้วนที่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เดินออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน และรับประทานอาหารไขมันต่ำ ทำให้น้ำหนักตัวลดลงกว่าเดิมได้ร้อยละ 5-7 และจากการติดตามผลเป็นเวลา 4 ปี พบว่าอัตราการเกิดโรคเบาหวานในกลุ่มนี้ลดลงร้อยละ 5-10 ไขมันในช่องท้องลดลงร้อยละ 30 หากไม่ชอบเต้นแอโรบิก อาจใช้วิธีเดินก็ได้ โดยเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว หรือประมาณ 2 กิโลเมตร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น