++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

พรมพิศวง


"พรมพิศวง" ที่ไทยรัฐ ซันเดย์ฯ โดยทีมงานต่วย\'ตูนนำมาเสนอนี้ ไม่ใช่พรมวิเศษของอาละดิน หรือ "พรหมไม่ได้ลิขิต" แต่ เป็นพรมผืนยาวตั้ง 70 เมตรเศษ ซึ่งปักขึ้นด้วยช่างฝีมือสตรี จำนวนมากในเวลาใด เวลาหนึ่งหลังปี ค.ศ.1066 ไปไม่ นานนัก และมีชื่อเรียกขาน ระบืออยู่ในหมู่ นักประวัติศาสตร์ว่า "พรมบาเยอซ์" (The Bayeux Tapestry) ตามชื่อเมืองบาเยอซ์ ในแคว้นนอร์มังดีของฝรั่งเศส


ความพิศวงของพรมบาเยอซ์นี้ก็คือผืนเดียวที่ฉายให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษระหว่างปี ค.ศ.1064-1066 ได้ชัดเจนแจ๋วแหววยิ่งกว่าตำรา ประวัติศาสตร์เล่มบะเริ่มซะอีก... จะบอกให้ครับผม


ท่านผู้อ่านสงสัยว่า พรมอะไรกันบอกเล่า เรื่องราวยังงี้ได้ คงจะเป็นพรมที่ปักตัวอักษร เต็มพรืดไปหมดตลอดผืน เสียละกระมั้ง?...หามิได้ครับ ทั่วผืนพรมมีตัวหนังสือปักไว้ไม่กี่แห่ง ทว่า สามารถเล่าเรื่องได้ชัดแจ้งก็เพราะเป็นการ "เล่าด้วยรูป" ครับผม--หมายความว่า ทั่วทั้งฝืนพรมบาเยอซ์ปักด้วยขนสัตว์และด้ายหลากสีเป็น รูปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เต็มตลอดทั้งผืนเลยเชียว บอกกล่าวก่อนนะครับ ว่าพรมนี้ไม่ใช่


พรมปูพื้นห้อง แต่เป็นพรมแขวนผนัง ที่เรียกว่า "Tapestry" จัดว่าเป็นงาน ฝีมือที่ประกวดประขัน กันอย่างหนึ่ง ในยุคกลาง ส่วนมากพรมแบบนี้ มักทอด้วยมือครับ วังใครหรือคฤหาสน์ไหน เจ้าของร่ำรวยมากน้อย วัดได้จากพรมประดับ ผนังนี่แหละ บางคนถึงกับใช้เส้นเงินแท้ทองแท้ ทอผสานเข้าไปในลวดลาย ด้วยเพื่อให้วิลิศมาหราสมกับ ความยิ่งหญ่ายยของเจ้าของ


การมองดูผืนพรมบาเยอซ์ จึงเหมือนมองจิตรกรรมฝาผนังที่มีความยาว 230 ฟุต 10 นิ้ว (70.35 เมตร) และมีความกว้าง 20 นิ้ว (หรือ 50 เซนติเมตร) ประกอบด้วยรูปเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลายแหล่ในสมัย


นอร์มันพิชิตเมือง (Norman Conquest) แล้วยังมีรูปเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของคน ในยุคนั้นไว้แจ่มแจ้งว่า ชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านตาดำๆ ทำมาหากินยังไงบ้าง การประดิษฐ์ผืนพรมมหึมานี้ใช้วิธีปักด้วยมือโดยตลอดนะครับ ไม่ใช่การทอ ต้องอาศัยฝีมือของกุลสตรีผู้เก่งการเย็บปักถักร้อยกี่คนไม่มีใครทราบ เพราะไม่มีบันทึกไว้ แต่เข้าใจว่าคงใช้ เวลาปักกันนาน 2 ปีทีเดียว บนพรมมีรูปคนกว่า 600 คน รูปสัตว์มากกว่า 700 ตัว แล้วยังมีรูปเรือ ต้นไม้ และอาคารบ้านเรือนอีกมากพอๆกัน ใช้ด้าย 8 สี แต่ความจริงมีแม่สีอยู่เพียง 3 คือสีแดง, สีน้ำเงินอ่อนแก่, สีเขียวแก่, เขียวอ่อน และเขียวอมเทา กับมีสีเหลืองอ่อน รวมเป็น 8 เฉดสีด้วยกัน


มีอะไรที่น่าคุยกันมากเชียวหละครับ-เกี่ยวกับ "พรมพิศวง" ผืนนี้


ที่เห็นได้ชัดก็คือ บางเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญที่สุด คือฉากมรณกรรมของพระเจ้าฮาโรลด์ กษัตริย์อังกฤษองค์สุดท้าย


เราๆท่านๆที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ยุโรปกันมาคงทราบนะครับว่า คิงฮาโรลด์นั้นสิ้นพระชนม์ เพราะถูกธนูฝ่ายนอร์มันปักเข้า ที่พระเนตร ทำให้ สิ้นพระชนม์และทัพอังกฤษเสียขวัญแพ้ยับเยิน ทว่า บนผืนพรมบาเยอซ์ ได้ปักรูปนี้อย่างน่าสะดุด ใจ เพราะรูปคนซึ่งถูกธนูนั้นไม่น่าจะใช่พระเจ้าฮาโรลด์ คงจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่บางคนมากกว่า พระเจ้าฮาโรลน์ในผืนพรม น่าจะเป็นคนที่ถูกฟันด้วยดาบ และสิ้นพระชนม์เพราะดาบสังหารเล่มนั้น... ซึ่งเรื่องนี้ถ้านักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยอมรับกันหมด ก็ต้องเขียนแก้ข้อความในประวัติศาสตร์ อังกฤษเฉพาะตอนนี้กันใหม่ละครับ


เดิมทีกล่าวกันว่า พรมนี้เป็นผลงานของ พระนางมาทิลดา (Matilda) ผู้เป็นอัครมเหสีของ พระเจ้าวิลเลี่ยมผู้พิชิต นั่นแหละ...แต่คงจะเป็น ข้าราชสำนัก ผู้สอพลอปอปั้น พูดยกย่องความสามารถ ของราชวงศ์ใหม่นี้น่ะครับ เพราะในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่า ผู้รังสรรค์ผลงานยอดเยี่ยมชิ้นนี้ ได้จะต้องเป็นศิลปินมือเยี่ยมแห่งยุคทีเดียว น่าเสียดายนะครับที่เป็นศิลปินนิรนามซึ่ง ไม่มีใครในยุคหลังได้ล่วงรู้ ส่วนผู้ที่บงการให้ทำพรมแขวนนี้ขึ้นเชื่อกันว่าคงจะเป็นท่านโอโด (Odo) เอิร์ลแห่งเคนต์ ซึ่งเดิมทีเป็นบิชอปแห่งบาเยอซ์ และเป็นพระญาติแบบลูกพี่ลูกน้อง ของพระเจ้า วิลเลี่ยมกับเป็นผู้ที่พระเจ้าวิลเลี่ยมไว้วางพระทัยมากที่สุดด้วยครับ


เข้าใจกันว่า ท่านบิชอปโอโดซึ่งเป็นทั้งเอิร์ลแห่งเคนต์ผู้นี้คงสั่งให้ทำพรมขึ้นด้วยความมุ่งหมาย ที่จะอวดผลงานของชาวนอร์มันผู้พิชิตแหละครับ นักประวัติศาสตร์ผู้มีอารมณ์ขันบางคน จึงเรียกพรมพิศวงนี้ว่า "แผ่นผ้าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ นอร์มัน" และคงจะทำขึ้นในอังกฤษมากกว่าในฝรั่งเศส เพราะอักขระบนผืนพรมเป็นภาษาอังกฤษเก่า หรือภาษาแองโกล-แซ็กซันบิชอปโอโด ผู้สั่งทำพรมนี้คงมุ่งหมายจะใช้ประดับวัง ของท่านมากกว่าจะใช้ประดับวัด แม้ ว่าในตอนหลังพรมนี้จะพบว่าประดับอยู่ในวิหารใหญ่แห่งบาเยอซ์ก็ตาม


พรมแห่งบาเยอซ์ มีประวัติการร่อนเร่ พเนจร ไม่แพ้โบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ และจั๊กแหล่นจะเสียหายไปเพราะ ความไม่รู้คุณค่าเสียแล้วซีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปฏิวัติใหญ่ ในฝรั่งเศส นักปฏิวัติดึงพรมผืน สวยนี้จากวิหารเอา ไปใช้ทำอะไรท่านผู้อ่านทราบไหมครับ? เปล่า-ไม่ใช่ใช้แทนพรมปูพื้นหรอก ดีกว่านั่นนิดหน่อย คือเอาไปใช้เป็นผ้าคลุมหลังคารถ บรรทุกสรรพาวุธต่างๆ... เคราะห์ดีนักหนาที่ผู้ว่าการเมืองหนึ่ง ในฝรั่งเศสนั่นแหละเห็นเข้า จึงขอเอาไปเก็บรักษาไว้ ผืนพรมล้ำค่าจึงรอดจากการกลายเป็น เศษผ้าขาดไปอย่างหวุดหวิด กระนั้น พรมนี่ก็ต้องตากแดดตากลมเสี่ยงต่อ ความเสียหายอยู่นั่นแหละครับ ในเมื่อมีการนำเอาไปใช้ประโยชน์ เป็นผืนผ้าประดับในขบวนแห่ครั้งสำคัญๆในปี 1794 พรมบาเยอซ์จึงหมดเคราะห์กรรม ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสม ในฐานที่เป็นผลงานทางประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นหนึ่ง


ปัจจุบัน พรมแห่งบาเยอซ์เก็บไว้อย่างดีในวิหารใหญ่แห่งเมือง บาเยอซ์ร่วมกับสมบัติล้ำค่าอื่นๆ ของวิหาร ปีหนึ่งจะนำออกแสดงต่อประชาชนในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาเพียงสัปดาห์เดียว แล้วเก็บเงียบไปอีก 358 วัน ด้วยเหตุที่มีการเก็บงำอย่างดีนี่เอง พรมจึงไม่ถูกรบกวนจากมลพิษและแดดลม ทำให้คงสภาพสีสันสดใสอยู่กระทั่งทุกวันนี้


การที่ผมนำเอาเรื่องราวของพรมประวัติศาสตร์ มาเล่าสู่กันฟังนี่ นอกเหนือไปจากความเป็น "งานศิลป์" ชั้นเยี่ยมแล้ว ยังมีความสำคัญอื่นมากกว่านั้นอีกครับ นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันมีความเห็นพ้องต้องกันว่า พรมบาเยอซ์เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่มีอยู่ ซึ่งผิดแผกจากเอกสารอื่นตรงที่ว่ามันไม่ใช่เอกสาร แต่เป็นงานศิลป์ที่โดดเด่น ทั้งทางด้านศิลปหัตถกรรมและด้านจิตรกรรมอีกด้วย ประการหลังนี้ท่านอาจสงสัยว่าพรมปักมือมาเกี่ยวกับงานจิตรกรรมได้ยังไง?... ก็เพราะว่าก่อนที่ ช่างปักจะลงมือปักนั้น ต้องมีการเขียน "ลาย" ลงบนผืนผ้าเสียก่อนครับ ก็ผู้ที่เขียนลายปักนี่แหละคือจิตรกรฝีมือเลิศผู้ฝากผลงานไว้บน "ลายปัก" นี้แล


จุดเด่นที่สุดของภาพบนผืนพรม ได้แก่ เรื่องราวชัยชนะของกษัตริย์เชื้อสายนอร์มันดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงที่ปรากฏบนผืนผ้าน่ะวงการประวัติศาสตร์ ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับข้อเท็จจริง ทุกประการ แต่ที่แน่ๆก็คือ ผืนพรมนี้เป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการรุกรานอังกฤษครั้งสุดท้าย เพียงชิ้นเดียวที่ยัง หลงเหลือตกทอดมาถึงมืออนุชนในปัจจุบัน ในขณะที่หลักฐานเกี่ยวกับการบุกรุกของอนารยชน เช่น พวกแซ็กชัน, ไวกิ้ง และอื่นๆด้วย ล้วนแต่ มลายหายสูญไม่เหลือเงา...นอกจากความสำคัญ ในทางประวัติ-ศาสตร์แล้ว ภาพบนพรม ยังแสดงให้เห็นสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ พานิช ฯลฯ ไว้ครบครัน เพราะแสดงถึงชีวิตชาวบ้าน ชาวเมือง ให้เห็นชัดเจนว่าชาวอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัย 900 ปีก่อน แต่งกายอย่างไร ถืออาวุธแบบไหน ทำมาหากินยังไงบ้าง ฯลฯ เหล่านี้ละครับ


ช่วยให้ การศึกษาวิชาประวัติ-ศาสตร์ได้ผลดียิ่งขึ้น และที่ผมงดเว้นกล่าวเสียมิได้ก็คือ ภาพของดาวหางฮัลเลย์ที่ปรากฏบนผืนพรม ช่วยให้คำนวณได้ชัดเจนว่า ดาวหางดวงนี้โคจรมา ให้ชาวโลกมองเห็นทุก 76 ปี และมักเป็นไปตามที่ชาวบ้านกริ่งเกรงกัน คือนำเอาเหตุการณ์ ร้ายๆมาสู่ชาวโลกหลายครั้ง แต่อังกฤษในปี 1066 นี่ หลังจากมองเห็นดาวหางเพียงไม่กี่สัปดาห์ พระเจ้าฮาโรลด์ก็สิ้นพระชนม์ในสนามรบและ อังกฤษต้องเปลี่ยนองค์กษัตริย์ดังที่ทราบกันแล้วนะครับ


ดาวหางฮัลเลย์บนพื้นพรมบาเยอซ์ ทำให้ผมมีเรื่องราวมาคุยกับท่านผู้อ่านยืดยาวอย่างนี้ครับ.


ต่วย\'ตูน และ ไอแสค อาศิระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น