++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

การบำบัดกากของเสียด้วยการทำให้เป็นก้อน

ปัจจุบันปัญหาเรื่องกากของเสียอันตราย เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น หน่วยงานของรัฐหลาย ๆ หน่วยงาน ที่มีหน้าที่ รับผิดชอบในด้านนี้ เริ่มหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้เพราะ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต หรือการกำจัดของเสีย ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมื่อสุดสิ้นกระบวนการแล้ว ล้วนแต่ก่อให้เกิด กากของเสียทั้งสิ้นซึ่งกากของเสียเหล่านี้ จะมีความเข้มข้น ของสารมลพิษค่อนข้างสูง

ในการเลือก วิธีการจัดการกากของเสียที่เหมาะสม จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ เพื่อจำแนกประเภท กากของเสียก่อนว่าเข้าข่าย เป็นกากของเสียอันตรายหรือไม่ หากพบว่ากากของเสียนั้น ๆ เป็นกากของเสียอันตราย ก็จำเป็นต้อง นำกากของเสียเหล่านั้น มาผ่านกระบวนการ ลดความเป็นพิษลงก่อน จากนั้นจึงนำไปบำบัดขั้นสุดท้าย เพื่อป้องกันการละลาย หรือลดการเคลื่อนที่ ของสารเคมี ที่เป็นของเสียอันตราย จะปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม หรือการทำปฏิกิริยา ของกากของเสีย กับสภาพแวดล้อม

เทคโนโลยีการบำบัดกากของเสียขั้นสุดท้าย ที่นิยมใช้ และรู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ กระบวนการทำให้เป็น ก้อน (solidification) วัตถุประสงค์ของกระบวนการนี้ ก็คือ เพื่อสร้างมวลของแข็งเนื้อเดียว ที่มีความสามารถ ให้น้ำซึมผ่านได้น้อย มีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง และก้อนหล่อแข็งที่ได้ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด กระบวนการทำให้เป็นก้อน แบ่งเป็นหลายประเภทด้วยกัน ในการเลือกวิธีการบำบัด ของเสียดังกล่าว ควรเลือกให้เหมาะสม กับประเภทของของเสีย และคุณลักษณะเฉพาะ ของของเสีย

ประเภทของกระบวนการทำให้เป็นก้อนต่างๆ ได้แก่ cement based, pozzolanic(lime based), thermoplastic, organic polymer, Surface encapsulation, self-cementing และ glassification and production of synthetic minerals or ceramics

หลังจากที่กากของเสีย ผ่านกระบวนการหล่อแข็งแล้ว จะถูกนำไปทดสอบ ค่าการชะละลาย ของโลหะในน้ำสกัด ความสามารถรับกำลังอัด และอื่น ๆ จนมีคุณสมบัติ ได้ตามมาตรฐานก้อนหล่อแข็ง จึงสามารถนำก้อนหล่อแข็งเหล่านั้น ไปดำเนินการฝังกลบ อย่างปลอดภัย ด้วยวิธีพิเศษ ที่เรียกว่า secure landfill cement based และ pozzolanic (lime Based) เป็นกระบวนการหล่อแข็ง ที่นิยมนำมาปฏิบัติ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง pozzolanic technique เป็นเทคนิค ที่มีผู้ศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมาก ถึงการนำ กากอุตสาหกรรม ที่ไม่อันตราย และมีคุณสมบัติเป็นปอซโซลาน (วัสดุที่มีองค์ประกอบหลัก เป็นซิลิกาออกไซด์ หรือซิลิกาออกไซด์ กับอะลูมิเนียมออกไซด์ ซึ่งโดยตัวของมันเอง ไม่มีสมบัติในการยึดประสาน แต่เมื่อทำปฏิกิริยาเคมี กับ แคลเซียมไฮดรอกไซด์ จะได้สารประกอบ ที่มีสมบัติในการยึดประสาน)

ตามมาตรฐาน ASTM C 618-91 กำหนดว่า เถ้าที่ได้ จากกระบวนการเผาไหม้ต่างๆ จะมีสมบัติเป็นปอซโซลาน เมื่อผลรวมของ ปริมาณ ซิลิกาออกไซด์อะลูมิเนียมออกไซด์ และเหล็กออกไซด์ มากกว่าร้อยละ 70 และมีปริมาณโซเดียมออกไซด์ น้อยกว่าร้อยละ 1.5 ตัวอย่าง ของเถ้าที่จัดเป็นวัสดุ ปอซโซลานที่ได้จาก กระบวนการเผาไหม้ เช่น เถ้าแกลบ เถ้าลอยลิกไนต์ เป็นต้นและได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ ในด้านการหล่อแข็งแล้ว ซึ่งการนำกากอุตสาหกรรมเหล่านั้น มาใช้ประโยชน์ (utilization) นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่ง ในกระบวนการ waste minimization ทั้งนี้ก้อนหล่อแข็งที่ได้ ต้องมีสมบัติเป็น ตามประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

กองฟิสิกส์และวิศวกรรม ได้ให้บริการตรวจสอบ กากอุตสาหกรรม เพื่อจำแนกประเภท กากอุตสาหกรรม ก่อนที่จะนำ กากอุตสาหกรรม ไปทำการกำจัดขั้นสุดท้าย ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ สามารถให้บริการ การวิเคราะห์ทดสอบ ค่าการชะละลาย ของสารโลหะหนักในน้ำสกัด

นอกจากนี้ ยังได้ทำการศึกษาวิจัย ถึงการนำกากอุตสาหกรรม จากอุตสาหกรรม หล่อหลอมโลหะ มาใช้ประโยชน์ด้านการหล่อแข็ง กากตะกอนน้ำทิ้งที่ได้ จากการตกตะกอนน้ำทิ้ง จากการวิเคราะห์ซีโอดี ซึ่งน้ำทิ้งจากการวิเคราะห์ซีโอดีนี้ มีความเป็นพิษค่อนข้างสูง เนื่องจากมีสารโลหะหนัก ที่เป็นอันตรายได้แก่ ปรอทและโครเมียมในปริมาณสูง

ขณะนี้ทางกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม ได้ทดลองทำการหล่อแข็ง กากตะกอนปรอทซัลไฟด์แล้ว พบว่า กากอุตสาหกรรม จากอุตสาหกรรมหล่อหลอมโลหะ สามารถตรึงปรอทซัลไฟด์ได้ โดยเมื่อเติมกากตะกอน ปรอทซัลไฟด์ 50 ไมโครกรัมต่อกรัมก้อนหล่องแข็ง ก้อนหล่อแข็งดังกล่าว ให้ค่าการชะละลายของปรอท อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและกำลังศึกษาการหล่อแข็ง โครเมียมไฮดรอกไซด์ หากการทดลอง ประสบผลสำเร็จ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จากห้องปฏิบัติการได้ระดับหนึ่ง และยังสามารถใช้เป็นแนวทาง ในการบำบัดกากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีปริมาณสารโลหะหนักสูง

ประโยชน์ที่ได้รับ

ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการจัดการกากอุตสาหกรรม ประเภทอื่น ๆ ลดปัญหามลพิษทั้งด้าน กากอุตสาหกรรมและด้านน้ำเสีย ที่เกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ กองฟิสิกส์และวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ

จัดทำเป็นเว็บเพจโดย : www.thaienvironment.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น