++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคต ต้องใช้ระบบปิดน้ำหมุนเวียนชีวภาพ


สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สังกัด กรมประมง มีหน้าที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อขยายพันธุ์ และดูแลสัตว์น้ำให้แข็งแรง ก่อนนำไปปล่อยลงสู่ แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้เจริญเติบโต และดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล... อีกหน้าที่หนึ่ง... เพื่อต้องการนำความรู้ที่ได้ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไปให้ชาวประมง

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สัตว์น้ำส่วนใหญ่ มีการนำออกไปเพาะเลี้ยงในทะเล บริเวณเกาะต่างๆ...แต่วันนี้ นายธวัช ศรีวีระชัย หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตราด ได้ค้นคิดและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาในบ่อน้ำ ระบบปิดน้ำหมุนเวียนชีวภาพเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคต เป็นผล สำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ


หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตราดบอกว่า ทางกรมประมงได้วางแนวนโยบายให้พัฒนาวิธี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยไม่กระทบต่อ สิ่งแวดล้อม จึงได้คิดค้นและทำการวิจัย เพื่อให้สามารถนำสัตว์น้ำมาเลี้ยง ในบ่อที่มีระบบน้ำปิด เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาชีวิตสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยง


และการติดตามผลอย่างใกล้ชิดโดยไม่ให้คลาดสายตา ประกอบกับการนำสัตว์น้ำไปเลี้ยงตามเกาะ ที่ผ่านมาในอดีต มักถูกชาวประมง (บางคน) แอบลักลอบ (ขโมย) จับสัตว์น้ำไปบริโภคและจำหน่ายอยู่เนืองๆ สร้างความเสียหายให้กับงานวิจัยอย่างรู้เท่า ไม่ถึงการณ์


การใช้ระบบปิดน้ำหมุนเวียนชีวภาพ เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคต...คือ การนำน้ำไหลเวียนในบ่อ 4 จุด โดยใช้ท่อ PVC ขนาด 3 นิ้ว ต่อติดกันในแบบ Air water lift (แบบให้อากาศยกน้ำล้นออก) จากนั้นให้ปริมาณน้ำผ่านจากบ่อที่ 1 ไปสู่บ่อที่ 2 และบ่อที่ 3 ก่อนจะกลับมาสู่บ่อเดิม โดยไม่มีการทิ้งน้ำออกไปลงทะเล...


โดยใช้หลักการ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานเพื่อให้ช่วยเหลือกันในการดำรงชีพ การทดลองเพาะเลี้ยงปลากระรังจุดฟ้า ซึ่งเป็นปลาที่เพาะเลี้ยงยากและมีราคาแพงมาก เริ่มจากนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลากระรังจุดฟ้า 3-4 กิโลกรัม จำนวน 15 ตัว เลี้ยงไว้ในกระชังอวนตา 7.5 เซนติเมตร ขนาดกว้างและยาว 5X5X3 เมตร 2 กระชัง ไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาด 10X10X2 เมตร มีความจุ 200 ตัน ซึ่งบ่อน้ำนี้ต้องมีหลังคากันแดดและน้ำฝน


หลังจากนั้นได้ ใส่ปูม้าขนาดเล็กจำนวน 5 ตัว เพื่อทำหน้าที่กินเศษซากสัตว์ และเศษอาหาร ของปลากระรังจุดฟ้า ใส่หอยเป๋าฮื้อขนาด 2.5 เซนติเมตร อีก 50 ตัว เพื่อให้กินพืชเล็กๆ ตามพื้นบ่อ ซึ่งอาจจะเป็นตัวทำให้น้ำในบ่อเน่าเสีย ใช้ หอยนมสาวอีก 5 ตัว เพื่อกินตะไคร่น้ำ ตามพื้น บ่อด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับหอยนางรม ใช้กำจัดแพลงก์ตอนพืช ใช้จำนวน 25 กิโลกรัม เป็นตัว กำจัด ส่วนพืชประเภท สาหร่ายพวงองุ่น ก็มีส่วน ที่เข้ามาช่วยในการ ดูดซับปุ๋ยไนเตรต ที่อยู่ในน้ำและสามารถ กรองน้ำให้สะอาด อีกด้วย


เมื่อใช้เครื่องมือตรวจวัดดูพบว่าน้ำสะอาดใสแล้ว ระบบปิดน้ำหมุนเวียนนี้ไม่ทำให้เกิดความเค็มเปลี่ยนแปลง น้ำใสสามารถมองเห็นแม้ว่าพื้นก้นบ่อจะลึกถึง 2 เมตร และ ที่สำคัญปลาที่เลี้ยงอยู่ในบ่อนี้มีชีวิตเหมือนอยู่ในธรรมชาติ สามารถวาง ไข่ได้ตามปกติ สนใจสอบถามข้อมูลไปได้ที่โทรศัพท์ 0-1957-8814, 0-3954-3334 หรือ E-mail tawatsri@yahoo.com


ไชยรัตน์ ส้มฉุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น