++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

ความเข้าใจเรื่องการแผ่เมตตา



การแผ่เมตตา คือ การตั้งความปรารถนาดีไปในมวลสรรพสัตว์ ตลอดจนเทพเทวาภูติ ผี ปีศาจทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไร้พรมแดนขีดขั้น ไม่ว่าเขาผู้นั้น หรือสัตว์นั้นจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาอะไร จะเกี่ยวข้องกับเราโดยความเป็นญาติ โดยความเป็นประเทศ เชื้อชาติ ศาสนาหรือไม่ก็ตาม ให้มีจิตกว้างขวางไร้พรมแดน ไม่มีขอบเขตขีดขั้น ขอให้เขาได้มีความสุข อย่าได้มีความทุกข์ระทมขมขื่นใจ

ตามหลักการแผ่เมตตาในทางพระพุทธศาสนานั้น ในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งที่ทุกคนปรารถนาก็คือความสุข และต้องการหลีกเลี่ยงจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ เราต้องการความสุขอย่างไรคนอื่นและสัตว์อื่นก็ต้องการความสุขอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เอาความรู้สึกตัวเราเองเป็นเครื่องเปรียบเทียบ วัดความรู้สึกของคนอื่นและสัตว์อื่น จะได้เห็นอกเห็นใจมีเมตตาต่อคนอื่นและสัตว์อื่นมากขึ้น แล้วไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

การแผ่เมตตาจึงควรแผ่ให้ทั้งแก่ตนและคนอื่นตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยตั้งความปรารถนาให้ทุกสรรพชีวิตมีความสุขเสมอกัน

ก่อนแผ่เมตตาควรทำสมาธิ ๓-๕ นาที น้อยหรือมากกว่านั้นตามโอกาส เพื่อให้จิตอ่อนโยน งดงาม สว่าง สะอาด ผ่องแผ้ว จิตที่ผ่องแผ้วอันเกิดจากกำลังสมาธิ แม้จะชั่วระยะเวลาอันสั้น ก็เป็นจิตที่ว่างจากความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา ว่างจากกามราคะ และว่างจากความหม่นหมองเศร้าซึม ลังเลสงสัยจับจดไม่แน่นอน เป็นจิตที่มีพลัง จึงเหมาะแก่การแผ่เมตตา

ในการแผ่เมตตา ไม่จำเป็นต้องกล่าวเป็นภาษาบาลีเสมอไป จะนึกเป็นภาษาไทยก็ได้ แม้จะไม่กล่าวเป็นภาษาบาลีก็ให้นึกเป็นภาษาไทย ขอให้เป็นภาษาของความรู้สึก เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ รู้สึกเมตตาสงสารการเกิดของตนเองที่ต้องเผชิญความทุกข์ ความเศร้าโศก โรคภัยไข้เจ็บ และต้องเผชิญกับความแก่ความเจ็บความตายไม่รู้จักจบสิ้น

ความรู้สึกนี้ให้เกิดตลอดไปจนถึงสรรพสัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่า ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ไร้เชื้อชาติศาสนา แม้แต่ศัตรูที่จ้องทำลายล้างเราก็ให้รู้สึกเช่นนั้น ให้นึกไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็นเช่น เทวาอารักษ์พระภูมิเจ้าที่ทั้งหลายด้วย

การแผ่เมตตานั้น แม้กล่าวเป็นภาษาบาลี แต่ความรู้สึกไม่ได้เป็นไปตามภาษาที่กล่าวก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ที่มาจากหนังสือ ลูกผู้ชายต้องบวช ผู้แต่ง ญาณวชิระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น