สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดญาณสังวรารามฯ
ไม่ว่าจะประมาทในการคิด หรือ ประมาทในการพูด หรือ ประมาทในการฟัง มีโทษอย่างยิ่งทั้งนั้น
ความประมาทในทั้งสามประการ เป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องถึงกัน
ประมาทอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เป็นเหตุให้ประมาทพร้อม เกิดโทษพร้อมได้จริง ดังเช่น
แม้มีความคิดเชื่อถือในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ความคิดเชื่อนั้นก็ย่อมไม่หยุดอยู่เพียงที่ความคิดเท่านั้น
ย่อมจะสืบต่อไปเป็นคำพูดด้วยเป็นธรรมดา
ถ้าประมาททำให้เกิดความเชื่อที่ไม่ถูกไม่จริง แต่เป็นความเชื่อที่ผิดที่ไม่จริง
เมื่อสืบต่อเป็นคำพูด ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิดจากความจริงด้วย
ผู้พูดจะมีเจตนาร้ายหรือไม่มีเจตนาร้าย ผลร้ายก็ย่อมเกิดแน่นอนเป็นธรรมดา
อย่าลืม คำพูดของคนนั้นมีอิทธิพลแรง มีอิทธิพลสูง ทั้งในทางทำลาย และทั้งในทางสร้างสรรค์
นั้นก็เพราะเกิดจากการฟังเป็นสำคัญ
เสียงพูดที่ไม่มีการได้ยินได้ฟัง เสียงก็ไม่มีความหมาย
แต่แน่นอน เสียงพูดต้องมีผู้ได้ยินได้ฟังเป็นธรรมดา
จึงต้องมีความหมาย เสียงนี้แหละที่ทำให้เกิดความเชื่อนี่แหละ ที่ทำได้
ให้คนดีถูกกดให้ต่ำต้อย คนชั่วเลิศลอยด้วยถูกยก อะไรที่เกิดตามมาจะเป็นผลดีได้หรือ
ถึงยุคเช่นนี้เมื่อไร เมื่อนั้นก็ใช่ยุคมืด
“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน”
คำพยากรณ์แต่โบราณนานมานี้ น่าจะบอกว่า
ยุคมืดจะมาถึง คือ ยุคที่คนดีจะถูกเหยียบย่ำ คนชั่วจะได้รับยกย่อง
ซึ่งต้องเป็นผลของกรรมที่ได้ทำกันมา ทั้งกรรมชั่ว และ ทั้งกรรมดี กรรมที่เอื้อมมือมาถึงแล้ว
อย่างไรก็ตาม เราทุกคนพึงหลีกให้พ้นการเป็นมือแห่งกรรมชั่ว ที่จะเหยียบย่ำคนดี
และหลีกให้พ้นจากการเป็นมือแห่งกรรมดี ที่จะยกย่องคนชั่ว
เพราะจะเป็นการร่วมสร้างบ้านเมืองของตนให้สิ้นความงดงามที่จะเกิดจากกำลังใจของคนดี
ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนดี
บ้านเมืองจะเต็มไปด้วยความเลวร้ายที่เกิดจากกำลังใจของคนชั่ว ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนชั่ว
พึงรอบคอบในการดูให้รู้จริงว่า ใครดี ใครชั่ว
รอบคอบในการฟังเสียงบอกเล่า จึงจะช่วยประเทศชาติให้สวัสดีได้ และช่วยตนให้พ้นบาปได้
การพูด กับ การฟัง สองอย่างนี้ยากจะชี้ลงไปได้ว่า อย่างไหนสำคัญกว่ากัน พูดแล้วต้องมีการฟัง เช่นนี้ก็เห็นได้ชัดว่า ต้องเกี่ยวเนื่องกัน มีความสำคัญเสมอกัน แต่โดยมีความเชื่อเข้าเป็นเรื่องใหญ่ พูดแล้ว ฟังแล้ว เชื่อแล้ว เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ความเชื่อมีความสำคัญที่สุด สำคัญกว่าการพูดและการฟัง
พูดได้ ฟังได้ เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้
ความเชื่อมีความสำคัญตรงนี้ ตรงที่ฟังแล้ว เชื่อเลย ไม่พิจารณาให้เห็นความถูกผิด ความจริงความเท็จ
ที่ได้ยินได้ฟัง เชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟัง เชื่อก็คือเชื่อว่าเป็นความจริงตามที่ได้ยินได้ฟัง จากเสียงบอกเสียงเล่า
ความจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้พูดอาจรู้ แต่ผู้ฟังไม่น้อยนักที่เชื่อว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง
คนนั้นบอกคนนี้เล่า เป็นเรื่องจริง
น้อยนักที่ฟังแล้วไม่เชื่อ ไม่สนใจ ฟังแล้วก็แล้วกันไป
ผู้ฟังประเภทหลังนี้โชคดี ที่ไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของเสียงบอกเล่า
นับว่าไม่ทำบาปแก่บางชีวิตของบางผู้บางคน ที่อาจไม่ควรต้องรับบาป
เป็นความสกปรกจากปากคนใจสกปรก ที่ในโลกมีมากมายนัก เพราะกิเลสยังไม่เบาบาง
ความเชื่อเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ
พึงมีสติให้เสมอ เมื่อจะเชื่อข่าว หรือ เชื่อคำบอกเล่าของผู้ใดผู้หนึ่ง
ตราบใดที่กิเลสยังครอบงำใจคนอยู่เกือบทุกถ้วนหน้า เสียงบอกเล่าก็หาอาจเชื่อได้เสมอไปไม่
เป็นผู้ฟังต้องรอบคอบให้อย่างยิ่ง มีสติ ใช้ปัญญา ให้เต็มที่ ให้สมกับที่มีบุญนักแล้วได้เกิดเป็นมนุษย์
และได้พบพระพุทธศาสนา อัญเชิญพระธรรมที่ทรงสอนไว้ในหัวใจ ในชีวิต ให้เป็นผู้มีกายวาจาใจ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์ โทษ ภัย ทั้งแก่ตนเอง และ ทั้งแก่ใครๆ ทั้งนั้น
ซึ่งเป็นไปได้ที่แม้เริ่มต้นแล้วย่อมแผ่ขยายยิ่งใหญ่ไปเป็นธรรมดา
ให้เป็นความทุกข์ ความร้อนของประเทศชาติ และของพระพุทธศาสนา
ก็เป็นไปได้ เริ่มที่ความเชื่อที่เกิดแต่ความชั่วร้ายนานาประการ จากบุคคลนานาชนิด
ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งใกล้ตัวเรา ทั้งไกลตัวเรา
สติในความเชื่อจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
แก้ไขความเชื่อ ที่อาจผิดไปแล้ว ให้ถูกได้ ด้วยกันทุกคน
แม้มีความจริงใจที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ อันเกิดจากคนมากมีกิเลส
ทุกข์ที่ครองบ้านครองเมืองที่รักของเราอยู่ อย่างน่าสะพรึงกลัวนัก
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
: ณ วัดญาณสังวรารามฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น