++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ชีวิตคน สั้นครับ ... ทำอะไรก็รีบทำครับ

ชีวิตคน สั้นครับ ... ทำอะไรก็รีบทำครับ …
เที่ยวบินสุดท้ายของ “ ดอกเตอร์มนัญยา ตันติวิวัฒน์ ”
เธอคือแบบอย่างของนักเรียนไทยที่มุ่งมั่น อดทน ไม่ย่อท้อ
จนประสบความสำเร็จ



“ ดอกเตอร์มนัญยา ตันติวิวัฒน์ ” สร้างความสำเร็จให้ตัวเองจนเที่ยวบินสุดท้าย และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในฐานะนักเรียนทุนอย่างสมเกียรติ...คุณค่าเธอควรมีมากกว่านี้ ?


เธอ... “ น้ำมนต์ ” --- มนัญยา ตันติวิวัฒน์ ฉายแววอัจฉริยะอย่างไม่น่าเชื่อตั้งแต่วัยเด็ก ได้รับเหรียญทองนักเรียนดีเด่นของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดต่อกันตั้งแต่ชั้น ป. 1 กระทั่งจบ ม. 6
เธอ...คว้ารางวัลแห่งความสำเร็จไปคนเดียวอย่างน่าทึ่งในช่วงการเรียน 12 ปี
“ น้ำมนต์ ” สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็นที่ 2 มีทุนสนับสนุนทั้ง 4 ปี ขณะเดียวกันก็สอบได้ทุนรัฐบาลไทยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ณ สหรัฐอเมริกาด้วย
ในปี 2543 เธอเลือกไปอเมริกา เข้าเรียนปริญญาตรีคณะฟิสิกส์ที่ Dartmouth College ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่มีชื่ออันดับต้นๆ ในดินแดนมะกัน กระทั่งจบคณะฟิสิกส์ และได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่ The University of California Santa Barbara (UCSB)
ระหว่างนี้เธอสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยด้วยการเป็นตัวแทนไปนำเสนองานวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กลับมาจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ ระหว่างเรียนเธอคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลน้องๆ นักเรียนทุนไทยเป็นประจำ นักเรียนไทยที่นั่นกว่า 600 คน จึงรู้จักมักคุ้น “ พี่น้ำมนต์ ” เป็นอย่างดี
มนัญยา...เข้าศึกษาต่อด้านฟิสิกส์สาขาถนัดในระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิมอีก 6 ปี ระหว่างนั้นในปี 2551 เธอเริ่มทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านม จึงเข้ารับการรักษามาเป็นระยะ ทั้งการฉายแสง คีโม กระทั่ง 1 ปีผ่านไป ได้รับการผ่าตัดจนอาการอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ทุกคนดีใจมากที่มนัญยาคนเดิมจะได้กลับมามุ่งมั่นทุ่มเทกับการเรียนของเธอ และในปีเดียวกันนั้นเธอก็ได้รับรางวัล Materials Research Lab Diversity Fellowship
“ ถ้าเป็นคนอื่นคงเลิกเรียนแล้วมารักษาตัวที่บ้าน ” คุณพ่อมนูญศักดิ์ ตันติวัฒน์ เล่า
สำหรับน้ำมนต์ไม่ใช่ --- เพื่อนๆ และอาจารย์ในคณะ เล่าว่า เธอเป็นคนไม่ยอมแพ้ แม้จะป่วยแต่ยังขยันขันแข็งและอดทนมาก --- จากนั้นไม่นานเธอเข้าเอกซเรย์ร่างกายอีกครั้ง พบว่ามะเร็งลามไปที่ปอด อดทนมาก ยังไงก็จะเรียนให้จบ ” “ น้ำมนต์ไม่เคยท้อ คุณพ่อ ย้ำ


http://www.posttoday.com/media/content/2011/05/08/91AB34F024704F358ADBD800B1F4BF73.jpg
น้ำมนต์


ระหว่างอาการป่วยในระยะที่ 2 เธอยังพาเพื่อนๆ มาฝึกเรียนขี่ช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของพ่อ กลับไปอเมริกาอีกครั้ง อาจารย์แจ้งว่าเธอสามารถขอจบปริญญาเอกได้ภายในเดือน มิ.ย. 2553 แต่เธอก็ยังไม่ยอม เพราะต้องการทำงานวิจัยให้สมบูรณ์และออกมาดีที่สุดก่อน งานวิจัยชิ้นที่ว่าชื่อ Structure-Function-Property Relationships In Solution-Processed Diketopyrrolopyrrole- Based Materials
ขณะที่เธอมุ่งมั่น มะเร็งร้ายก็ไม่ปรานี เริ่มลามไปยังตับและสมอง ผู้เป็นพ่อแม่และครอบครัวได้แต่ทำใจว่าลูกสาวว่าที่ดอกเตอร์คงต้องจากไปในเวลาอีกไม่นาน มนัญยาก็รู้ตัวเองดีเช่นกัน ช่วงเดือน พ.ย. 2553 เธอจึงบินกลับกรุงเทพฯ มาพักผ่อนนอนเที่ยวอยู่ 2 สัปดาห์ ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมและอำลาบรรดาเพื่อนๆ ในยุโรป รวมถึงอาจารย์สมัยเรียนปริญญาตรี
... ต่อมาเธอก็หายใจได้แผ่วเบาลงเรื่อยๆ ด้วยปอดถูกทำลายไปมากแล้ว
เธอใช้เวลาเขียนงานวิจัยบทสุดท้าย ซึ่งเป็นคำประกาศเกียรติคุณ แสดงการขอบคุณทุกคน ที่คอยช่วยเหลืองานวิจัย ขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล Santa Barbara มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต คุณพ่อมนูญศักดิ์จึงเดินทางไปอเมริกาในวันที่ 5 เม.ย. เพื่อรับลูกสาวกลับบ้าน หวังเพียงให้ลูกได้เดินทางสู่อีกภพอย่างสงบ ณ บ้านเกิด
คุณพ่อได้จองตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทยให้ล่วงหน้า มีกำหนดเดินทางกลับวันที่ 12 เม.ย. ก่อนเดินทาง 1 วัน เพื่อนๆ นักเรียนไทยช่วยเตรียมการวางแผนการเดินทางกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ป้องกันความผิดพลาดทุกอย่าง อาทิ เคลียร์ค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล ยกเลิกการเช่าอพาร์ตเมนต์ ยกเลิกโทรศัพท์ ปิดบัญชีธนาคาร ตลอดถึงการเช่ารถเตรียมเดินทาง ฯลฯ
แม้จะเป็นภารกิจการจากลาอย่างไม่มีวันเจอะเจอกันอีก แต่ทุกคนก็ช่วยด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ทั้งหมอ พยาบาลเข้าเยี่ยมอำลามนัญยาไม่ขาดสาย จนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต้องจัดห้องพิเศษให้เป็นการเฉพาะ
ผลการตรวจสุขภาพครั้งสุดท้าย น้ำมนต์อยู่ในอาการที่ดีมาก แพทย์ประจำตัวจึงออกหนังสือ Fit to Fly ให้ --- วันนั้นเธอบอกกับพ่อว่า The sooner the better
วันที่ 14 เม.ย. ศาสตราจารย์อลัน ฮีเกอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ได้อนุมัติปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ให้ “ ดอกเตอร์มนัญยา ” อย่างเป็นทางการ ขณะที่เจ้าตัวรู้ดีว่า คงมีลมหายใจได้อีกไม่นาน จึงแจ้งให้คุณแม่ และน้องชายเดินทางมาเจอหน้าเป็นครั้งสุดท้าย
วันที่ 17 เม.ย. น้ำมนต์คุยกับพ่อ แม่ และน้องชายได้น้อยลง กระทั่งอยู่ในอาการนิ่งเงียบ
... บ่ายวันถัดมา 18 เม.ย. 2554 ดอกเตอร์มนัญยาก็จากไปอย่างสงบด้วยวัยเพียง 28 ปี
วันที่ 20 เม.ย. ทาง UCSB จัดพิธีมอบปริญญาให้ “ ดอกเตอร์มนัญญา ” อย่างยิ่งใหญ่ และสมเกียรติ มีนักศึกษาไทย เพื่อนร่วมคณะ คณบดี และศาสตราจารย์ผู้อนุมัติปริญญาเข้าร่วมเชิดชูเกียรติ พร้อมประกาศจัดตั้งกองทุน “ มนัญยา ตันติวิวัฒน์ ” ขึ้นในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติ และระลึกถึงมนัญยา ในฐานะนักศึกษาที่อุทิศตนให้กับงาน และทำหน้าที่เป็นมากกว่านักศึกษา รวมถึงจะเป็นกองทุนการศึกษาแก่นักศึกษารุ่นต่อๆ ไปด้วย คงไม่มีบรรยากาศการรับปริญญาของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งนี้ครั้งไหน จะเศร้าสลดได้เท่าครั้งนี้อีกแล้ว

--- เจ้าของปริญญาอันน่าภาคภูมิ...มีเพียงภาพถ่ายเข้าร่วมพิธี!!!
ศาสตราจารย์ฮีเกอร์ รวมถึงผู้แทนดูแลนักเรียนไทยจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ขึ้นกล่าวยกย่องบัณฑิตแห่งปีอย่างยิ่งใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ --- เธอคือแบบอย่างของนักเรียนไทยที่มุ่งมั่น อดทน ไม่ย่อท้อ จนประสบความสำเร็จ
“ ผมร้องไห้ด้วยความปลาบปลื้ม เพราะวันนั้น ลูกไม่มีโอกาสอยู่ในงานรับปริญญา ” คุณพ่อ เล่า
ในวันที่กำหนดว่าจะเดินทางกลับเมืองไทย สายการบินที่เธอโดยสาร แจ้งครอบครัวตันติวิวัฒน์ว่า ไม่สามารถให้ผู้ป่วยขึ้นเครื่องได้ โดยอ้างเหตุผลทางการแพทย์ ทำให้มนัญยาถึงกับมีอาการช็อกอย่างเห็นได้ชัด--- เธอผิดหวังมาก
“ ทำไมมาบอกเราเอาวันจะเดินทาง ” คุณพ่อมนูญศักดิ์ บอก
ล่วงเลยไปถึงวันที่ 22 เม.ย. สายการบินดังกล่าวจึงอนุญาตให้เธอ และครอบครัวเดินทางกลับประเทศไทย ในเที่ยวบินเดิม เพียงแต่ร่างของดอกเตอร์มนัญยาต้องไปอยู่ใต้ท้องเครื่อง ยังโชคดีที่พนักงานต้อนรับจัดที่นั่งให้คุณพ่อ พอจะวางภาพถ่ายของเธอไว้ข้างๆ ( ทั้งที่น่าจะเป็นที่นั่งของดอกเตอร์มนัญยาขณะยังมีชีวิต) พร้อมกับบริการไวน์ขาวเพื่อการเฉลิมฉลองปริญญาอันสูงค่ายิ่งตามคำขอของพ่อ
ก่อนและหลังพิธีพระราชทานเพลิงศพไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2554 ครอบครัวตันติวิวัฒน์ แสดงความขอบคุณต่อผู้ให้การช่วยเหลือในการนำศพ “ ดอกเตอร์มนัญยา ตันติวิวัฒน์ ” กลับบ้าน ขณะเดียวกันได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังผู้บริหารสายการบินแห่งนั้น เพื่ออธิบายถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในการปฏิบัติต่อความประสงค์ของผู้ป่วย เพื่อไม่ต้องประทับไว้ซึ่งความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวใดอีกในวันหน้า
“ ดอกเตอร์มนัญยา ตันติวิวัฒน์ ” สร้างความสำเร็จให้ตัวเองจนเที่ยวบินสุดท้าย และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในฐานะนักเรียนทุนอย่างสมเกียรติ ... คุณค่าเธอควรมีมากกว่านี้ ?



นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น