ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่พึ่งเป็นสรณะอันสูงสุดในชีวิต ขอโอกาสพระเถรานุเถระ พระวิปัสสนาจารย์ ตลอดจนกระทั่งสหธรรมมิกและลูกเณร ขอเจริญในธรรมแก่ผู้สนใจในธรรมทุกท่าน
วันนี้หลังจากการทำวัตรเย็นแล้ว เราก็จะได้มีรายการพิเศษ เรียกว่าปฏิบัติธรรมน้อมระลึกนึกถึง คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เราย้อนไปเมื่อ 2589 ปีที่ผ่านมา ก็คืนวันเพ็ญเดือนหก นี้แหละ เป็นคืนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วทีนี้ในวันนี้ จะได้พูดถึงเรื่องของอริยสัจ คืออริยสัจ ๔ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์ได้ตรัสรู้
ในตอนเช้า (หลังทำวัตรเช้า) ได้พูดถึงเรื่องญาณทั้งสามคือ บุพเพนิวาสญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ บางคนอาจสงสัยว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้อะไรกันแน่ บางคนก็ว่า พระองค์ตรัสรู้ด้วยโพชชงค์ ๗ บางที่ก็บอกว่าตรัสรู้ด้วยโพธิขัติขิยธรรม ๓๗ ประการ บางที่ก็บอกว่า ตรัสรู้ด้วยญาณทั้งสาม แล้วบางคนก็บอกว่าตรัสรู้ด้วยอริยสัจ ๔ บางคนก็บอกว่าตรัสรู้ด้วยมรรคมีองค์ ๘ แล้วทีนี้ ถ้าหากว่าเราพูดกัน บางทีเราอาจจะเห็นเป็นคนละเรื่องกัน อย่าง โพชชงค์ ๗ มรรค ๘ อริยสัจ ๔ หรือญาณ ๓ แต่ความจริงแล้ว มันก็รวมอยู่ในที่เดียวกัน แต่ต่างสถานที่ ต่างหมวด ก็เลยบัญญัติเรียกกันไปคนละอย่าง
ก่อนที่จะพูดถึงอริยสัจจ์ ๔ ก็อยากจะเริ่มต้นมาจากมรรค ๘ เพราะ มรรค์มีองค์ ๘ นี้เป็นหลักที่พระองค์ได้ดำเนินมาจนกระทั่งบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วถ้าพูดถึงมรรค ๘ บางทีเราก็จะเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ มรรค ๘ มีอะไรบ้าง ถ้าหากเราจะพูดกว้างๆมันก็กว้าง ตั้งแต่สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ แล้วถ้าหากเราจะพูดย่อลงมาอีก ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าหากเราจะพูดลงมาก็คือ มรรคมีหนทางอันเดียว คือกายกับใจของเรานี้ มีหนทางเส้นเดียวที่จะต้องดำเนินเดินไป การเดินก็ได้พูดตั้งแต่วันแรกแล้วว่า กรรมฐานมีกายกับใจ เป็นกรรมทา กายกับใจเป็นอารมณ์ กายกับใจเป็นทางเดิน มีสติเป็นผู้ทำกรรมฐาน เป็นผู้กำหนดรู้อารมณ์ สติเป็นผู้เดินตามทางคือ รูปและนามในปัจจุบันนี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แล้วตัวนี้แหละ เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘
ทีนี้มรรคมีองค์ ๘ นี้จะเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิก่อน คือเริ่มต้นจากปัญญา แล้วทีนี้บางทีเราก็อาจสงสัยว่า เอ๊ะ บางแห่ง เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ในหลักของมรรค ๘ ทำไมเอาปัญญาขึ้นมาไว้ก่อน ก็เพราะว่าหลักของการปฏิบัตินั้น เริ่มจากความรู้สึก คือเริ่มจากตัวสติไปก่อน อย่างเช่นที่เราปฏิบัติกันนี้ เราเอามือวางไว้ที่เข่าทั้งสอง เราก็รู้ ตัวรู้นี้แหละ เป็นตัวปัญญาในเบื้องต้น แต่เรายังไม่เรียกปัญญา เราเรียกกันว่า สติ แต่ความจริงก็คือหน่อแห่งปัญญา นั่นเอง แล้วถ้าเราไม่ใช้ปัญญาในเบื้องต้นนี่ มันจะเดินไปไหนถึงไหม ไม่ว่าจะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม จะปฏิบัติแบบยุบหนอ-พองหนอ ก็ต้องใช้ตัวความรู้สึก เข้าไปจับตรงที่ยุบที่พอง จะใช้วิธีดูลมหายใจออก หายใจเข้า ก็ต้องเอาสติไปรู้สึกที่ลมกระทบ คืออาศัยความรู้สึกเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้สึกเป็นตัวนำ เรียกว่า อาศัยปัญญา เป็นตัวนำ พระองค์จึงยกสัมมาทิฐิขึ้นเป็นเบื้องต้น สัมมาทิฐิ แปลว่า เห็นถูก การเห็นถูกคือเห็นอย่างไร ก็คือการเห็นอยู่ที่กายที่ใจนี่เอง ไม่ใช่ไปเห็นที่อื่น ถ้าไปเห็นที่อื่น นอกจากเห็นที่กายที่ใจแล้วนี่ วิธีนั้นเป็นวิธีที่ปฏิบัติผิด วิธีไหนก็ตามถ้ามาเห็นกายเห็นใจ มาดูความรู้สึกที่กายที่ใจแล้ว วิธีนั้นเป็นวิธีที่ถูกต้องทั้งหมด
ฉะนั้นหลักของสัมมาทิฐิ ถึงบอกว่าการเห็นถูก เห็นถูกคือเห็นกายเห็นใจ แล้วในหลักท่านบอกว่า เป็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ก็อยู่ที่กายที่ใจของเรา สมุทัยก็อยู่ที่ใจของเรา นิโรธก็อยู่ที่ใจ มรรคก็อยู่ที่กายที่ใจของเรานี่เอง ถ้าหากว่าเห็นที่กายที่ใจ ก็แสดงว่า เห็นถูกหรือเห็นทุกข์ ถ้าเห็นทุกข์มันเกิดขึ้นทางกาย ก็เรียกว่าเป็นทุกข์กาย ถ้าเห็นทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ ก็เรียกว่าเป็นทุกข์ใจ คือมันมีทุกข์สองอย่าง ทุกข์กาย ทุกข์ใจ แต่ทุกข์สองอย่างนี้ มันก็เนื่องถึงกันและกันอยู่เสมอ ถ้าหากว่าตราบใด กายและใจมันไม่แยกออกจากกันแล้ว มันก็สะเทือนถึงกันตลอด เพราะมันเป็นสะพานเชื่อมโยงถึงกันและกันระหว่างกายกับใจ ฉะนั้น การปฏิบัติจึงยกเอาตัวนี้ขึ้นมาเป็นหลักในการปฏิบัติก่อน ว่าให้เรารู้อยู่ที่กายของเรา
เพราะว่า อย่างหลักของหลวงพ่อเทียนนี่น่ะ ท่านให้เราพิจารณาง่ายๆ คือพิจารณาจากส่วนหยาบไปสู่ส่วนละเอียด ส่วนหยาบก็คือกาย แต่ถ้าเป็นวิธีแบบ ยุบหนอ-พองหนอ หรือพุทโธ นับจากส่วนละเอียดมาหาส่วนหยาบ การที่ดูส่วนหยาบเข้าไปถึงส่วนละเอียดนี่ มันดูง่าย เพราะการที่เรามาฝึกนี่ เรายังไม่มีสมาธิแนบแน่น ไม่มีสมาธิเพียงพอที่จะดูส่วนละเอียดให้เห็นโดยชัดได้ ขณะที่เรายกมือ ตะแคงมือขึ้น ยกขึ้นมาหยุด แล้วเอามาที่ใต้สะดือ เอามือเข้า เอามือออกนี้ เรายังกำหนดไม่ได้ชัด เรียกว่าขนาดมันหยาบๆขนาดนี้ เรายังกำหนดไม่ค่อยได้ ใหม่ๆ แต่อาศัยว่าการเคลื่อนไหว มันเป็นส่วนที่หยาบ เห็นได้ง่าย ถ้าหากเราพยายามอยู่ในส่วนนี้ไปเรื่อยๆ เราจะค่อยเห็น รู้สึกมากเข้าๆไปอีก รู้สึกมากเข้าในการยกมือสร้างจังหวะ เอามือเข้าเอามือออก แล้วก็รู้สึกชัดในการที่เราเดินไป ขณะเท้ากระทบพื้นนี่ พอเรารู้ในส่วนนี้มันชัดเท่านั้นเอง แล้วเราก็จะรู้ขยายออกไปถึงส่วนย่อยของอวัยวะต่างๆ เช่นการเหยียดแขน คู้แขน การลืมตา อ้าปาก กลืนน้ำลาย กระพริบตา การเคี้ยวอาหาร รู้ขยายออกไปๆ ในอิริยาบทย่อยๆ เราลุก เราก็รู้ เรานั่งเราก็รู้ เรายืนเราก็รู้ เราเดินเราก็รู้ เราจะไปจับอะไร ทำอะไร มันก็รู้โดยอัติโนมัติ
ถ้าหากเรารู้ชำนาญในส่วนใหญ่ๆแล้ว ในอิริยาบทใหญ่แล้ว มันค่อยรู้ลึกลงไปๆ เราก็จะไปถึงการเห็นความคิด ความคิดมันเกิดขึ้น แต่ทีแรกเราจะไม่เห็น ความคิดมันเกิดขึ้น ๑๐๐ เรื่อง เราจะเห็น ๒-๓ เรื่อง แต่ถ้าเรามีความรู้สึกมากขึ้น เราก็จะเห็นความคิดถี่ขึ้น ความคิด ๑๐๐ เรื่องก็จะเห็น ๕ เรื่อง ๑๐ เรื่อง ๒๐ เรื่อง ๓๐ เรื่อง ๔๐ เรื่อง ๕๐ เรื่อง จนกระทั่งเกิด ๑๐๐ เรื่อง เราเห็น ๑๐๐ เรื่อง แล้วการที่เห็นความคิดของเรานี้ ทุกๆท่านที่ปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว จะเห็นความคิดของตัวเอง ว่าความคิดแรกมันจะยาว คือความคิดมันยาว แล้วบางทีเราเดินไปตั้งนานมันก็คิดไปตั้งนาน มันจึงไปเห็น พอไปเห็นมันจึงหยุด แต่เมื่อเรามีความรู้สึกมากขึ้น ความคิดมันจะสั้นลงๆ เพราะสติของเราเข้าไปเห็นบ่อยเข้า คือสติของเรามันเริ่มอยู่กับตัวมากเข้า เราก็จะเห็นความคิดถี่ขึ้น เมื่อเห็นถี่ขึ้น ความคิดมันก็สั้นลง เราเห็นถี่ขึ้นมากเท่าใด มันก็จะสั้นลงมากเท่านั้น มันจะสั้นลงๆ จนกระทั่งมันเกิดปั๊บ ดับ เกิดปั๊บ ดับ
แล้วทีนี้ตัวความคิดนี้แหละ ที่พระพุทธองค์เรียกว่าเป็นตัวสมุทัย เป็นตัวทำให้เกิดทุกข์ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เกิดทุกข์ นอกจากความคิดที่เราหลงคิดนี่ ความคิดที่เราหลงคิดนี้มันเป็นตัวสมุทัย ทีนี้ถ้าหากว่า เมื่อความคิดมันเกิดขึ้น ถ้าหากเราเอาสติเข้าไปรู้ทัน มันจะเป็นนิโรธ แต่ถ้าเราเอาสติไปรู้ไม่ทัน เห็นไม่ทัน ในขณะที่มันเกิดขึ้น มันก็จะเป็นทุกข์ คือระหว่าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มันอยู่ตรงข้ามกัน ถ้าหากว่า เวลารูปมากระทบตา เกิดความคิด เกิดความรัก เกิดความชัง ถ้ามันเกิดความรักความชัง เห็นว่าสวยไม่สวยนี่ แสดงว่า สติของเราสกัดไม่ทัน ตรงเบื้องต้นนี้แหละ สติเราสกัดไม่ทันคือให้มันเลยไปถึงสมมติแล้ว ถ้าหากเรามีสติไปสกัดกั้นตอนที่มันถึงสมมติได้ มันก็หยุดอยู่ที่สมมติ
ในเรื่องนี้ ในเรื่องการเจริญสตินี่ เคยได้อ่านในวิสุทธิมรรค ตอนที่เรียนประโยค๘ ท่านเปรียบอุปมาอุปมัยไว้ตอนหนึ่งว่า มีภิกษุผู้เจริญสติรูปหนึ่ง ลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เดินเข้าสู่ป่าเพื่อไปหาที่วิเวก แล้วขณะที่ท่านเดินทางไปนั้น บังเอิญว่ามีสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีจะพาภรรยาไปเยี่ยมบ้านเกิดของภรรยา แล้วก็มาเกิดทะเลาะกันอยู่กลางทาง พอทะเลาะกัน ก็แยกทางกันเดิน ผู้หญิงก็มุ่งหน้าไปสู่บ้าน ผู้ชายก็เดินกลับ บังเอิญผู้หญิงเดินสวนกับพระ แล้วก็ยิ้มให้พระ เดินผ่านไป พอดีผู้เป็นสามีคิดได้ว่า ภรรยาเข้าไปในดงคนเดียว กลัวจะเกิดอันตรายขึ้นก็เลยรีบตามมา มาเห็นพระท่านกำลังเดินทางไป ก็เลยถามว่า เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาทางนี้ไหม พระท่านก็บอกว่า ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย เห็นแต่ร่างกระดูกที่เดินผ่านไปทางนี้ อันนี้ท่านได้เปรียบอุปมาอุปมัยว่า การที่เจริญสตินี่ ตัวสติมันจะรู้เฉพาะเป็นรูป คือไม่ได้เลยไปถึงรูปหญิงรูปชาย หรือได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าเสียง คือไม่รู้ว่าเสียงอะไร เสียงระฆัง เสียงนก เสียงกา ไม่ได้เลยไปถึงโน้น ท่านว่านั่นมันเลยไปถึงสมมติแล้ว คือให้มันอยู่ที่ ตรงที่มันเป็นสัจจะ ให้มันเป็นของจริง จริงๆ มันจะไม่ได้ปรุงแต่งว่าสวย ว่างาม ว่าไพเราะ ว่าดี ถ้าหากมีสวย มีงาม มีไพเราะแล้ว มันก็เกิดมีความรัก ความชังขึ้นมา เกิดความอยากได้ เกิดความอยากมีอะไรต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นภพเป็นชาติต่อไปได้
นี่แหละการที่เราเห็นความคิดที่มันเกิดขึ้น ตรงที่เรียกว่าสมุทัย ถ้าหากสติของเรา ไปรู้ทันมันก็เป็นนิโรธ คือมันดับ เพราะนิโรธแปลว่าดับ แล้วมรรค ๔ น่ะ ตรงที่พอเราเอาสติไปสกัดตรงสมุทัยที่มันเกิด มันก็เป็นนิโรธ ถ้ารู้ไม่ทันมันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ทุกข์ก็คือตัวที่ไม่มีสติไปสกัดกั้น ตรงสมุทัยมันเกิด แล้วนิโรธก็คือ ตัวที่เรามีสติเข้าไปรู้ทันตรงสมุทัยมันเกิดมันดับ ก็เรียกว่าตัวนิโรธ ทีนี้ตัวมรรค คือตัวที่เราจะทำให้มาก ตัวที่เราจะทำให้มีความรู้สึก คือตัวสติของเราที่เดินตามกายนี้แหละ เดินตามกายเคลื่อนไหว ไม่ว่าเราจะสร้างจังหวะ หรือเราเดิน การที่เราเอาสติเข้าไปรู้ ก็หมายถึงว่า เราเอาสติเป็นผู้เดินตามรูปตามนาม หรือตามกายตามใจของเรา
สติตัวนี้แหละ เป็นหนทางที่จะไปถึงความดับทุกข์ คือตัวนิโรธ เป็นหนทางที่จะไปสกัดกั้นตัวที่มันเกิดจากสมุทัย ตัวความคิดนี้ ถ้าหากไม่มีมรรคตัวนี้ คือไม่มีการเดิน ไม่มีสติเดินตามรูปตามนามนี่ ตัวสติถึงมันจะมีอยู่ก็ตาม แต่ไม่สามารถไปสกัดกั้นตัวสมุทัยที่มันจะทำให้เราเกิดทุกข์ได้ แต่ถ้าเราเดินอยู่นี่ เรารู้อยู่นี่ เรารู้อยู่ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปมา เรารู้ เรามีความรู้สึก รู้สึกที่ตัวของเรา รู้สึกที่กายที่ใจของเรา พอรูปเข้ามากระทบตา ตัวสติจะเข้าไปรู้ทันที ไปสกัดกั้นทันที ความคิดที่จะปรุงแต่งต่อไป มันก็คิดไม่ได้ มันก็ดับ มันก็เลยเป็นนิโรธ เรียกว่า ถ้าเราเผลอปั๊บเวลาไหนนี่น่ะ ทุกข์มันก็จะเกิด เพราะว่าเอาสติไปปิดไม่ทัน เราเผลอไปมากเท่าไร ความทุกข์มันก็จะมีมากเท่านั้น เราเผลอไปหนึ่งนาที ความทุกข์มันก็จะมีหนึ่งนาที เราเผลอไปสองสามนาที ความทุกข์มันก็มีสองสามนาที เราเผลอเป็นชั่วโมง ความทุกข์มันก็มีเป็นชั่วโมง
ะนั้น การเดินทางของเรานี่ จึงเป็นเรื่องจำเป็น อย่าให้หยุด แม้ว่าเรายกมือไม่ได้ เวลาเราไปตามรถตามเรือนี่น่ะ เราก็พยายามยามสัมผัสที่มือของเราให้รู้สึก เราอย่าไปยกมือบนรถ อย่าไปยกมือบนเรือ เพราะเขาจะหาว่าเราเป็นบ้า ให้เราพยายามพลิกมือไปพลิกมือมา หรือว่าสัมผัสมือไปสัมผัสมือมา ให้มันรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเราสัมผัสให้มันรู้สึกตัวตลอดเวลานี่ รับรอง ๑๐๐ % เลยว่าความทุกข์มันจะไม่เกิดขึ้นแก่เราได้ ความวิตกกังวลมันจะไม่เกิดขึ้นแก่เราได้ เพราะตัวความรู้สึกนี่ ไม่ว่าเราจะยกมือก็ตาม ไม่ว่าเราจะสัมผัสมือก็ตาม ไม่ว่าเราจะกระดิกมือไป กระดิกมือมาก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกตัวอยู่ตลอด เมื่อรู้สึกอยู่ตลอด อะไรที่เกิดขึ้นทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็พร้อมที่จะเข้าไปสกัดกั้น ไม่ให้เราทุกข์ ไม่ให้เราเกิดความวิตกกังวลได้ อันนี้แหละตัวเดินทาง ถ้าเราเดินทางมากเท่าใด ความรู้สึกตัวมันก็มากขึ้นเท่านั้น เมื่อความรู้สึกตัวมากขึ้นเท่าใด แล้วความทุกข์มันจะน้อยลงเท่านั้น
ความคิดสับสนวุ่นวาย มันจะคิดน้อยลงๆ ถ้าเรามีความรู้สึกตัวตลอดนี่ ความทุกข์มันจะไม่มีเลย เพราะว่าความคิดปรุงแต่งนี่มันไม่มี แล้วคำว่า ความคิดนี้ก็ต้องให้ญาติโยมเข้าใจกัน บางทีจะคิดว่า เอ ถ้าหากว่าไปดับความคิดมันก็หมดแล้วน่ะสิ ไม่มีอะไร จะไปทำความเจริญอะไร จะไปเป็นอยู่ จะไปอะไร สร้างอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่มีความคิด ให้เข้าใจว่า ความคิดมันมี สองชนิด คือ ความคิดชนิดหนึ่งนั้น เรียกว่าความคิดที่เป็นไปด้วยโมหะ ความคิดอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าความคิดที่เป็นไปด้วยวิชา ความคิดที่เป็นไปด้วยโมหะ นี่ ที่มันมักเกิดขึ้นแก่เราในขณะที่เราไม่มีสติ ในขณะที่เราหลง แล้วพอเกิดขึ้น มันคิดเรื่องอะไรๆ ก็ไม่ค่อยจบ คิดเรื่องนี้ยังไม่จบ ก็ไปคิดเรื่องโน้น คิดเรื่องโน้นยังไม่จบ กลับมาคิดเรื่องนี้ แล้วก็ไปคิดเรื่องโน้นต่อ เรียกว่าคิดอะไรก็ไม่มีที่จบว่างั้นเถอะ แล้วก็ เราจะสลัดมันออกไป ก็สลัดไม่ค่อยออก มันเหนียว เราสลัดปั๊บ ออกไป มันคล้ายๆมียางเหนียว มันก็ยืดกลับมา เราพยายามตัดออกไปทีไร มันดีดปั๊บกลับคืนมา บางทีนอนมือเกยหน้าผากทั้งคืน นอนไม่หลับ จะทิ้งก็ทิ้งไม่ลง
แล้วความคิดชนิดนี้แหละ ถ้าหากใครคิดมากๆนี่ จะเป็นโรคเครียดกัน สมัยนี้คนเรามีความคิดชนิดนี้มาก แล้วคนเราถึงเกิดความเครียดกันทั่วๆไป ถ้าหากความเครียดเกิดขึ้นในตระกูลใด หรือบ้านใดแล้วนี่ บ้านนั้นต้องระวัง เพราะว่าความเครียดมันเป็นอันตรายอย่างยิ่ง อย่างที่มีการฆ่ากันตายหมดตระกูล ก็เพราะความเครียดนี่แหละเกิดขึ้น คิดๆไปมันไม่มีที่ออก ก็วกไปวนมา เกิดภาพหลอน คนโน้นก็จะมาฆ่า คนนี้ก็จะมายิงฉัน คนโน้นก็จะมาทำร้ายตัวเอง ยิ่งพวกติดยาเสพติดก็ยิ่งอันตรายใหญ่ อย่างที่ข่าวหนังสือพิมพ์เขาบอกว่า เกิดขึ้นที่สุโขทัย บ้านนั้นเป็นบ้านที่รวย เรียกว่ามีรถแทรกเตอร์ มีรถไถ มีรถดั๊ม อะไรเยอะแยะ แล้วมีลูกชายคนเดียว ทำงานอย่างหนัก แล้วกินยาบ้าเข้าไป เพื่อจะทำงานให้ได้เงินมากๆ แล้วพอกินเข้าไปมากๆ ความคิดมันก็มากขึ้นๆ แล้วเกิดภาพหลอนขึ้นมา เหมือนกับจะมีคนมาตามฆ่า มันก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วพอเกิดความกลัวขึ้นมา เค้าก็มีปืนลูกซองสั้นอยู่กระบอกนึง แล้วก็กำปืนลูกซองสั้นนั่นอย่างแน่น เพื่อจะเตรียมยิงคนที่จะมาฆ่าตัวเอง แล้วก็เข้าไปหลบอยู่ในห้อง แม่เห็นลูกเข้าไปอยู่ในห้องเป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งแล้ว กลัวลูกจะเป็นอะไร ก็เลยไปเปิดประตู พอเปิดประตูเท่านั้นแหละ คนนั้นนั่งตัวสั่นอยู่กลัวคนจะไปฆ่า พอเปิดประตูปั๊บ เห็นแม่เป็นศัตรู ยิงสวนมา หงายท้องเลย นี้แหละลักษณะความคิดของตัวหลงคิดนี่แหละ
ความคิดที่หลงคิด เราจะดับได้ ก็ด้วยตัวสติ ด้วยปัญญาเท่านั้น คือเห็นด้วยสติ เห็นด้วยปัญญาจริงๆ อย่างชัดๆ เห็นอย่างแจ่มแจ้งมันถึงจะดับได้ การที่เราจะเห็นด้วยสติปัญญา เราก็ต้องอาศัยวิธีการ หลักการที่เราอยู่กับปัจจุบันนี้ หรือว่าเราเดินตามมัชฌิมาปฏิปทา แล้วในที่สุดมันก็จะค่อยปล่อยค่อยวางไปเอง อย่างในหลักของสัมมาทิฏฐิ หรือในหลักของมรรคมีองค์แปดเนี่ย คือสัมมาทิฏฐิขึ้นต้น แล้วก็ต่อด้วยสัมมาสังกัปปะ แล้วพอเราเห็นถูก คือเห็นอยู่ที่กายที่ใจแล้ว ตัวสัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นปัญญาที่ลึกซึ้งกว่าสัมมาทิฏฐิ นี้จะเกิดขึ้น พอตัวสัมมาสังกัปปะเกิดขึ้นเนี่ย เนกขัมมะสังกัปปะ ความดำริในการออกจากกาม ในการออกจากกามนี้ก็คือ การที่เราจะออกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผทัฏพะ คือไม่ไปติดในสิ่งเหล่านั้น หมายถึงว่า ไม่ไปติด ไม่ได้ออกไปเลยว่างั้นเถอะ แต่เราไม่ได้ไปติด แล้ว อพยาปาทะสังกัปปะ คือความดำริในทางไม่พยายบาท แล้ว อวิหิงสะ ความดำริในการไม่เบียดเบียน แล้วคือตัวนี้มันคลาย เรียกว่ามันเกิดนิพพิทา
นิพพิทา แปลว่ามันคลาย เราแปลนิพพิทากัน บางทีเราก็งงเหมือนกัน เพราะว่าเราแปลนิพพิทาว่า ความเบื่อหน่าย แต่ความจริงแล้ว นิพพิทา มันเป็นศัพท์เดียวกับเวทนา แต่เขาเอา นิ เข้าไปเป็นบทหน้า แปลว่าไม่ เวทนา แปลว่าเสวย นิพพิทา นี้แปลว่า ไม่เสวย คือไม่ติด คือไม่เสพด้วยความติด เสพอะไร ก็เรียกว่า เห็นรูป ก็เห็นอยู่เฉพาะที่ตา ได้ยินเสียง ก็ได้ยินอยู่เฉพาะที่หู กลิ่นก็อยู่เฉพาะจมูก รสก็อยู่เฉพาะลิ้น สัมผัสก็อยู่เฉพาะกาย ธรรมรมณ์ก็อยู่เฉพาะใจ เพราะว่าเขาเอา นิ ไปไว้ข้างหน้า มันเป็น เพทะธาตุ ถ้าเป็นเวทนา เค้าก็แปลง พะ เป็น วะ แต่ นิพพิทา เนี่ยเขาไม่ได้แปลง แต่เค้าซ้อนตัว พะ ไว้ข้างหน้า คือเอาตัว พ ไว้ข้างหน้าอีกตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
แล้วทีนี้เมื่อเรารู้ความหมายของมัน ก็คือการที่มันเกิด นิพพิทา ขึ้นมานี้ก็แปลว่า มันไม่ไปติด เพราะว่าตัวสตินี้ไปกำหนด คลายตัวที่มันเป็นยางเหนียว คือกาม ตัณหา วิราคะ แล้ว กาม ตัณหา อุปาทานกรรม คือมันไปคลายตัวนี้แล้ว อย่างที่เราสวดกันนั่นแหละว่า รูปูปาตะนะขันโท เวทนูปาตะนะขันโท สัญญูปาตะนะขันโท สังขารูปาตะนะขันโท วิญญานูปาตะนะขันโท คือความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะ ตัวอุปาทานที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นเอง แล้วพระพุทธองค์ก็ไปปักลงตรงที่ว่า เญสังปริยายะ คือ เพื่อให้สาวกเข้าไปกำหนดรอบรู้ อุปาทานขันธ์เท่านั้นเอง คือถ้าหากว่า เราเข้าไปกำหนดรู้ แล้วตัวอุปาทาน มันก็จะคลาย มันก็จะถอนไปหมด เรียกว่า มันละ มันปล่อย มันวางได้
ถ้าหากว่าเราไม่มีตัวสติเข้าไปกำหนดรู้ตัวอุปาทานตัวนี้ เราจะปล่อย จะวางมันก็ไม่ได้ เรารู้ แต่ว่ามันปล่อย มันวางไม่ได้ อย่างบางคนไปติดเหล้า ติดบุหรี่อย่างเนี้ย รู้ว่ามันไม่ดี แต่ว่ามันปล่อยไม่ได้ เพราะเราไม่ได้กำหนดที่ต้นตอ ไม่ได้กำหนดดูที่สมุทัย ไม่ได้ทำลายกิเลส ตัณหา อุปาทาน เหล่านี้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นยางเหนียวที่ติดแน่นเลย หลวงพ่อเทียนท่านบอกว่า มันเหมือนกับปลิงที่มาเกาะเรา แล้วถ้าหากว่าใครเคยไปชนบท รู้จักปลิง ก็จะรู้ว่ามันเหนียวขนาดไหน เราเอามือนึงดึงปากหนึ่งมันออก แล้วปากที่สองมันยังเกาะอยู่ พอเราดึงปากที่สอง ปากที่หนึ่งมันก็กลับมาเกาะอีก แล้วเราดึงปากที่หนึ่งออก ปากที่สองมันก็เกาะอีก คือมันเกาะอย่างเหนียวแน่น ถ้าหากว่าเราไม่มีวิธีดึงมันออกเนี่ย มันจะดึงออกยากมาก แต่ถ้าหากว่า เรามีวิธีทำให้มันหลุดเนี่ย เราเอายาฉุนๆใส่กับปูนที่เค้ากินหมาก แล้วก็ชุบน้ำนิดๆ บีบลงไปที่ปากปลิงนั่น มันก็จะหลุดลงไป คือปล่อยทันที
นี้วิธีการทุกอย่าง คือวิธีการที่เราจะตัดราก ถอนโคนของตัวตัณหาที่มันเป็นยางเหนียว นี่เราก็ต้องมีวิธีตัด คือเราจะต้องอาศัยสตินี้แหละ แต่สติของเราเนี่ย ถ้ามันยังไม่คม มันก็ตัดไม่ได้ ท่านที่ปฏิบัติมานานๆพอสมควรก็จะเห็นว่า สติของเรามันเริ่มคมเข้าคมเข้า สามารถตัดความคิดได้ง่ายๆ ถ้าหากว่าสติมันคมจริงๆ เราจะเห็นว่าความคิดที่มันหลงคิด หรือว่าความโกรธ ความโลภ ความหลง อะไรต่างๆ มันเป็นของที่ไม่มีอะไรเลยว่างั้นเถอะ แม้ว่าแต่ก่อนเราจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีอะไรที่สามารถทำลายมันได้ก็ตาม แต่พอเราลับสติตัวนี้ได้เนี่ย เราจะเห็นว่ามันเหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือของเรา เราจะกำอย่างไรมันก็ได้ เราจะบีบมันก็ตาย เราจะทำยังไงมันก็ได้ เรียกว่าตัวความคิดนั้น มันไม่มีอำนาจอะไร แต่ก่อนที่เรายังไม่มีสติ เรายังไม่เจริญสติ เรานึกว่ามันไม่มีอะไรที่จะทำลายมันได้แล้ว แต่พอเราเจริญสติได้ดีๆ เราจะเห็นว่ามันไม่มีอะไร ไม่มีฤทธิ ไม่มีเดชอะไรเลย จะทำยังไงก็ทำได้
นี้แหละก็ขอให้เราทุกคน ได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง ได้ทดลองด้วยตัวเอง แม้ว่าเรามาที่นี้ ยังไม่ได้อะไรก็ตาม แล้วถ้าหากว่าเรากลับไปบ้าน ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจละตัวเองจริงๆ ให้เราพยายามสัมผัสนิ้วมือ ไม่ว่าเราจะอยู่ในลักษณะใดก็ตาม เราจะดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรืออะไรก็ตาม ให้เราสัมผัสมือ ให้รู้สึกอยู่ เราจะนอน เราก็สัมผัสมือจนกระทั่งมันหลับไป แล้วลองดูต่อๆกันสักเดือนดูว่า มันจะมีฤิทธิ์ มีอำนาจขนาดไหน มันสามารถที่จะตัดความคิด มันสามารถที่จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลง ที่มันเกิดขึ้นกับเราได้จริงมั้ย เพราะสิ่งที่เราจะพิสูจน์ได้ ก็คือตัวของเราเอง ตัวของเราเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า มันมีพลังขนาดไหนได้ และการปฏิบัติของเราเอง เราเองเป็นผู้ประเมินผล
เพราะว่าการปฏิบัติจริงๆนั้นไม่ใช่อยู่ในที่นี้ การปฏิบัติจริงๆนั้นคือ การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราที่จะประสบกับสิ่งอะไรหลายๆอย่าง ประสบทั้งอารมณ์ที่รัก อารมณ์ที่ไม่รัก อารมณ์ที่ชอบ อารมณ์ที่ชัง อะไรต่างๆที่มันจะเกิดขึ้นในประจำวันของเรา ให้เราไปพิสูจน์ พิจารณาดู ถ้าหากว่าสิ่งอะไรมากระทบเราอย่างแรง จนกระทั่งเราทนไม่ได้ มันเกิดความโกรธขึ้นมา เราก็อย่าพึงไปทำอะไร ให้เรามาสัมผัสมือดูสักนาที เพื่อจะให้ความโกรธตัวนั้นมันยุบลง มันเบาลง เพราะตัวสัมผัสนี้ คือตัวดับไฟราคะ โทสะ โมหะ เป็นตัวดับไฟทั้งสามนี่ได้เป็นอย่างดี นี่แหละที่เรียกว่า เส้นผมบังภูเขา เรามองข้ามไป เรายังมองไม่เห็นมันเอง สิ่งเล็กๆน้อยๆเนี่ย ถ้าหากว่าเราทำเป็นประจำ เราพยายามทำ มันก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราอย่างมหาศาล
ท่านบอกกล่าวไว้คำหนึ่งที่น่าสนใจว่า เราอยู่ในห้องมืดไฟดับ อย่าพึงลุกขึ้นวิ่ง เพราะว่าไฟดับใหม่ๆนี่ ม่านตามันยังไม่ค่อยขยาย พอเราลุกขึ้นวิ่ง มันจะไปชนขอบเสา ขอบประตูจนหัวร้างข้างแตกไป แต่ถ้าเรานั่งอยู่สักพักนึง ม่านตาเราจะขยายออกๆ เราก็จะมองเห็นทางออกทางเข้าได้อย่างดี ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าหากว่าเราโกรธขึ้นมานี่ มันปกคลุมหมด มองไม่เห็นอะไรเลย ตัวอวิชชาหรือว่าตัวโมหะ มันจะปกคลุมจนมองไม่เห็นอะไรเลย แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน เราก็มองไม่เห็น อย่างครอบครัวหรือสามีภรรยา ทะเลาะกันขึ้นมา ถ้าความโกรธมันเกิดขึ้นแล้ว จะหนีไปไหนก็หนีไป บ้านแตกสาแหรกขาดขนาดไหน ก็ไม่ได้สน เพราะมันมองไม่เห็นความผิดความถูกเลย มันจะไปมองเห็นในขณะภายหลังไปแล้ว จนกระทั่งบางทีมันแก้ไขไม่ได้แล้ว
อย่างที่อยู่วัดป่าหนองคูนี้ คอยแก้ปัญหาอยู่เสมอ บางทีผู้หญิงโกนหัวมาพร้อม เอาผ้าขาวมาพร้อม สะพายกระเป๋ามาบอก หลวงพ่อ ขอบวชให้ดิฉันหน่อยเถอะ เพราะว่าอยู่บ้าน พูดกับพ่อบ้านไม่รู้เรื่อง วันไหนออกไปนอกบ้าน กินเหล้ากลับมา ทะเลาะโวยวาย มาตบมาตีแทบทุกวัน ทนไม่ไหว มาขอบวชกับหลวงพ่อ ก็เลยบอกว่า การบวชนี่มันไม่ยากหรอก เพียงโกนหัว ปลงผม ห่มชุดขาว มันก็กลายเป็นชีไปแล้ว แต่การที่จะบวชทางใจเนี่ย มันลำบาก มันยาก แล้วถ้าหากว่าจะบวชจริงๆนั้น ก็ให้ทดลองอยู่นี่ซัก 15 วันเป็นอย่างต่ำหรือว่าเดือนหนึ่ง ทำปฏิบัติเจริญสติให้มันเย็นลงเสียก่อน แล้วเป็นยังไงถึงค่อยบวช พอผ่านไปได้ 4-5 วัน สะพายกระเป๋ามาลากลับบ้าน อ้าว ทำไมบอกว่าจะบวช ก็ว่า ตอนนั้นคิดว่าจะบวชได้ แต่ว่าตอนนี้ คิดถึงหลาน แม่มันไปทำงานที่กรุงเทพ มาฝากไว้ ไม่รู้ว่าใครจะดู คือขณะที่ความโกรธเกิดขึ้นมาเนี่ย มันมองไม่เห็นอะไร โบราณท่านถึงบอกว่า เห้นช้างตัวเท่าแมว คือเวลามันโกรธขึ้นมาเนี่ย มันปิดบัง ปกคลุมหมด แต่ถ้าหากว่าเรามาสัมผัสมือให้มันรู้สึก แล้วมันจะสร่างขึ้นมา มีคำหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ว่า "กายใจวาดขาดธรรมลงคราวใด สัมผัสเพียงปลายนิ้ว สติมา" เมื่อสติมา ปัญญามันก็โผล่ เมื่อปัญญาโผล่ขึ้นมา มันก็รู้จักหนทางที่จะแก้ไข ว่าจะแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร จะทำอย่างไร จะออกอย่างไร เมื่อมีปัญญาแล้ว มันสามารถที่จะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนุ่มนวลได้
ฉะนั้นก็ขอให้เราทุกคน แม้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ขอให้เราหาวิธีการรู้สึกให้ได้ รู้สึกด้วยการเคลื่อนไหว อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะว่าการเคลื่อนไหวนี่มันเป็นสิ่งที่จะทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แม้แต่คนนอนหลับเนี่ย ที่กรนดังครืดๆ เราลองไปพลิกดู ให้เคลื่อนไหวดู หรือแม้ว่าเค้าจะเคลื่อนไหวเองก็ตาม แล้วจะหยุดกรนทันที หยุกกรนชั่วขณะหนึ่ง นี่แหละ คนนอนหลับยังมีอาการเปลี่ยนแปลง แล้วคนเรา ที่ไม่ได้หลับ เรามาสัมผัส รับรองร้อยเปอร์เซนต์เลยว่า จะต้องมีความเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเมื่อเราทำให้มันเพียงพอ พอเหมาะพอควรแล้ว ฉะนั้นก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจกัน แม้ว่าเราจะจากกันในพรุ่งนี้ แต่ว่าวิธีการปฏิบัติของเรานั้น จะติดตัวของเราไปตลอดชีวิต เพื่อความสุข ความเจริญของชีวิตของเรา ที่เราได้มาน้อมระลึกนึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนี้ ก็ขอให้ทุกท่านได้ประสบดวงปัญญา คือแสงสว่างอันเกิดจากการสัมผัสระหว่างกายระหว่างใจ ให้โชติช่วงชัชวาลขึ้นภายในจิตใจ แล้วสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางกายทางใจให้ลุล่วงไปด้วยดีทุกท่านเทอญ
โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้
ที่มา บันทึกเทปแสดงธรรมในงานอบรมการปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนาแนวการเคลื่อนไหว โดยพระอาจารย์มหาไหล โฆสโก ณ อาคารหอฉัน พุทธมณฑล ในวันวิสาขบูชา ๗ พ.ค. ๔๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น